close

หน้าแรก

menu
search

ก้าวไกล เสนอปฏิรูปการเลือกตั้งทุกระดับ

schedule
share

แชร์

          “พริษฐ์” โฆษกพรรคก้าวไกล เสนอปลดล็อกให้ท้องถิ่นออกแบบระบบเลือกตั้งที่แตกต่างกันได้ ขยายสิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า ลดภาระผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ข้อเสนอจาก 7 โจทย์สำคัญ ในการปฏิรูปการเลือกตั้งให้มีความเสรี – เป็นธรรม – สร้างการมีส่วนร่วม – รวมเสียงทุกคน

          วานนี้ (18 ธ.ค. 66) นายพริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคก้าวไกลและประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ ได้เข้าร่วมเสวนา “แนวทางการปฏิรูปการเลือกตั้งในประเทศไทย” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเวทีสาธารณะ “เปลี่ยนคูหาให้เป็นประชาธิปไตย บทเรียนจากเทศถึงไทย” จัดโดย We Watch ร่วมกับ ANFREL “พริษฐ์” ได้เสนอว่า การปฏิรูปการเลือกตั้งเพื่อให้กระบวนการเลือกตั้งมีความเสรี เป็นธรรม สร้างการมีส่วนร่วม และนับรวมคนทุกคนให้ได้มากที่สุด โดยมี 7 โจทย์สำคัญดังนี้

โจทย์ที่ 1 ขยายสิทธิ – การมีส่วนร่วม – สัดส่วนการออกมาใช้สิทธิของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

(1) ขยายสิทธิเลือกตั้งตามที่อยู่อาศัยจริง โดยให้ประชาชนสามารถลงทะเบียนล่วงหน้าได้ เพื่อขอใช้สิทธิลงคะแนนให้กับผู้สมัครในเขตเลือกตั้งตามพื้นที่ที่ตนเองอาศัยอยู่จริง แทนผู้สมัครในเขตเลือกตั้งพื้นที่ที่ถูกระบุในที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน ในการเลือกตั้งทั้งในระดับชาติและในระดับท้องถิ่น

(2) ขยายสิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า – นอกเขต สำหรับการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ซึ่งจำเป็นต้องร่วมกันหาทางออกเรื่องงบประมาณและงานธุรการที่อาจเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ปัจจุบันไม่จัดพร้อมกันเสมอไปในแต่ละพื้นที่ เป็นความท้าทายในการบริหารจัดการให้ขยายสิทธิส่วนนี้ได้ โดยที่ไม่ได้เพิ่มภาระงบประมาณหรือภาระทางธุรการมากจนเกินไป

(3) ปลดล็อกข้อจำกัดทางกฎหมาย เพื่อทำให้สามารถจัดการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติในหลายระดับหรือประเด็น พร้อมกันในวันเดียวกันได้

(4) ทบทวนการขยายสิทธิเลือกตั้งให้กับกลุ่มคนที่ปัจจุบันยังไม่มีสิทธิเลือกตั้ง (เช่น พระ นักโทษ) ควบคู่กับการปรับให้การออกไปเลือกตั้งเป็นสิทธิ ไม่ใช่หน้าที่ที่มีบทลงโทษหากตัดสินใจไม่ไปเลือกตั้ง

โจทย์ที่ 2 ทำให้คะแนนที่ประชาชนออกเสียง สะท้อนเจตนารมณ์ของแต่ละคนอย่างแท้จริง

(1) ลดความสับสนเรื่องเบอร์ผู้สมัคร โดยการกำหนดให้เบอร์ผู้สมัครจากพรรคเดียวกันในทุกเขตเลือกตั้งมีเบอร์เดียวกัน และเป็นเบอร์เดียวกับเบอร์ของพรรคในระบบบัญชีรายชื่อ

(2) ศึกษาความเป็นไปได้ในการเพิ่มข้อมูลผู้สมัครและพรรคการเมืองในบัตรเลือกตั้ง เพื่อลดภาระให้กับผู้ออกไปใช้สิทธิที่ต้องจำเบอร์ผู้สมัคร โดยเฉพาะการเลือกตั้งที่อาจจะเป็นการเลือกตั้งในระดับสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่ผู้สิทธิเลือกตั้งต้องจำเบอร์ผู้สมัครหลายเบอร์ เป็นต้น

