มท.1 ประชุมคณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างระบบราชการของกระทรวงมหาดไทย มีมติเห็นชอบตั้ง 3 หน่วยงาน กองการเลือกตั้ง – สาธารณสุข – สิ่งแวดล้อม ภายใน สถ. และการเปลี่ยนชื่อ สถ. เป็น “กรมท้องถิ่น” เตรียมนำเสนอที่ประชุม ก.พ.ร. ต่อไป
วันนี้ (29 พ.ย. 66) ณ ห้องประชุมราชสีห์ ชั้น 2 ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างระบบราชการของกระทรวงมหาดไทย ครั้งที่ 1/2566 โดยมี นายสมเจตน์ ลิมปะพันธุ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ด้านบริหาร นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) นางศิริเนตร กล้าหาญ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) นางอรวรรณ คงธนขันติธร ที่ปรึกษาระบบราชการ สำนักงาน ก.พ. ผู้แทนจากกระทรวงการคลัง ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้แทนจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมฯ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างระบบราชการของกระทรวงมหาดไทยครั้งนี้ มีเรื่องสำคัญที่ที่ประชุมฯ ได้ลงมติเห็นชอบจำนวน 2 เรื่อง เรื่องแรก การแบ่งส่วนราชการภายใน สถ. ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในการจัดตั้งหน่วยงานใหม่จำนวน 3 หน่วยงาน ได้แก่ กองการเลือกตั้งท้องถิ่น กองสาธารณสุขท้องถิ่น และกองสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น และเรื่องที่สองคือ การเปลี่ยนชื่อ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็น “กรมท้องถิ่น”
“การประชุมคณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างระบบราชการของกระทรวงมหาดไทยในครั้งนี้ จะมีขั้นตอนในกระบวนการขั้นต่อไป คือ การนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ที่มีนายกรัฐมนตรี หรือ รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน ซึ่งแนวทางดังกล่าวของกระทรวงมหาดไทยนี้ จะต้องผ่านคณะกรรมการในชุดนี้เห็นชอบ เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ก่อนเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายต่อไป” นายอนุทินฯ กล่าว
ด้าน นายนายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดี สถ. กล่าวว่า แนวทางการตั้งหน่วยงานใหม่ทั้ง 3 หน่วยงาน ได้แก่ กองการเลือกตั้งท้องถิ่น กองสาธารณสุขท้องถิ่น และกองสิ่งแวดล้อมท้องถิ่นนี้ เป็นภารกิจที่ สถ. เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 ในสมัยที่นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรงมหาดไทย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดี สถ. ได้มีจัดให้มีภารกิจงานในด้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น ภารกิจด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และภารกิจด้านสาธารณสุขของ อปท. ซึ่งตนเห็นว่ามีความจำเป็นเพราะในสถานการณ์ปัจจุบัน สถ. มีภารกิจที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งในเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่มีการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง มีการจัดทำคาร์บอนเครดิต ซึ่งได้การรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ในส่วนของภารกิจในด้านสาธารณสุข จะต้องมีการรองรับภารกิจสำหรับการถ่ายโอน ภารกิจของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทั้งประเทศ 9,787 แห่ง สุดท้ายภารกิจด้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น โดยทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มอบหมายให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกและผู้บริหาร อปท. ทุกรูปแบบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นภารกิจที่เพิ่มมากขึ้น ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ อปท.