“พริษฐ์” โฆษกพรรคก้าวไกล เสนอปลดล็อกให้ท้องถิ่นออกแบบระบบเลือกตั้งที่แตกต่างกันได้ ขยายสิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า ลดภาระผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ข้อเสนอจาก 7 โจทย์สำคัญ ในการปฏิรูปการเลือกตั้งให้มีความเสรี – เป็นธรรม – สร้างการมีส่วนร่วม – รวมเสียงทุกคน
วานนี้ (18 ธ.ค. 66) นายพริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคก้าวไกลและประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ ได้เข้าร่วมเสวนา “แนวทางการปฏิรูปการเลือกตั้งในประเทศไทย” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเวทีสาธารณะ “เปลี่ยนคูหาให้เป็นประชาธิปไตย บทเรียนจากเทศถึงไทย” จัดโดย We Watch ร่วมกับ ANFREL “พริษฐ์” ได้เสนอว่า การปฏิรูปการเลือกตั้งเพื่อให้กระบวนการเลือกตั้งมีความเสรี เป็นธรรม สร้างการมีส่วนร่วม และนับรวมคนทุกคนให้ได้มากที่สุด โดยมี 7 โจทย์สำคัญดังนี้
โจทย์ที่ 1 ขยายสิทธิ – การมีส่วนร่วม – สัดส่วนการออกมาใช้สิทธิของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
(1) ขยายสิทธิเลือกตั้งตามที่อยู่อาศัยจริง โดยให้ประชาชนสามารถลงทะเบียนล่วงหน้าได้ เพื่อขอใช้สิทธิลงคะแนนให้กับผู้สมัครในเขตเลือกตั้งตามพื้นที่ที่ตนเองอาศัยอยู่จริง แทนผู้สมัครในเขตเลือกตั้งพื้นที่ที่ถูกระบุในที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน ในการเลือกตั้งทั้งในระดับชาติและในระดับท้องถิ่น
(2) ขยายสิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า – นอกเขต สำหรับการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ซึ่งจำเป็นต้องร่วมกันหาทางออกเรื่องงบประมาณและงานธุรการที่อาจเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ปัจจุบันไม่จัดพร้อมกันเสมอไปในแต่ละพื้นที่ เป็นความท้าทายในการบริหารจัดการให้ขยายสิทธิส่วนนี้ได้ โดยที่ไม่ได้เพิ่มภาระงบประมาณหรือภาระทางธุรการมากจนเกินไป
(3) ปลดล็อกข้อจำกัดทางกฎหมาย เพื่อทำให้สามารถจัดการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติในหลายระดับหรือประเด็น พร้อมกันในวันเดียวกันได้
(4) ทบทวนการขยายสิทธิเลือกตั้งให้กับกลุ่มคนที่ปัจจุบันยังไม่มีสิทธิเลือกตั้ง (เช่น พระ นักโทษ) ควบคู่กับการปรับให้การออกไปเลือกตั้งเป็นสิทธิ ไม่ใช่หน้าที่ที่มีบทลงโทษหากตัดสินใจไม่ไปเลือกตั้ง
โจทย์ที่ 2 ทำให้คะแนนที่ประชาชนออกเสียง สะท้อนเจตนารมณ์ของแต่ละคนอย่างแท้จริง
(1) ลดความสับสนเรื่องเบอร์ผู้สมัคร โดยการกำหนดให้เบอร์ผู้สมัครจากพรรคเดียวกันในทุกเขตเลือกตั้งมีเบอร์เดียวกัน และเป็นเบอร์เดียวกับเบอร์ของพรรคในระบบบัญชีรายชื่อ
(2) ศึกษาความเป็นไปได้ในการเพิ่มข้อมูลผู้สมัครและพรรคการเมืองในบัตรเลือกตั้ง เพื่อลดภาระให้กับผู้ออกไปใช้สิทธิที่ต้องจำเบอร์ผู้สมัคร โดยเฉพาะการเลือกตั้งที่อาจจะเป็นการเลือกตั้งในระดับสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่ผู้สิทธิเลือกตั้งต้องจำเบอร์ผู้สมัครหลายเบอร์ เป็นต้น
(3) ออกแบบเกณฑ์เรื่องบัตรดี – บัตรเสียให้เป็นการดูเจตนาเป็นหลักในการวินิจฉัย (เช่น หากกาเลยขอบสี่เหลี่ยมไปเล็กน้อยก็นับเป็นบัตรดี หากเป็นการแสดงเจตนาที่ชัดเจน) เพื่อไม่ให้มีจำนวนบัตรเสียมากเกินความจำเป็น และบังคับใช้ด้วยมาตรฐานเดียวกันในทุกหน่วยเลือกตั้ง
โจทย์ที่ 3 เพิ่มความหลากหลายของผู้สมัครรับเลือกตั้งและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
(1) ปรับกติกาเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง เพื่อขยายจำนวนคนที่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง (เช่น ลดเกณฑ์อายุขั้นต่ำในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 25 ปีสำหรับตำแหน่งในสภาระดับชาติและท้องถิ่น และ 35 ปีสำหรับผู้บริหารท้องถิ่น) ยกตัวอย่าง ในบางประเทศเมื่ออายุถึงเกณฑ์ที่จะใช้สิทธิเลือกตั้งได้ ย่อมสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้เช่นกัน ขณะที่ประเทศไทยยังติดข้อกำหนดเกณฑ์อายุขั้นต่ำอยู่
