สมาคมฯ อปท. เคลื่อนไหวเรียกร้องรัฐบาลชดเชยรายได้ท้องถิ่น 5.3 หมื่นล้านในกรอบ 3 ปี หลังไร้มาตรการเยียวยากรณีสั่งลดเก็บภาษีที่ดินฯร้อยละ 90
ผลจากการประกาศใช้พ.ร.ฎ.ลดภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท พ.ศ.2563 โดยมีสาระสำคัญในการลดการเก็บภาษีลงร้อยละ 90 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2563 กระทบต่อการจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ ท่ามกลางความหวังว่ารัฐบาลจะมีมาตรการเยียวยารายได้ของท้องถิ่นที่หายไป
นายพิพัฒน์ วรสิทธิดำรง นายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา ตัวแทนจาก กทม. เมืองพัทยา เทศบาลนครแหลมฉบัง อบต.ธนู จ.พระนครศรีอยุธยา และสมาคมข้าราชการส่วนท้องท้องถิ่นแห่งประเทศไทย ได้เข้าให้ข้อมูลกับคณะอนุกรรมาธิการการกฎหมายฯ กรณีที่มีส.ส.ยื่นหนังสือต่อประธานรัฐสภาเพื่อสื่อสารไปยังรัฐบาล ขอเลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพ.ศ. 2562 เนื่องจากยังมีความไม่พร้อมหลายด้าน และมีผลกระทบต่อรายได้ของท้องถิ่นโดยตรง แต่ทางรัฐบาลยังไม่มีการตอบรับกลับมา ประกอบกับการจัดเก็บรายได้ที่ลดลงอย่างมากหลังรัฐบาลประกาศใช้พ.ร.ฎ.ลดภาษี่สำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราร้อยละ 90 หลายองค์กรของท้องถิ่น จึงมีการเรียกร้องไปยังหลายหน่วยงาน เพื่อให้มีการพิจารณาช่วยเหลือมาตรการเยียวยาจากนโยบายดังกล่าว
นายพิพัฒน์ กล่าวต่ออีกว่า ทั้งเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ได้รับผลกระทบกันหมด โดยส่วนใหญ่อปท.ขนาดเล็กรายได้หายไป 2-5 ล้านบาท ส่วนอปท.ที่ได้รับผลกระทบหนัก ได้แก่ อปท.ที่มีเขตนิคมอุตสาหกรรม หรือมีกิจการเชิงพาณิชย์อยู่ในท้องที่จำนวนมาก ซึ่งปกติจะมีรายได้จากภาษีที่ดินและโรงเรือนเป็นหลัก แต่เมื่อแปลงมาเป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แล้วรัฐบาลลดอัตราการจัดเก็บลงร้อยละ 90 ทำให้กระทบต่อรายจ่ายที่แต่ละ อปท.ประมาณการไว้ในแต่ละปี ตัวอย่างเช่น กรณีเทศบาลนครแหลมฉบัง ที่มีนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ รายได้ที่ประมาณการไว้ลดลงไปกว่า 500 ล้านบาท ทำให้ต้องขออนุมัติใช้จ่ายเงินสะสมจากผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อมาใช้ในการจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรในหน่วยงาน
นายพิพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการเรียกร้องให้มีการชดเชยรายได้ให้ท้องถิ่นนั้น ทางสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย ได้เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) และมีมติขอชดเชยรายได้ที่หายไปจากพ.ร.ฎ.ลดภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ ในกรอบวงเงิน 53,000 ล้านบาท รวมทั้งได้ทำหนังสือไปยังรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และท่านรับทราบในหลักการแล้ว แต่ผ่านมาราว 1 เดือนยังไม่มีความคืบหน้าอะไร
“รายได้จากภาษีที่ดินฯ เป็นรายได้ของท้องถิ่นเต็มจำนวน ไม่ได้แบ่งให้รัฐบาล หากภาษีตรงนี้ลดลงไปรัฐบาลก็ไม่ได้กระทบอะไร โดยข้อเท็จจริงแล้วการที่รัฐบาลจะออกนโยบายหรือออกกฎหมายใด มาลดหรือยกเว้นการจัดเก็บภาษีนี้ รัฐบาลควรมีมาตรการมาชดเชยให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะรัฐบาลไม่ได้รับผลกระทบอะไรเลย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ใช่ผู้ที่ร้องขอให้รัฐบาลออกนโยบายนี้ แต่กลับได้ผลกระทบอย่างเต็มที่” นายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นฯ กล่าว
รศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กล่าวถึงประมาณการขอชดเชยรายได้ที่ท้องถิ่นต้องสูญเสีย จำนวน 5.3 หมื่นล้านบาทว่า ต้องคิดในกรอบระยะเวลา 3 ปี คือในปี 2563-2565 ด้วยข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลังที่ประมาณไว้ว่าปี 2563 ท้องถิ่นจะสูญเสียรายได้จากการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอัตราร้อยละ 90 ประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท
ประกอบกับผลของพ.ร.ฎ.ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2563 ที่มีผลบังคับใช้ใน 1 มกราคม 2563 เพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับผู้เสียภาษีซึ่งล้วนอยู่ในกรอบระยะเวลา 3 ปี อีกทั้งช่องโหว่ของการตีความกฎหมายฉบับรองที่จะทำให้เก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้น้อยลง จึงคาดว่าในปี 64-65 รายได้ท้องถิ่นจะหายไปราวปีละ 1 หมื่นล้านบาท กรอบวงเงินที่นำเสนอให้รัฐบาลช่วยชดเชยรายได้ของท้องถิ่นจึงอยู่ที่ 5.3 หมื่นล้านบาท
ด้านนายสนธยา ทองดี ผู้อำนวยการสำนักการคลัง เทศบาลนครนนทบุรี เปิดเผยว่า ในปีนี้เมื่อต้องใช้พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 มีการคาดการณ์ว่าจะเก็บภาษีได้ลดลง 40-50% จากรายได้ทั้งหมดที่เคยเก็บได้จากภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ เมื่อรัฐบาลกำหนดให้มีการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลงอีกร้อยละ 90 จึงยิ่งทำให้เก็บภาษีส่วนนี้ได้น้อยลงไปอีก เดิมที่คาดการณ์ว่าจะสามารถเก็บได้ 227 ล้านบาท ขณะนี้เก็บได้เพียง 20-30 ล้านบาทเท่านั้น มาจากรายได้ที่คาบเกี่ยวกับภาษีโรงเรือนและที่ดิน ซึ่งเป็นภาษีเดิม หากคิดรายได้จากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ ขณะนี้แทบจะเก็บรายได้จากส่วนนี้ไม่ได้เลย สำหรับเทศบาลนครนนทบุรีขณะนี้ยังไม่ได้รับผลกระทบจนถึงขั้นที่ต้องดึงเงินสะสมมาใช้ แต่รายได้ส่วนที่หายไปก็มีผลทำให้การบริหารงานยากลำบากเช่นกัน