close

หน้าแรก

menu
search

แก้รธน.ปลดล็อกท้องถิ่นส่อตกวาระแรก ฝ่ายค้าน-วิปรัฐบาลหนุน ส.ว.ค้านสุดตัว

schedule
share

แชร์

          ร่างรัฐธรรมนูญปลดล็อคท้องถิ่นยืดเยื้อ ส.ว.อภิปรายค้านตั้งข้อกังวลยกเลิกส่วนภูมิภาค ขณะที่ฝ่ายค้านและวิปรัฐบาลหนุนเต็มที่ แต่สุดท้ายมีสิทธิ์ถูกคว่ำวาระแรกเพราะต้องอาศัยเสียงส.ว .84 เสียงช่วยโหวตจึงจะผ่านได้

 

          วันที่ 30 พ.ย.2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่รัฐสภาได้มีการประชุมพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ…. เกี่ยวกับหมวดการปกครองท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ ในวาระแรก ซึ่งคณะก้าวหน้าได้รวบรวมรายชื่อประชาชน 76,591 คนเสนอ โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม

 

          โดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ในฐานะแกนนำเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ได้นำเสนอต่อที่ประชุมสภาว่า  วัตถุประสงค์การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เพื่อทำให้ท้องถิ่นมีอำนาจและอิสระต่อการบริหารงบประมาณ โดยยังยึดหลักการพื้นฐานอำนาจเป็นของประชาชน และประชาชนเป็นผู้เลือกตัวแทน ทั้งนี้ จะมีความชัดเจนในอำนาจของการให้บริการสาธารณะออกแบบพัฒนาชุมชนของตนเอง เพื่อพัฒนาจังหวัดไปข้างหน้าตอบสนองความต้องการของประชาชนในชุมชน ขณะที่งบประมาณ กำหนดให้จัดสรรงบประมาณอย่างเป็นธรรมและเพียงพอต่อการปฏิบัติภารกิจที่ได้รับอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะงบประมาณท้องถิ่นควรได้รับร้อยละ 50 จากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 30 จากรายได้ของรัฐบาล

 

          ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กล่าวว่า น้ำประปาในตำบลส่วนใหญ่ของประเทศไทย มีปัญหาขุ่นข้น กำหนดเวลาเปิดปิดประชาชนต้องดิ้นรนหาน้ำสะอาดเอง การจะลงทุนเพื่อปรับปรุงน้ำประปาทั้งระบบในตำบลให้ใสสะอาด สามารถทำได้ด้วยการใช้เงินประมาณ 10 ล้านบาทต่อตำบล ซึ่ง อบต. ในประเทศไทยส่วนใหญ่มีเงินลงทุนต่อปีแค่ 2-3 ล้านบาทเท่านั้น นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นจากความไม่มีอิสระและไม่มีงบประมาณของท้องถิ่น หนึ่งในวิธีแก้ปัญหาที่ท้องถิ่นต้องใช้คือการวิ่งเต้นของบประมาณจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ซึ่งหลายเรื่องผ่านไปหลายสิบปี โครงการก็ยังไม่ได้รับการอนุมัติ

 

          ธนาธรกล่าวต่อว่า ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เพิ่งเกิด และถ้าเราถ้าไม่ทำอะไรสักอย่าง ปัญหานี้จะอยู่กับเราไปจนแก่จนตายและส่งต่อไปถึงลูกหลานของเรา สังคมที่คนหนุ่มสาวต้องเดินทางไปแสวงหาโอกาสในเมืองใหญ่เพราะไม่มีงานอยู่ที่บ้าน โครงการพัฒนาจากส่วนกลางที่ไม่ตอบโจทย์คนพื้นที่เต็มไปหมด เต็มไปด้วยปัญหาถนนที่ส่งผลถึงความเป็นความตายในการเดินทางไปโรงพยาบาล ไปโรงเรียน น้ำประปาที่ซักผ้า ล้างหน้า แปรงฟันยังไม่ได้ ระบบชลประทานที่ครอบคลุมแค่ 23% ของพื้นที่เพาะปลูก

 

          “ไม่มีนโยบายใดแก้ปัญหาทุกเรื่องได้ทันที แต่ถ้าจะมีชุดนโยบายสักชุดที่จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ยกระดับบริการสาธารณะให้ประชาชนดีกว่านี้ได้พร้อมกัน นั่นคือการกระจายอำนาจ ลดการรวมศูนย์ของส่วนกลาง” ธนาธรกล่าว

 

