close

หน้าแรก

menu
search

เสนอรัฐชดเชยงบแก้โควิด อปท.

schedule
share

แชร์

          คณะอนุกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น ในกมธ.การกระจายอำนาจฯ  เตรียมชงรัฐบาลแบ่งเงินกู้จ่ายชดเชยให้ท้องถิ่น กรณีใช้จ่ายบริหารจัดการปัญหาโควิด-19

 

            นายบรรณ แก้วฉ่ำ นักวิชาการด้านกฎหมายท้องถิ่น ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น ในคณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจฯ เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 64 มี 2 ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของคนท้องถิ่น โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับการบริหารจัดการ ป้องกันและแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ที่แต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อทป.) ได้ดำเนินในด้านต่างๆ มาตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา

 

          “เรื่องค่าใช้จ่ายเรื่องโควิด ที่ อปท.ใช้จ่ายไปในห้วงเวลาที่ผ่านมา จะให้ กรมส่งเสริมฯ แจ้ง อปท.ทั่วประเทศรวบรวม เพื่อนำไปเสนอต่อรัฐบาลขอให้จ่ายชดเชยให้แก่ท้องถิ่น โดยเฉพาะเงินกู้ที่รัฐบาลอ้างกู้มาเรื่องโควิด จะขอแบ่งมาชดเชยให้แก่ อปท.ทั่วประเทศ…”

 

          เงินกู้ที่กล่าวถึงนี้ คือ เงินกู้ 5 แสนล้านที่ถูกกล่าวถึงกันอย่างกว้างขวางในช่วงเวลาที่ผ่านมาก โดยรัฐบาลให้เหตุผลการกู้จำนวนมหาศาลครั้งนี้ว่า เพื่อนำมาแก้ปัญหาโควิด-19 ที่เกิดการระบาด (ระลอกใหม่) นำมาใช้ในแผนงานดูแลประชาชน ผู้ประกอบการรายย่อย รวมถึงเพื่อสร้างงานให้กับประชาชนในระดับท้องถิ่น ให้ภาพรวมของประเทศผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้

 

          หลังสภาฯ เห็นชอบ พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา​เศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 จึงได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 25 พ.ค. ผ่านมา

 

          บัญชีท้ายพระราชกำหนด เงินกู้ 5 แสนล้านบาท มีแผนงานใช้ใน 3 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 วงเงิน 30,000 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาด ในส่วนนี้ เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรค วัคซีน และการวิจัย พัฒนาและผลิตวัคซีนภายในประเทศ รวมทั้งการปรับปรุงสถานพยาบาลสำหรับการบำบัดรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงสาธารณสุข หรือหน่วยงานของรัฐที่ ครม.มอบหมาย

 

          ส่วนที่ 2 วงเงิน 300,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย ให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ เป็นค่าใช้จ่ายในการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพหรือผู้ประกอบการทุกสาขาอาชีพให้สามารถประกอบอาชีพหรือดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง หรือหน่วยงานของรัฐที่ ครม.มอบหมาย

 

เสนอรัฐชดเชยงบแก้โควิดอปท.

 

          และส่วนที่ 3 วงเงิน 170,000 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับแผนงาน หรือโครงการเพื่อรักษาระดับการจ้างงานของผู้ประกอบการ และกระตุ้นการลงทุน และการบริโภคในระบบเศรษฐกิจของประเทศ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง หรือหน่วยงานของรัฐที่ ครม.มอบหมาย

 

          ขณะที่ภารกิจของท้องถิ่นในการดูแลประชาชนในพื้นที่ ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ระยะแรกของการพบเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย ทั้งการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการป้องกันโรค อาทิ หน้ากากอนามัย เจลล้างมือแอลกอฮอล์ เครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ น้ำยาพ่นฆ่าเชื้อ ชุดป้องกันการติดเชื้อ (PPE) ทั้งภารกิจสนับสนุนด้านบุคลากร การส่งเจ้าหน้าที่ อสม.ลงพื้นที่คัดกรองคนในชุมชน การให้บริการตรวจคัดกรองตรวจหาเชื้อโควิด-19 ตลอดจนการมอบเครื่องอุปโภคบริโภคให้กับประชาชนในช่วงที่ต้องกักตัว

 

          ทั้งหมดนี้เป็นส่วนที่ท้องถิ่นดำเนินการโดยใช้งบประมาณของแต่ละอปท. เป็นเวลานานกว่า 1 ปีแล้วที่ท้องถิ่นมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นจากรายจ่ายปกติ สวนทางกับรายรับที่หดตัวลง โดยเฉพาะรายได้จากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่รัฐมีนโยบายลดการจัดเก็บลง 90 เปอร์เซ็นต์ เพื่อช่วยบรรเทาภาระความเดือดร้อนของประชาชน