(3) ออกแบบเกณฑ์เรื่องบัตรดี – บัตรเสียให้เป็นการดูเจตนาเป็นหลักในการวินิจฉัย (เช่น หากกาเลยขอบสี่เหลี่ยมไปเล็กน้อยก็นับเป็นบัตรดี หากเป็นการแสดงเจตนาที่ชัดเจน) เพื่อไม่ให้มีจำนวนบัตรเสียมากเกินความจำเป็น และบังคับใช้ด้วยมาตรฐานเดียวกันในทุกหน่วยเลือกตั้ง

โจทย์ที่ 3 เพิ่มความหลากหลายของผู้สมัครรับเลือกตั้งและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

(1) ปรับกติกาเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง เพื่อขยายจำนวนคนที่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง (เช่น ลดเกณฑ์อายุขั้นต่ำในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 25 ปีสำหรับตำแหน่งในสภาระดับชาติและท้องถิ่น และ 35 ปีสำหรับผู้บริหารท้องถิ่น) ยกตัวอย่าง ในบางประเทศเมื่ออายุถึงเกณฑ์ที่จะใช้สิทธิเลือกตั้งได้ ย่อมสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้เช่นกัน ขณะที่ประเทศไทยยังติดข้อกำหนดเกณฑ์อายุขั้นต่ำอยู่

(2) ปฏิรูปกฎหมายพรรคการเมือง เพื่อให้พรรคการเมืองสามารถดำรงอยู่ได้ในฐานะสถาบันทางการเมืองที่ได้การสนับสนุนทางความคิดและทางการเงินจากประชาชนทั่วไป (เช่น ปลดล็อกข้อจำกัดเรื่องการระดมทุนและการขายสินค้าออนไลน์) ซึ่งจะทำให้ทุกพรรคมีอิสระเต็มที่ (ตามที่ควรจะเป็น) ในการคัดเลือกผู้สมัครที่หลากหลาย

โจทย์ที่ 4 ทำให้กฎระเบียบมีความทันสมัย เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก

(1) ปรับหรือยกเลิกกฎระเบียบที่ไม่สอดคล้องกับบริบทของโลกสมัยใหม่ จนเสี่ยงกลายเป็นภาระทางธุรการต่อผู้สมัครมากเกินจำเป็น หรือเสี่ยงถูกใช้เป็นเครื่องมือสำหรับผู้สมัครในการกลั่นแกล้งกันและกัน (เช่น กติกาเรื่องการระบุรายละเอียดของจำนวนสื่อรณรงค์หาเสียงที่ถูกผลิต ซึ่งถูกมองว่าเป็นการออกแบบมาสำหรับบริบทของสื่อสิ่งพิมพ์ มากกว่าสื่อโซเชียล)

โจทย์ที่ 5 เพิ่มความโปร่งใสในกระบวนการเลือกตั้ง

(1) รับประกันสิทธิให้กับผู้สังเกตการณ์อิสระ ในการตรวจสอบตามหน่วยเลือกตั้ง

(2) ปลดล็อกให้พรรคการเมืองสามารถส่งอาสาสมัครไปตรวจสอบประจำหน่วยเลือกตั้งได้ โดยไม่เป็นการหักจากโควตาค่าใช้จ่ายของพรรคในการรณรงค์หาเสียง

(3) จัดให้มีการรายงานผลและจัดเก็บข้อมูลรายหน่วยทางอิเล็กทรอนิกส์

(4) เปิดเผยข้อมูลผลการเลือกตั้งอย่างครบถ้วน ละเอียด ในรูปแบบสามารถนำไปวิเคราะห์ต่อได้ และที่ประชาชนเข้าถึงได้ฟรีอย่างถาวร

โจทย์ที่ 6 เปิดจินตนาการเกี่ยวกับทางเลือกต่าง ๆ เรื่องระบบเลือกตั้ง

(1) ปลดล็อกให้ท้องถิ่นสามารถพิจารณาออกแบบระบบเลือกตั้งที่แตกต่างกันออกไปได้ หากมีความเหมาะสมและประชาชนสนับสนุน (เช่น การใช้วิธีการลงคะแนนแบบเรียงลำดับผู้สมัครที่มีการโอนถ่ายคะแนน (single transferable vote) สำหรับผู้ว่า กทม. หรือ ผู้บริหารท้องถิ่น เพื่อป้องกันความจำเป็นในการ “เลือกแบบยุทธศาสตร์” (เลือกผู้สมัครที่ตนไม่ได้ชอบที่สุด แต่คิดว่ามีโอกาสมากที่สุดในการชนะผู้สมัครที่ตนชอบน้อยที่สุด)

โจทย์ที่ 7 ปฏิรูปที่มา – อำนาจ – กลไกการตรวจสอบของ กกต.

