ครม.มีมติยกเครื่องระบบตรวจสอบการใช้เงินของอปท.ประเมิน 8 ด้าน ควบคุมการบริหารจัดการภายใน พร้อมนำไปปรับปรุงระบบการกำกับดูแลตนเองเพื่อสามารถบริการในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพและการบริหารจัดการความเสี่ยง ตามมาตรา 79 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และพัฒนาให้มีการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนตรวจสอบได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 15 พ.ย.2565 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแนวทางการเสริมสร้างศักยภาพการคลังท้องถิ่น (แบบประเมินสุขภาพการคลังท้องถิ่น) ปี 2566 ตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอ เพื่อสร้างเครื่องมือในการตรวจสอบสถานะด้านการคลังและงบประมาณท้องถิ่นให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไป 7,850 แห่ง นำไปใช้เพื่อปรับปรุงระบบการกำกับดูแลด้านการเงินให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
โดยแบบประเมิน จะตรวจสอบการควบคุมภายใน และการบริหารจัดการความเสี่ยงตามมาตรา 79 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และพัฒนาให้มีการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนตรวจสอบได้ เพื่อให้ อปท. มีความเข้มแข็งสามารถให้บริการในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน พร้อมกับนำไปปรับปรุงระบบการกำกับดูแลตนเองได้
สำหรับแบบประเมินสุขภาพการคลังท้องถิ่นจะมีการประเมินตั้งแต่ปีงบประมาณ 2566 โดยใช้ข้อมูลผลการปฏิบัติงานของปีงบประมาณ 2565 มีการชี้วัดใน 8 ด้าน ประกอบด้วย 1.ด้านรายได้ ประเมินประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ของอปท. รวมทั้งการใช้นวัตกรรมในการจัดเก็บรายได้ 2. ด้านการเงิน ประเมินประสิทธิภาพในการชำระเงินที่ผ่านหลายช่องทาง สะดวก รวดเร็ว 3. ด้านงบประมาณรายจ่าย ประเมินความสอดคล้องการจัดทำคำของบประมาณประจำปีกับแผนพัฒนาท้องถิ่น ความพร้อมในการดำเนินโครงการ และความสามารถในการก่อหนี้ผูกพัน
4. ด้านการจัดซื้อจัดจ้าง ประเมินความสามารถในการปฏิบัติงานตามกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐได้อย่างถูกต้องตามระยะเวลา ขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด มีความโปร่งใส และมีการดำเนินการตามข้อตกลงคุณธรรม 5. ด้านการบัญชีและสินทรัพย์ จัดทำรายงานบัญชีและสินทรัพย์ตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐและนโยบายการบัญชีภาครัฐและรายงานต่อสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน 6. ด้านการกำกับดูแลตนเอง ประเมินการควบคุมภายใน การตรวจสอบภายใน จัดทำรายงานการตรวจสอบภายใน และการจัดทำแผนบริหารจัดการความเสี่ยง 7. ด้านการก่อหนี้ระยะยาว ประเมินความคุ้มค่าของโครงการที่ก่อหนี้ระยะยาวหรือโครงการที่ใช้เงินกู้ว่าสอดคล้องกับวิสัยทัศน์การพัฒนาท้องถิ่น และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และ 8. ด้านเงินสะสม ประเมินประสิทธิผลของการใช้เงินสะสมตามวัตถุประสงค์ และรักษาระดับของเงินสะสมเพื่อเสถียรภาพทางการคลัง
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงการคลัง โดยคณะผู้บริหารการคลังประจำจังหวัด1 (คบจ.) เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินการ โดยนำแนวทางเสริมสร้างศักยภาพการคลังท้องถิ่น (แบบประเมินสุขภาพการคลังท้องถิ่น) ไปใช้เป็นเครื่องมือประเมินสถานะด้านการคลังและงบประมาณของท้องถิ่น และให้ประเมินตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยใช้ข้อมูลผลการปฏิบัติงานของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ในการประเมิน และให้พิจารณาคัดเลือกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้ครอบคลุมทุกประเภท ยกเว้น อปท. รูปแบบพิเศษ2
ในกรณีที่คณะผู้บริหารการคลังประจำจังหวัด1 คบจ. พบประเด็นที่ควรเพิ่มความเข้มแข็ง ปัญหาหรือข้อจำกัดจากการประเมิน สามารถให้ความช่วยเหลือทั้งด้านวิชาการและการปฏิบัติอย่างเหมาะสมโดยตรงหรือประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเสนอแนะหน่วยงานที่รับผิดชอบพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป พร้อมให้นำข้อมูลเผยแพร่ให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งสาธารณชนภายในจังหวัดได้รับทราบเพื่อร่วมกันส่งเสริมผลักดันให้ อปท. มีศักยภาพในการบริหารการเงินและงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
รวมถึงให้กระทรวงการคลังสรุปและรายงานผลการประเมินในภาพรวม และแผนการดำเนินการในระยะต่อไปต่อ คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(ก.พ.ร.) เพื่อสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องมือประเมินสถานะด้านการคลังและงบประมาณของท้องถิ่น และให้ข้อเสนอแนะเพื่อสร้างความเข้มแข็งการให้บริการประชาชนในพื้นที่ โดยให้คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความคิดเห็นและข้อสังเกตเพิ่มเติมของสำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย
ขณะที่คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเกี่ยวกับการปรับปรุงระบบการเงินและงบประมาณ (อ.ก.พ.ร.ฯ) ศึกษาแนวทางปรับปรุงระบบการเงินการคลังและงบประมาณของ อปท. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการคลังท้องถิ่นให้เกิดการพัฒนาการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนตรวจสอบได้และปรับปรุงระบบการกำกับดูแลตนเองให้มีการตรวจสอบภายใน การควบคุมภายใน และการบริหารจัดการความเสี่ยง โดยต้องสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ซึ่งคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเกี่ยวกับการปรับปรุงระบบการเงินและงบประมาณ
โดยอ.ก.พ.ร.ฯได้มีการทดสอบแนวทางฯ ในพื้นที่ปกครองส่วนท้องถิ่น นำร่องแล้ว 3 จังหวัด คือ จังหวัดนนทบุรี ชลบุรี และสมุทรปราการ รวมทั้งสิ้น 21 แห่ง และจังหวัดอื่นที่เป็นที่ตั้งของ คบจ. 9 เขต3 จำนวน 105 แห่ง ร่วมกับ 5 หน่วยงาน คือ สำนักงบประมาณ (สงป.) สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง กรมบัญชีกลาง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
ปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รูปแบบทั่วไป รวม 7,850 แห่ง แบ่งเป็นอบจ. 76 แห่ง เทศบาล 2,472 แห่ง และ อบต.มีจำนวน 5,300 แห่ง และอปท. รูปแบบพิเศษ 2 แห่ง คือ กรุงเทพมหานครและพัทยา โดยทุกแห่งเป็นหน่วยรับงบประมาณตามกฎหมายงบประมาณและได้รับเงินงบประมาณอุดหนุนจากภาครัฐแต่ยังขาดเครื่องมือในการตรวจสอบสถานะด้านการคลังและงบประมาณท้องถิ่น เพื่อสร้างความตระหนักให้ อปท. สามารถปรับปรุงระบบการกำกับดูแลตนเองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น