ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ลงพื้นที่ดูการดำเนินโครงการสร้างความรอบรู้ในการป้องกันตนเองจากภาวะหมอกควันที่มีผลต่อสุขภาพ กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น หรือพื้นที่ตำบลเชิงดอย หรือ “กองทุนสุขภาพตำบลเชิงดอย” โดยมีนายชุติพนธ์ สารแปง นายกเทศมนตรีตำบลเชิงดอยให้การต้อนรับและนำคณะลงพื้นที่เยี่ยมชม รร.ดอยสะเก็ตผดุงศาสตร์ ศูนย์เด็กเล็กวัดปทุมสราราม และชุมชน ม.6 บ้านสันอุ้ม พร้อมร่วมมอบหน้ากากอนามัย N95 ให้กับตัวแทนอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) 10 หมู่บ้านในพื้นที่
ทพ.อรรถพร กล่าวว่า การแก้ไขสถานการณ์วิกฤติฝุ่นควันเป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายต้องรวมมือกัน สปสช.ได้ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด พร้อมร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)ในการแก้ไขปัญหา โดยใช้กลไก “กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่”ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งให้เกิดการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่งตาม “ประกาศหลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ พ.ศ. 2561” ใน ข้อ10(5) ระบุการใช้จ่ายเงินกองทุนฯสามารถนำมาใช้สนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมกรณีเกิดโรคระบาดหรือภัยพิบัติในพื้นที่ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณสุขได้ตามความจำเป็น เหมาะสม และทันต่อสถานการณ์ได้ เช่น กรณีสถานการณ์วิกฤติฝุ่นควันที่เกิดขึ้นขณะนี้ สำหรับตำบลเชิงดอยเป็นพื้นที่หนึ่งที่เกิดวิกฤติฝุ่นควัน นอกจากการแก้ไขโดยใช้มาตรการต่างๆ แล้ว เทศบาลตำบลเชิงดอยยังดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อร่วมลดและแก้ปัญหาฝุ่นควันโดยใช้“กองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลเชิงดอย”เพื่อป้องกันภาวะเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ รวมถึงการให้ความรู้ประชากรกลุ่มต่างๆ ในการร่วมลดพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษฝุ่นควัน เป็นตัวอย่างหนึ่งของพื้นที่ในการดำเนินงานกองทุนสุขภาพตำบลที่ยังประโยชน์กับประชาชนโดยตรง
ทั้งนี้ จากข้อมูลรายงานข้อมูลการเข้ารับบริการภายใต้ “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือบัตรทอง พบว่าภาพรวมของการเข้ารับการรักษาพยาบาลในกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจกรณีผู้ป่วยเด็กอายุ 0-15 ปี แต่ละปีมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น จากปี 2560 มีจำนวนการเข้ารับบริการ 276,275 ครั้ง ปี 2561 มีจำนวนการเข้ารักษารักษาเพิ่มเป็น 321,245 ครั้ง ขณะที่ปี 2562 เฉพาะช่วง 4 เดือนแรก มีผู้ป่วยเข้ารับบริการแล้ว 72,362 ครั้ง ขณะที่ข้อมูลเฉพาะในพื้นที่เขต 1 จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน และพะเยา ซึ่งเป็นพื้นที่พบฝุ่นควันในระดับวิกฤตพบว่า ปี 2561 มีผู้ป่วยเด็กเข้ารับการรักษาด้วยกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจจำนวน 26,018 ครั้ง เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีจำนวน 20,654 โดยปี 2562 ในช่วง 4 เดือนแรก มีผู้ป่วยเข้ารับบริการด้วยกลุ่มโรคนี้ 8,601 ครั้ง ทำให้มีแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา