ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติรับรองผลการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ไปแล้วรวม 29 จังหวัด และเหลืออีก 47 จังหวัดที่รอพิจารณาเรื่องร้องเรียน
ล่าสุดวันนี้ (2 กุมภาพันธ์) มีรายงานข่าวว่า กกต. มีมติรับรองผลการเลือกตั้ง นายก อบจ. เพิ่มอีก 23 จังหวัด รวม 52 จังหวัด ยังเหลืออีก 24 จังหวัด ซึ่งในจำนวนนี้มี 11 จังหวัด ที่ กกต. สั่งให้มีการออกเสียงลงคะแนนนายก อบจ. ในบางหน่วยเลือกตั้งใหม่ เนื่องจากพบว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งกับจำนวนบัตรออกเสียงลงคะแนนไม่ตรงกันรวมอยู่ด้วย
สำหรับจังหวัดที่ กกต.รับรองเพิ่ม ประกอบด้วย
จ.กาญจนบุรี นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ
จ.ขอนแก่น นายพงษ์ศักดิ์ ตั้งวานิชกพงษ์
จ.ฉะเชิงเทรา นายกิตติ เป้าเปี่ยมทรัพย์
จ.ชลบุรี นายวิทยา คุณปลื้ม
จ.ชัยภูมิ นายอร่าม โล่วีระ
จ.ตรัง นายบุ่นเล้ง โล่สถาพรพิพิธ
จ.นครปฐม นายจิรวัฒน์ สะสมทรัพย์
จ.นครพนม น.ส.ศุภพานี โพธิ์สุ
จ.นครศรีธรรมราช นางกนกพร เดชเดโช
จ.นราธิวาส นายกูเซ็ง ยาวอะหะซัน
จ.บึงกาฬ นางแว่นฟ้า ทองศรี
จ.บุรีรัมย์ นายภูษิต เล็กอุดากร
จ.ปทุมธานี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง
จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายสราวุธ ลิ้มอรุณรักษ์
จ.พัทลุง นายวิสุทธิ์ ธรรมเพชร
จ.ภูเก็ต นายเรวัติ อารีรอบ
จ.มุกดาหาร พ.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์
จ.ยะลา นายมุขตาร์ มะทา
จ.เลย นายธนาวุฒิ ทิมสุวรรณ
จ.สกลนคร นายชูพงศ์ คำจวง
จ.สงขลา นายไพเจน มากสุวรรณ์
จ.สุมทรสาคร นายอุดม ไกรวัฒนุสสรณ์
จ.สุราษฎร์ธานี นายพงษ์ศักดิ์ จ่าแก้ว
ทั้งนี้ กกต.เห็นว่าเรื่องร้องเรียนของบุคคลเหล่านี้ ทางสำนักงาน กกต.จังหวัด ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ และเมื่อส่งมาถึง กกต.กลาง ก็ยังมีขั้นตอน ที่ต้องดำเนินการตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสืบสวน ไต่สวน อีกทั้งระยะเวลาที่เหลืออยู่ตามที่กฎหมายกำหนด ให้ กกต. ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งภายใน 60 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง ก็ไม่เพียงพอที่จะจัดการเลือกตั้งใหม่ หาก กกต. วินิจฉัยว่ามีการกระทำทุจริต จึงมีมติให้ประกาศรับรองผลไปก่อนและเร่งให้สำนักงานฯ ดำเนินการสอบสวน เรื่องร้องเรียน ให้เสร็จโดยเร็วเพื่อเสนอที่ประชุม กกต. พิจารณา
อย่างไรก็ตาม กกต. ยังมีเวลาพิจารณาเรื่องร้องเรียนจนถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของกรอบระยะเวลา 60 วัน ตามที่ พ.ร.บ. เลือกตั้งท้องถิ่นกำหนดให้ กกต. ต้องประกาศรับรองผลนับแต่วันเลือกตั้ง แต่หากสอบสวนไม่แล้วเสร็จก็ให้ กกต. ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งไปก่อน แล้วต่อมาหากเห็นว่ากระทำผิดจริงมีมติเพิกถอนสิทธิ สั่งเลือกตั้งใหม่ ก็จะเสนอให้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา อย่างไรก็ตามหลังจาก กกต.มีมติรับรองแล้ว ทางสำนักงานฯ ก็จะไปดำเนินการยกร่างประกาศ กกต.เพื่อให้ประธาน กกต.ลงนาม และทางผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดจะได้แจ้งให้กับผู้ที่ กกต.ประกาศรับรองทั้ง 23 จังหวัดทราบต่อไป