ศ.วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ชี้ชัดปัญหาอุปสรรคกระจายอำนาจ 25 ปี มีแต่เคราะห์ซ้ำกรรมซัด ถูกขวางทั้งจากอำนาจส่วนกลางและบั่นทอนจากรธน.2560 ย้ำการพัฒนาท้องถิ่นคือการพัฒนาประเทศ และต้องให้ความเป็นอิสระแก่ท้องถิ่นเพื่อสร้างสมรรถนะในการใช้ต้นทุนของตนเองพัฒนา เตือนประชาชนเริ่มขานรับการกระจายอำนาจแล้ว แนะ 5 ข้อให้ท้องถิ่นทบทวนตัวเองในการก้าวไปสู่สถานีอนาคตการกระจายอำนาจ
เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2565 วิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น สถาบันพระปกเกล้า ได้จัดสัมมนาว่าด้วยการกระจายอำนาจในหัวข้อ The Nest Station อนาคตก้าวที่ 26 (ปี) ของการกระจายอำนาจที่อาคารแกรนด์คอนเวนชั่นโรงแรม ทีเค พาเลซ (TK Palace) ถนนแจ้งวัฒนะ โดยมีผู้บริหาร ข้าราชการ พนักงาน และเจ้าหน้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “Next Station: โอกาส ความท้าทาย และก้าวที่ 26 ของการกระจายอำนาจในประเทศไทย” ว่า นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540 ที่ได้บรรจุเรื่องการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่นเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ โดยมีใจความสำคัญคือ รัฐต้องให้ความเป็นอิสระแก่ท้องถิ่นตามหลักการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นย่อมมีอิสระในการกำหนดนโยบายการปกครอง การบริหาร การบริหารงานบุคคล การเงินและการคลัง และมีอำนาจหน้าที่ของตนเองโดยรัฐบาลเป็นเพียงผู้ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่าที่จำเป็นภายใต้กรอบของกฎหมายเท่านั้น
25 ปีกระจายอำนาจ มีเคราะห์ซ้ำกรรมซัด
อย่างไรก็ตามในสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นจะเห็นได้ว่านับจากปีพ.ศ. 2540 จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2565) ที่การกระจายอำนาจในประเทศไทยเดินทางมาเป็นเวลากว่า 25 ปี มีทั้งการพัฒนาและช่วงสะดุดหยุดลงของกระบวนการ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้สนใจเกี่ยวกับการกระจายอำนาจ การปกครองท้องถิ่น ตลอดจนถึงผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ข้าราชการ นักวิชาการต้องหันมาร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ขบคิดถึงก้าวต่อไปของการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่นของประเทศไทยในอนาคต จึงเป็นที่มาของการจัดเวทีสัมมนาในครั้งนี้
ศาสตราจารย์วุฒิสาร กล่าวว่า ปีที่ 26 Next Station คือจุดเริ่มต้นของการมองไปถึงปลายทางว่า การกระจายอำนาจจะก้าวต่อไปอย่างไร องค์กรท้องถิ่นจะไปอย่างไรและที่สำคัญก็คือ เราได้ย่างก้าวเข้าสู่ปีที่ 26 ซึ่งถ้านับกันแล้วก็เพิ่งเข้าสู่วัยเบญจเพส คนไทยจำนวนมาก กลัวเรื่องเบญจเพส แต่พวกเราองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีเคราะห์มีกรรมมาก่อนเบญจเพสนานพอสมควร เพราะพวกเราต้องเผชิญกับความลำบากมาหลายครั้งหลายหน
ศาสตราจารย์วุฒิสาร กล่าวว่า ขบวนของการกระจายอำนาจ ความจริงสถานีแรกที่เริ่มต้นคือสถานีตั้งแต่ปี พ.ศ.2469 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชดำริที่เขียนไว้ในหนังสือ เรื่องการปกครองท้องถิ่น เมื่อเดือนสิงหาคม 2469พระองค์มีพระราชดำริที่จะปรับปรุงการปกครองท้องถิ่นให้เป็นแบบประชาภิบาลหรือเทศบาล ได้มีพระราชบันทึกในหนังสือ Democracy in Siam หรือประชาธิปไตยในสยาม