(2) ปฏิรูปกฎหมายพรรคการเมือง เพื่อให้พรรคการเมืองสามารถดำรงอยู่ได้ในฐานะสถาบันทางการเมืองที่ได้การสนับสนุนทางความคิดและทางการเงินจากประชาชนทั่วไป (เช่น ปลดล็อกข้อจำกัดเรื่องการระดมทุนและการขายสินค้าออนไลน์) ซึ่งจะทำให้ทุกพรรคมีอิสระเต็มที่ (ตามที่ควรจะเป็น) ในการคัดเลือกผู้สมัครที่หลากหลาย
โจทย์ที่ 4 ทำให้กฎระเบียบมีความทันสมัย เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก
(1) ปรับหรือยกเลิกกฎระเบียบที่ไม่สอดคล้องกับบริบทของโลกสมัยใหม่ จนเสี่ยงกลายเป็นภาระทางธุรการต่อผู้สมัครมากเกินจำเป็น หรือเสี่ยงถูกใช้เป็นเครื่องมือสำหรับผู้สมัครในการกลั่นแกล้งกันและกัน (เช่น กติกาเรื่องการระบุรายละเอียดของจำนวนสื่อรณรงค์หาเสียงที่ถูกผลิต ซึ่งถูกมองว่าเป็นการออกแบบมาสำหรับบริบทของสื่อสิ่งพิมพ์ มากกว่าสื่อโซเชียล)
โจทย์ที่ 5 เพิ่มความโปร่งใสในกระบวนการเลือกตั้ง
(1) รับประกันสิทธิให้กับผู้สังเกตการณ์อิสระ ในการตรวจสอบตามหน่วยเลือกตั้ง
(2) ปลดล็อกให้พรรคการเมืองสามารถส่งอาสาสมัครไปตรวจสอบประจำหน่วยเลือกตั้งได้ โดยไม่เป็นการหักจากโควตาค่าใช้จ่ายของพรรคในการรณรงค์หาเสียง
(3) จัดให้มีการรายงานผลและจัดเก็บข้อมูลรายหน่วยทางอิเล็กทรอนิกส์
(4) เปิดเผยข้อมูลผลการเลือกตั้งอย่างครบถ้วน ละเอียด ในรูปแบบสามารถนำไปวิเคราะห์ต่อได้ และที่ประชาชนเข้าถึงได้ฟรีอย่างถาวร
โจทย์ที่ 6 เปิดจินตนาการเกี่ยวกับทางเลือกต่าง ๆ เรื่องระบบเลือกตั้ง
(1) ปลดล็อกให้ท้องถิ่นสามารถพิจารณาออกแบบระบบเลือกตั้งที่แตกต่างกันออกไปได้ หากมีความเหมาะสมและประชาชนสนับสนุน (เช่น การใช้วิธีการลงคะแนนแบบเรียงลำดับผู้สมัครที่มีการโอนถ่ายคะแนน (single transferable vote) สำหรับผู้ว่า กทม. หรือ ผู้บริหารท้องถิ่น เพื่อป้องกันความจำเป็นในการ “เลือกแบบยุทธศาสตร์” (เลือกผู้สมัครที่ตนไม่ได้ชอบที่สุด แต่คิดว่ามีโอกาสมากที่สุดในการชนะผู้สมัครที่ตนชอบน้อยที่สุด)
โจทย์ที่ 7 ปฏิรูปที่มา – อำนาจ – กลไกการตรวจสอบของ กกต.
(1) ปรับที่มา เพื่อให้มีที่มาที่หลากหลาย (เช่น ถูกเสนอชื่อโดยหลายฝ่าย) มีความยึดโยงกับประชาชน (ถูกรับรองโดย สส.) และได้บุคคลที่เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายว่าสามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลางได้ (เช่น กำหนดเงื่อนไขว่าจะต้องถูกรับรอง โดย 2 ใน 3 ของ สส. หรือจากทั้ง สส. ฝ่ายรัฐบาล และ สส. ฝ่ายค้าน)
(2) ตัดอำนาจที่ถูกขยายเกินขอบเขตโดยรัฐธรรมนูญ 60 (เช่น การแจกใบส้ม)
(3) เพิ่มกลไกการตรวจสอบ โดยการให้สิทธิประชาชนในการเข้าชื่อกัน 20,000 คน เพื่อริเริ่มกระบวนการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระในกรณีที่มีการใช้อำนาจโดยมิชอบ
พริษฐ์ กล่าวในตอนท้ายว่า การแก้ไขการเลือกตั้ง สามารถแก้ได้ 3 ระดับ คือ ระดับแรก “รัฐธรรมนูญ” ไม่ควรลงรายละเอียดบรรจุในรัฐธรรมนูญมากจนเกินไป โดยธรรมชาติแล้วรัฐธรรมนูญแก้ยากกว่ากฎหมายทั่วไป อาจเป็นปัญหาในอนาคต หากมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การพูดคุยเรื่องอำนาจหน้าที่ของ กกต. จะเป็นอีกโจทย์ที่สำคัญ
สำหรับระดับที่สอง “พระราชบัญญัติ” (พ.ร.บ.) คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ พยายามยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการเลือกตั้งหลายฉบับ อาทิ พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่น พ.ร.บ.พรรคการเมือง ส่วนระดับที่สาม “กฎระเบียบ กกต.” นักการเมืองมีอำนาจเพียงเชิญ กกต. เข้ามาร่วมถกเถียงกับด้วยเหตุผลเรื่องการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบ ซึ่งผู้มีอำนาจในการตัดสินใจคือ กกต. ทั้งนี้ ถ้าประชาชนตื่นตัวเรื่องการปฏิรูปกระบวนการเลือกตั้งมากขึ้น โอกาสที่แรงกดดันจะส่งไปสู่การตัดสินใจในลักษณะดังกล่าวของ กกต. น่าจะมีมากขึ้นเช่นกัน