 

          นี่ยังไม่รวมถึงงบประมาณก้อนใหญ่ ที่หลาย อปท. ควักเงินสะสมออกมาเพื่อใช้เป็นงบจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 เพื่อฉีดให้กับประชาชนในพื้นที่เอง ผ่านวัคซีนตัวเลือกอย่าง “ซิโนฟาร์ม” ที่จัดหามาโดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งดูจะเข้าถึงได้ง่ายและเร็วมากกว่าวัคซีนส่วนกลางของรัฐบาลที่มาช้า และมาพร้อมกับข้อกังขาเรื่องคุณภาพ

 

          จึงน่าจับตาดูไม่น้อย ว่าการขอชดเชยเงินส่วนนี้ จะได้รับการตอบสนองจาก ครม.หรือไม่ เพราะหากพิจารณาจากเจตนารมณ์ของการกู้เงินในรอบนี้ ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าตรงกับภารกิจที่ท้องถิ่นทำมาโดยตลอด

 

          นอกจากเรื่องงบประมาณจัดการโควิดแล้ว การประชุมในรอบนี้ นายบรรณ แก้วฉ่ำ ยังระบุว่าจะมีการเชิญตัวแทนของการไฟฟ้า มาร่วมหารือ “กรณีหน่วยงานส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค สร้างถนนพร้อมติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง การไฟฟ้าไม่เรียกเก็บค่าไฟฟ้า ด้วยเหตุผลว่า เสาไฟฟ้าที่ปักได้ปักลงในเขตถนนทางหลวง แต่ข้อเท็จจริงกรณีถนนของท้องถิ่น หรือถนนทางหลวงท้องถิ่น ซึ่งเสาไฟปักลงในที่ดินเขตทางหลวงท้องถิ่นด้วยเช่นกัน กลับเรียกเก็บค่าไฟทาง จะเชิญไฟฟ้ามาชี้แจง และมิให้เรียกเก็บค่าไฟทางจากท้องถิ่นเช่นเดียวกัน..(หากยังเรียกเก็บ อปท.ก็อาจบังคับให้จ่ายค่าเช่าดินปักเสาไฟฟ้า จากการไฟฟ้า นี่เป็นความคิดผมเอง เตรียมไปต่อรองกับ การไฟฟ้าที่จะเชิญมาชี้แจง) ข้อเสนอนี้ เป็นท่าน ผอ.กองกฎหมายของกรมส่งเสริม ในฐานะอนุกรรมาธิการเป็นผู้เสนอ”

 

          นับเป็น 2 ประเด็นที่คนท้องถิ่นต้องติดตามความคืบหน้า เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่ทวงผลประโยชน์แก่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง

 

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

แจ้งข่าวดี! กรมการท่องเที่ยวจัดคอร์สเสริมพลังท้องถิ่น ด้านการท่องเที่ยวภาครัฐ

แจ้งข่าวดี! กรมการท่องเที่ยวจัดคอร์สเสริมพลังท้องถิ่น ด้านการท่องเที่ยวภาครัฐ

กรมการท่องเที่ยวจัดอบรมออนไลน์ ฟรี! เรื่อง “การเสริมพลั…

schedule
แซงทางโค้ง! ลุงชาญปาดบิ๊กแจ๊ส นั่งเก้าอี้นายก อบจ.ปทุมฯ

แซงทางโค้ง! ลุงชาญปาดบิ๊กแจ๊ส นั่งเก้าอี้นายก อบจ.ปทุมฯ

เมืองปทุมฯ ระอุ หลัง “ชาญ พวงเพ็ชร” ล้ม “บิ๊กแจ๊ส – พล.…

schedule
ทม.บึงยี่โถจัดใหญ่ “ลุงป้า ปู่ย่า หลานม่า The Festiwow” หนุนคุณค่าสูงวัยหัวใจสตรอง

ทม.บึงยี่โถจัดใหญ่ “ลุงป้า ปู่ย่า หลานม่า The Festiwow” หนุนคุณค่าสูงวัยหัวใจสตรอง

“ลุงป้า ปู่ย่า หลานม่า The Festiwow”ภายใต้โครงการบูรณาก…

schedule
บรรเทาวิกฤต “ขยะมูลฝอย” บทบาทสำคัญของท้องถิ่น

บรรเทาวิกฤต “ขยะมูลฝอย” บทบาทสำคัญของท้องถิ่น

ปี 66 ปริมาณขยะมูลฝอยในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นกว่าร้อยละ …

schedule

นิตยสารผู้นำท้องถิ่นออนไลน์ รวมข่าวสารอัพเดทของคนท้องถิ่น

ติดต่อเรา

อีเมล : [email protected]