โดยมีความอันหนึ่งว่า “จะเป็นการดีกว่าอย่างแน่นอนสำหรับประชาชนที่จะเริ่มต้นด้วยการควบคุมกิจการท้องถิ่นก่อนที่จะเข้ามาพยายามควบคุมกิจการของรัฐโดยผ่านทางรัฐสภา ผมคิดว่านี่คือสถานีแรกจุดหมายแรกของการปกครองท้องถิ่นหลังจากที่มีสุขาภิบาลในรัชการที่ 5”
ความตั้งใจของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีหนังสือราชการไปถึงสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยขณะนั้นว่าทรงคิดเรื่องวางแผนโครงการ การปกครองท้องถิ่นในรูปแบบเทศบาลทั้งกรุงเทพและหัวเมืองในปี พ.ศ.2469 ตนเองคิดว่านั่นคือจุดเริ่มต้นในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจ และจากจุดนี้เอง ทำให้วิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น สถาบันพระปกเกล้ามีแรงผลักดันเป็นส่วนหนึ่งที่มีความตั้งใจที่จะสนับสนุนผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งประเทศสามารถพัฒนาตัวเองได้
รธน.40 จุดเริ่มกระจายอำนาจแท้จริง
จากจุดเริ่มต้นสถานีสำคัญที่เราได้แวะเวียนนอกเหนือจากการมีพระราชบัญญัติของตัวเองมีการเปลี่ยนแปลงองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ตำบลเป็นสภาตำบล จากสภาตำบลเป็นองค์การสภาตำบลในปี พ.ศ.2538 มีการเปลี่ยนแปลงองค์การบริหารส่วนจังหวัดในปี พ.ศ.2540 และหมุดหมายที่สำคัญก็คือรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2540 เราต้องยอมรับว่าคุณูปการสำคัญของการกระจายอำนาจเริ่มต้นจากการมีรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ในหมวดการปกครองท้องถิ่น หมวดที่ 9 ทำหลายเรื่องมาก ตั้งแต่บัญญัติให้มีกฎหมายกระจายอำนาจ เรื่องการเปลี่ยนโครงสร้างจากระบบสุขาภิบาลที่เป็นคณะกรรมการให้เป็นระบบสภา โครงสร้างนี้เกิดขึ้นเป็นรูปแบบเดียวทั้งประเทศ ด้วยการมีสภากับผู้บริหาร มีระบบที่พูดเรื่องของการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิ์ในการเสนอข้อบัญญัติรวมไปถึงการถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่น พูดเรื่องสิทธิและหน้าที่ขององค์กรท้องถิ่น ในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม
ที่สำคัญคือบทบัญญัติ ที่อยู่ในมาตรา 284 ที่บัญญัติให้มีกฎหมายกระจายอำนาจ ซึ่งสถานีนี้เป็นสถานีสำคัญของขบวนรถไฟการกระจายอำนาจเพราะเป็นการวางรากฐานและวางหมุดที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงเรื่องการกระจายอำนาจ
จังหวะที่ 2 ของการกระจายอำนาจ คือปี พ.ศ.2542 มีกฎหมายจำนวนมากเกิดขึ้น อาทิ กฎหมายบริหารงานบุคคล กฎหมายยกฐานะสุขาภิบาล เป็นเทศบาล กฎหมายว่าด้วยเรื่องของการเข้าชื่อเพื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น กฎหมายว่าด้วยการถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น รวมไปถึงพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจปีพ.ศ.2542 เป็นความตั้งใจของรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2540ที่บอกว่ากฎหมายทั้งหมดให้เกิดและให้ออกมาภายในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งเราต้องยอมรับว่าจุดนี้เป็นจุดสำคัญที่ทำให้ขบวนรถไฟของการกระจายอำนาจเดินได้