(1) ปรับที่มา เพื่อให้มีที่มาที่หลากหลาย (เช่น ถูกเสนอชื่อโดยหลายฝ่าย) มีความยึดโยงกับประชาชน (ถูกรับรองโดย สส.) และได้บุคคลที่เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายว่าสามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลางได้ (เช่น กำหนดเงื่อนไขว่าจะต้องถูกรับรอง โดย 2 ใน 3 ของ สส. หรือจากทั้ง สส. ฝ่ายรัฐบาล และ สส. ฝ่ายค้าน)

(2) ตัดอำนาจที่ถูกขยายเกินขอบเขตโดยรัฐธรรมนูญ 60 (เช่น การแจกใบส้ม)

(3) เพิ่มกลไกการตรวจสอบ โดยการให้สิทธิประชาชนในการเข้าชื่อกัน 20,000 คน เพื่อริเริ่มกระบวนการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระในกรณีที่มีการใช้อำนาจโดยมิชอบ

          พริษฐ์ กล่าวในตอนท้ายว่า การแก้ไขการเลือกตั้ง สามารถแก้ได้ 3 ระดับ คือ ระดับแรก “รัฐธรรมนูญ” ไม่ควรลงรายละเอียดบรรจุในรัฐธรรมนูญมากจนเกินไป โดยธรรมชาติแล้วรัฐธรรมนูญแก้ยากกว่ากฎหมายทั่วไป อาจเป็นปัญหาในอนาคต หากมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การพูดคุยเรื่องอำนาจหน้าที่ของ กกต. จะเป็นอีกโจทย์ที่สำคัญ

          สำหรับระดับที่สอง “พระราชบัญญัติ” (พ.ร.บ.) คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ พยายามยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการเลือกตั้งหลายฉบับ อาทิ พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่น พ.ร.บ.พรรคการเมือง ส่วนระดับที่สาม “กฎระเบียบ กกต.” นักการเมืองมีอำนาจเพียงเชิญ กกต. เข้ามาร่วมถกเถียงกับด้วยเหตุผลเรื่องการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบ ซึ่งผู้มีอำนาจในการตัดสินใจคือ กกต. ทั้งนี้ ถ้าประชาชนตื่นตัวเรื่องการปฏิรูปกระบวนการเลือกตั้งมากขึ้น โอกาสที่แรงกดดันจะส่งไปสู่การตัดสินใจในลักษณะดังกล่าวของ กกต. น่าจะมีมากขึ้นเช่นกัน

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

เปิดฉาก ท่าโขลงเกมส์ 2024 กีฬานักเรียน อปท. ครั้งที่ 38 สุดยิ่งใหญ่!

เปิดฉาก ท่าโขลงเกมส์ 2024 กีฬานักเรียน อปท. ครั้งที่ 38 สุดยิ่งใหญ่!

การแข่งขันกีฬานักเรียนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ครั้งที่…

schedule
“ท่าโขลงเกมส์” จัดใหญ่! ยกระดับมาตรฐานกีฬานักเรียน อปท.

“ท่าโขลงเกมส์” จัดใหญ่! ยกระดับมาตรฐานกีฬานักเรียน อปท.

เทศบาลเมืองท่าโขลง ประกาศความพร้อมจัดศึกกีฬานักเรียนองค…

schedule
“บิ๊กแจ๊ส” แจงเหตุลาออก! นายก อบจ.

“บิ๊กแจ๊ส” แจงเหตุลาออก! นายก อบจ.

“บิ๊กแจ๊ส” พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธาน…

schedule
24 เมษายน วันเทศบาล “ยึดมั่นหลักธรรมาภิบาล บริการเพื่อประชาชน”

24 เมษายน วันเทศบาล “ยึดมั่นหลักธรรมาภิบาล บริการเพื่อประชาชน”

กระทรวงมหาดไทยกำหนดให้วันที่ 24 เมษายน ของทุกปีเป็น “วั…

schedule

นิตยสารผู้นำท้องถิ่นออนไลน์ รวมข่าวสารอัพเดทของคนท้องถิ่น

ติดต่อเรา

อีเมล : [email protected]