          ประธานคณะก้าวหน้าระบุว่า ร่างฯ ปลดล็อกท้องถิ่นคือเครื่องจักรทางเศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศไทย โดยมีหลักใหญ่ใจความ 3 เรื่อง เรื่องที่ 1 คืออำนาจและอิสระในการบริหาร ยึดหลักอำนาจเป็นของประชาชน ประชาชนเลือกตัวแทนของตัวเอง เรื่องที่ 2 คือการจัดสรรงบประมาณที่เป็นธรรมเหมาะสม ทำให้ท้องถิ่นไม่ต้องวิ่งเต้นหางบประมาณอีกต่อไป และ 3 ตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้น ตนขอเรียกร้องสมาชิกรัฐสภา ให้ช่วยกันผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพื่อจบปัญหาในรุ่นของเรา ให้ท้องถิ่นได้ทำหน้าที่แก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยตัวของเขาเอง

 

          “ผมขอให้ทุกท่านเห็นแก่ผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน โหวตผ่านร่างฯ ปลดล็อกท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นได้ทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตพื้นฐานของประชาชนได้อย่างรวดเร็ว และให้ผู้แทนราษฎรได้ทำหน้าที่ในสภา ออกกฎหมาย  ต่างฝ่ายต่างจะได้ทำหน้าที่ของตนอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด” ธนาธรกล่าว

 

          จากนั้นได้ให้สมาชิกรัฐสภา ทั้ง ส.ส.-ส.ว. เริ่มอภิปรายอย่างกว้างขวาง โดยนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา ได้อภิปรายว่า การกระจายอำนาจที่จะนำไปสู่ ความสำเร็จของการบริการสาธารณะในระดับท้องถิ่นได้อย่างแท้จริงนั้น หัวใจสำคัญของการกระจายอำนาจ คือการกระจายอำนาจทางการคลัง โดยต้องทำให้มีท้องถิ่นมีอิสระทางการคลัง มีรายได้ของตนเองให้มากพอ พึ่งพาส่วนกลางให้น้อยลง

 

          นายสถิตย์ อภิปรายต่อไปว่า รูปแบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศไทยไม่จำเป็นต้องแบ่งแยกเป็นองค์กรแบบทั่วไปกับแบบพิเศษ ดังเช่นรูปแบบพิเศษของกรุงเทพมหานครและพัทยา แต่ควรมีเพียงรูปแบบเดียว คือ รูปแบบเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบลให้เปลี่ยนเป็นเทศบาลตำบล การจัดระดับของเทศบาลก็ให้เป็นไปตามความเหมาะสม

 

          นายสถิตย์ ยังกล่าวว่า การกระจายอำนาจที่นำเสนอและที่ตนได้ให้ข้อสังเกตนั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นเรื่องที่อาจจะทำได้ภายใต้โครงสร้างกฎหมายปัจจุบัน เช่น พระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง การปรับโครงสร้างรายได้จากภาษีก็สามารถทำได้ในระดับพระราชบัญญัติ การกู้เงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการออกพันธบัตรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต่างก็มีกฎหมายก็ให้อำนาจอยู่แล้วยกเว้นองค์กรบริหารส่วนตำบลเพราะว่ามีขนาดเล็กเกินไป การกระจายอำนาจหากยังมีเรื่องใดที่ยังทำไม่ได้ตามกฎหมายปัจจุบัน ก็สามารถแก้ไขใน ระดับพระราชบัญญัติได้

 

          นายจเด็จ อินสว่าง ส.ว. อภิปรายว่า การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่เป็นการลอกเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ในร่างแก้ไขที่เสนอโดยเพิ่มเติมมาคือ  มาตรา 4 ให้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทำแผนยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค ซึ่งหมายถึง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ ต่อมากำหนดให้ทำประชามติยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค อย่างไรก็ดี ตนทราบว่ามาตรา 4 ไม่ผ่านการรับฟังความเห็นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77

 

          “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้รับไม่ได้ เพราะมีลักษณะขัดกันแห่งผลประโยชน์ และทำผิดรัฐธรรมนูญ อย่างน้อย 5 มาตรา คือ มาตรา 1 ว่าด้วยการแบ่งแยกราชอาญาจักร หากให้ท้องถิ่นมีความอิสระในหลายรูปแบบ ลามถึงมาตรา 2 ว่าด้วยการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มาตรา 5 ที่รับรองให้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด บทบัญญัติหรือการกระทำใดที่ขัดหรือแย้ง เป็นอันใช้ไม่ได้ มาตรา 77 คือ การรับฟังความเห็นประชาชนที่ผมบอกแล้วว่าประเด็นเลิกราชการส่วนภูมิภาคไม่ได้รับฟังความเห็นและมาตรา 255 ว่าด้วยข้อห้ามแก้รัฐธรรมนูญที่มีผลเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ ดังนั้นสิ่งที่ทำนี้คือ การสนับสนุนคนทำผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่” นายจเด็จ กล่าว

 

          ขณะที่นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. อภิปรายว่า ร่างที่ผู้เสนอ แม้อธิบายว่า เป็นรัฐเดี่ยว ไม่ใช่สาธารณรัฐ แต่จากเนื้อหาที่ได้อ่าน ทำให้ตนกังวลและห่วงว่า นี่คือการเป็นรัฐอิสระดีๆ นี่เอง การจะทำให้บ้านเมืองดีขึ้น ความจริงอยู่ที่นักการเมือง ที่ต้องมีความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง และประชาชนต้องทำหน้าที่รักษาประโยชน์ส่วนร่วม ไม่ยั่วยุ ปลุกปั่น หรือปลูกฝังความคิดผิดๆ ให้กับเด็ก เยาวชน ประชาชน

 

          ขณะที่ส.ส.ฝ่ายค้าน อภิปรายสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้ และจะโหวตรับหลักการในวาระแรก ส่วนส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ทางวิปรัฐบาลจะเปิดให้ฟรีโหวต ยกเว้นพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่จะขอโหวตรับหลักการเพราะพรรค ปชป. สนับสนุนกับหลักการกระจายอำนาจอยู่แล้ว แต่ไม่เห็นด้วยที่จะให้ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค

 

          อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปลดล็อกท้องถิ่นนี้ ไม่น่าจะผ่านในวาระ 1 เนื่องจากต้องใช้เสียงส.ว.สนับสนุน 1 ใน 3 หรือประมาณ 84 เสียงมาประกอบด้วย ร่างฉบับนี้จึงจะผ่านไปได้ เพราะจากการแสดงความเห็นตลอดทั้งวัน ส.ว.ส่วนใหญ่อภิปรายไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค และยืนยันว่าไม่จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นการกระจายอำนาจ เพราะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องบังคับใช้อยู่แล้ว

 

(ภาพจาก เพจ คณะก้าวหน้า)

แก้รธน.ปลดล็อกท้องถิ่นส่อตกวาระแรก ฝ่ายค้าน-วิปรัฐบาลหนุน ส.ว.ค้านสุดตัว

 

แก้รธน.ปลดล็อกท้องถิ่นส่อตกวาระแรก ฝ่ายค้าน-วิปรัฐบาลหนุน ส.ว.ค้านสุดตัว

 

แก้รธน.ปลดล็อกท้องถิ่นส่อตกวาระแรก ฝ่ายค้าน-วิปรัฐบาลหนุน ส.ว.ค้านสุดตัว

 

แก้รธน.ปลดล็อกท้องถิ่นส่อตกวาระแรก ฝ่ายค้าน-วิปรัฐบาลหนุน ส.ว.ค้านสุดตัว

 

แก้รธน.ปลดล็อกท้องถิ่นส่อตกวาระแรก ฝ่ายค้าน-วิปรัฐบาลหนุน ส.ว.ค้านสุดตัว

 

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

แจ้งข่าวดี! กรมการท่องเที่ยวจัดคอร์สเสริมพลังท้องถิ่น ด้านการท่องเที่ยวภาครัฐ

แจ้งข่าวดี! กรมการท่องเที่ยวจัดคอร์สเสริมพลังท้องถิ่น ด้านการท่องเที่ยวภาครัฐ

กรมการท่องเที่ยวจัดอบรมออนไลน์ ฟรี! เรื่อง “การเสริมพลั…

schedule
แซงทางโค้ง! ลุงชาญปาดบิ๊กแจ๊ส นั่งเก้าอี้นายก อบจ.ปทุมฯ

แซงทางโค้ง! ลุงชาญปาดบิ๊กแจ๊ส นั่งเก้าอี้นายก อบจ.ปทุมฯ

เมืองปทุมฯ ระอุ หลัง “ชาญ พวงเพ็ชร” ล้ม “บิ๊กแจ๊ส – พล.…

schedule
ทม.บึงยี่โถจัดใหญ่ “ลุงป้า ปู่ย่า หลานม่า The Festiwow” หนุนคุณค่าสูงวัยหัวใจสตรอง

ทม.บึงยี่โถจัดใหญ่ “ลุงป้า ปู่ย่า หลานม่า The Festiwow” หนุนคุณค่าสูงวัยหัวใจสตรอง

“ลุงป้า ปู่ย่า หลานม่า The Festiwow”ภายใต้โครงการบูรณาก…

schedule
บรรเทาวิกฤต “ขยะมูลฝอย” บทบาทสำคัญของท้องถิ่น

บรรเทาวิกฤต “ขยะมูลฝอย” บทบาทสำคัญของท้องถิ่น

ปี 66 ปริมาณขยะมูลฝอยในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นกว่าร้อยละ …

schedule

นิตยสารผู้นำท้องถิ่นออนไลน์ รวมข่าวสารอัพเดทของคนท้องถิ่น

ติดต่อเรา

อีเมล : [email protected]