close

หน้าแรก

menu
search

ใช้เงินหาเสียงขนาดนั้น ได้เงินเดือนขนาดนี้ ผู้สมัครอบจ. เสียสละมาก!

schedule
share

แชร์

  คณะกรรมการการเลือกตั้ง  (กกต.) ประกาศกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น จำนวน 76 จังหวัด จำนวนเงินที่กำหนดของแต่ละจังหวัด แตกต่างกันไปตามขนาดพื้นที่และประชากร แบ่งเป็นการหาเสียงของนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และส่วนของสมาชิกสภาฯ (ส.อบจ.)

  วงเงินค่าใช้จ่ายนี้ ครอบคลุมตั้งแต่ค่าสมัครรับเลือกตั้ง ค่าจ้างแรงงาน ค่าจ้างทำของ ค่าโฆษณาในสื่อต่างๆ ค่าใช้จ่ายในการทำป้ายหาเสียง การจัดเวทีปราศรัย การผลิตสื่อทุกประเภท ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ตลอดจนค่าสาธารณูปโภคทุกประเภท เรียกได้ว่าต้องชี้แจงกันละเอียดยิบทุกขั้นตอน

  หลังจบการเลือกตั้งผู้สมัครต้องยื่นบัญชีรายรับและรายจ่ายในการเลือกตั้ง พร้อมทั้งหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วนตามความจริงต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดภายใน 90 วัน หากยื่นบัญชีค่าใช้จ่ายไม่ครบหรือจงใจปกปิดว่าใช้เกินวงเงิน โทษหนักถึงขั้นตัดสิทธิการเลือกตั้ง หมดสิทธิดำรงตำแหน่งที่เพิ่งได้รับเลือกมา

  เมื่อดูภาพรวมทั้งประเทศ พบว่า จ.นครราชสีมา กำหนดวงเงินให้ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ. ใช้เงินหาเสียงได้มากถึง 19,000,000 บาท รองลงมาคือ จ.อุดรธานี 15,120,000 บาท ด้านจังหวัดที่งบน้อยที่สุดคือ จ.สมุทรสงคราม 1,200,000 บาท

  ในส่วนของผู้สมัคร ส.อบจ. จ.ชัยภูมิกำหนดให้ใช้จ่ายได้มากที่สุดถึง 600,000 บาทต่อราย รองลงมา จ.ชุมพร 550,000 บาทต่อราย ด้าน จ.พะเยาถูกตั้งงบไว้น้อยที่สุด 135,000 บาทต่อราย

  ความคึกคักของการหาเสียงเลือกตั้ง อบจ. ในครั้งนี้ไม่ธรรมดา ในช่วงสั้นๆ ก่อนการเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม 2563 นักวิชาการคาดว่าอาจมีเงินสะพัดหลักหมื่นล้านบาท หลังจากเศรษฐกิจซบเซาจากพิษของโรคโควิด-19

  วงเงินค่าใช้จ่ายหาเสียงที่สูงลิ่ว แสดงให้เห็นว่า เหล่าผู้สมัครชิงชัยใน อบจ. ยอมทุ่มทุน เพื่อให้เข้ามาดำรงตำแหน่ง หลายคนเกิดคำถามว่าคุ้มไหม? เพราะวาระการดำรงตำแหน่งของผู้บริหารท้องถิ่นมีเพียง 4 ปี

  เมื่อเปิดฐานเงินเดือนของนายก อบจ. พบว่ามีเงินค่าตอบแทนต่อเดือน 75,530 บาท ได้รับเท่ากันทุกจังหวัด โดยแบ่งเป็นเงินเดือน  55,530 บาท ค่าตอบแทนประจำตำแหน่ง 10,000 บาท ค่าตอบแทนพิเศษ 10,000 บาท ในระยะเวลา 12 เดือน รวมเป็นเงิน 906,360 บาท หากนับรวมครบวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี เป็นเงินทั้งสิ้น 3,625,440 บาท ด้าน ส.อบจ.ได้รับค่าตอบแทน 19,440 บาทต่อเดือน ไม่มีเงินพิเศษอื่นๆ อีก ถ้านับกันครบ 4 ปี รวมเป็นเงิน 933,120 บาท ก็นับว่าคุ้มค่าหากต้องหาเสียงด้วยเงินไม่เกิน 5 แสนบาท   

  ผู้สมัคร นายก อบจ.ดูท่าจะเจ็บหนักที่สุด หากพิจารณาถึงความคุ้มค่าด้านตัวเลข มีเพียงนายก อบจ.ใน 22 จังหวัด จาก 76 จังหวัดทั่วประเทศ ที่ได้รับเงินเดือน “คุ้มค่า” กับค่าใช้จ่ายที่เสีย

 งานนี้ต้องยอมรับในความ “เสียสละ” ของบรรดาเหล่าผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น ที่เลือกอุทิศตน เข้ามาทำงานเพื่อประชาชน ยอมแลกทั้งกำลังกาย และกำลังทรัพย์ เพื่อเข้ามาพัฒนาท้องถิ่น โดยไม่หวังความคุ้มค่าในเรื่อง เงินๆ ทองๆ 

 

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

แจ้งข่าวดี! กรมการท่องเที่ยวจัดคอร์สเสริมพลังท้องถิ่น ด้านการท่องเที่ยวภาครัฐ

แจ้งข่าวดี! กรมการท่องเที่ยวจัดคอร์สเสริมพลังท้องถิ่น ด้านการท่องเที่ยวภาครัฐ

กรมการท่องเที่ยวจัดอบรมออนไลน์ ฟรี! เรื่อง “การเสริมพลั…

schedule
แซงทางโค้ง! ลุงชาญปาดบิ๊กแจ๊ส นั่งเก้าอี้นายก อบจ.ปทุมฯ

แซงทางโค้ง! ลุงชาญปาดบิ๊กแจ๊ส นั่งเก้าอี้นายก อบจ.ปทุมฯ

เมืองปทุมฯ ระอุ หลัง “ชาญ พวงเพ็ชร” ล้ม “บิ๊กแจ๊ส – พล.…

schedule
ทม.บึงยี่โถจัดใหญ่ “ลุงป้า ปู่ย่า หลานม่า The Festiwow” หนุนคุณค่าสูงวัยหัวใจสตรอง

ทม.บึงยี่โถจัดใหญ่ “ลุงป้า ปู่ย่า หลานม่า The Festiwow” หนุนคุณค่าสูงวัยหัวใจสตรอง

“ลุงป้า ปู่ย่า หลานม่า The Festiwow”ภายใต้โครงการบูรณาก…

schedule
บรรเทาวิกฤต “ขยะมูลฝอย” บทบาทสำคัญของท้องถิ่น

บรรเทาวิกฤต “ขยะมูลฝอย” บทบาทสำคัญของท้องถิ่น

ปี 66 ปริมาณขยะมูลฝอยในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นกว่าร้อยละ …

schedule

นิตยสารผู้นำท้องถิ่นออนไลน์ รวมข่าวสารอัพเดทของคนท้องถิ่น

ติดต่อเรา

อีเมล : [email protected]