“ผมเองมีส่วนในฐานะคณะกรรมการทำงานจัดทำแผนกระจายอำนาจ ปี 2543 และแผนปฏิบัติการที่พูดเรื่องการถ่ายโอนภารกิจปี พ.ศ.2545ซึ่งผมคิดว่าช่วงจังหวะปี พ.ศ.2543-2545 เป็นภาวะที่มีความสับสนในสังคม ส่วนปีพ.ศ.2544 เป็นปีแรก ที่พวกเราคนท้องถิ่นมีรายได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของรายได้สุทธิของรัฐบาลก่อนหน้านั้นเรามีรายได้ร้อยละ12 ของรายได้สุทธิของรัฐบาล วันนี้เรามีรายได้ 8 แสนล้านเกือบร้อยละ30ของรายได้สุทธิของรัฐบาล”ศาสตราจารย์วุฒิสาร กล่าว
ศาสตราจารย์วุฒิสาร กล่าวอีกว่า จุดนี้มีความสำคัญของความเปลี่ยนแปลง ที่ทำให้เกิดสภาพมะรุมมะตุ้มในเชิงหลักการการกระจายอำนาจ โดยปีพ.ศ.2545 เริ่มมีแนวคิดจากรัฐบาลในเรื่องของผู้ว่า CEO ซึ่งเป็นวิธีการขยายพลังของราชการสู่ภูมิภาค ดังนั้นบนเส้นทางรถไฟสายนี้ ในการกระจายอำนาจ บทบาทของราชการภูมิภาค บทบาทของกำนันผู้ใหญ่บ้าน บทบาทของผู้ว่าราชการจังหวัดก็ยังคงเข้มแข็งเดินคู่ขนานกันมา
สิ่งที่เราต้องทำคือความพยายามที่จะแบ่งหน้าที่ให้ชัดเจน คือเอาหลักการให้อยู่ คำว่าการกำกับดูแลที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ถ้ากลับไปอ่านทุกฉบับจะพูดว่า “กำกับดูแลเท่าที่จำเป็นเพื่อรักษาประโยชน์ทางราชการและประชาชน” ซึ่งในส่วนนี้ก็ทำให้มีคำถามว่าขนาดไหนถึงเรียกว่าจำเป็น
ปี 2544-2545 เป็นยุคทองกระจายอำนาจ
ศาสตราจารย์วุฒิสาร กล่าวย้ำว่า เวลาเราพูดถึงความสำเร็จเรื่องการกระจายอำนาจอย่าไปนับเรื่องภาร กิจถ่ายโอนว่าได้สำเร็จไปแล้วกี่เรื่อง ยกตัวอย่าง วันที่เขียนแผนกระจายอำนาจ ระบุว่าจะถ่ายโอนภารกิจจำนวน 245 เรื่อง 50 กรม 17 กระทรวง คนก็บอกว่าเยอะจะเป็นได้อย่างไรที่องค์กรท้องถิ่นจะทำได้ แต่ถ้ากลับไปอ่านแผนปฏิบัติการใหม่ จะเห็นว่าเป็นการถ่ายโอนเรื่องที่ซ้ำๆกันของกรมต่างๆที่ทำเรื่องเดียวกันไปให้ท้องถิ่นโดยเฉพาะเรื่องส่งเสริมอาชีพมีทั้งหมด 21 กรมและอีกหลายกระทรวงที่มีงบประมาณส่งเสริมอาชีพ เช่นเดียวกับเรื่องถนนมีอย่างน้อย 14 กรม ที่มีการถ่ายโอน แม้กระทั่งกรมประชาสงเคราะห์เดิมคือ ถนนในนิคม กรมชลประทาน คือถนนคลองชลประทาน สปก.ก็มีถนนของสปก. เพราะฉะนั้นการถ่ายถ่ายโอนภารกิจในวันนี้หลายคนจะบอกว่ามันมาก แต่จริงๆแล้วมันคือภารกิจที่เป็นหน้าที่ของพวกเราคนท้องถิ่นอยู่แล้ว
ช่วงเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ.2544-2545 หรือก่อนปีพ.ศ.2550 ถือเป็นช่วงยุคทองของการกระจายอำนาจ มีการเดินทางไปชี้แจงท้องถิ่นทั่วประเทศ เอาเฉพาะที่จะต้องทะเลาะกับส่วนราชการที่จะต้องถ่ายโอนก็เหนื่อยแล้ว เนื่องจากแต่ละกรม กอง ก็มองว่า การกระจายอำนาจท้องถิ่นเป็นการบั่นทอนอำนาจของต้นสังกัดและยังคงหวังผูกขาดอำนาจ ฉะนั้นขบวนรถไฟสายกระจายอำนาจ สายนี้คือการต่อสู้ทางความคิดและการสร้างบทพิสูจน์ของความเชื่อและหลักการ ทำให้ปัจจุบันเส้นทางของการกระจายอำนาจหลังปีพ.ศ.2550 มีความคิดหลายเรื่องที่เข้ามาทั้งเรื่องที่ควรจะเกิดแล้วแต่ไม่เกิด เช่น การเกอดขึ้นของเมืองพิเศษ เมืองที่มีความพร้อมควรได้รับการพัฒนาให้เป็นเมืองพิเศษ เราพยายามทำกฎหมายอย่างน้อย 3-4 ฉบับ เช่น แม่สอด สมุย แหลมฉบัง แต่ไม่สำเร็จ
ในขณะเดียวกันในเส้นทางของเมืองพิเศษ ก็เกิดกระแสอันหนึ่งที่เป็นมายาคติกับท้องถิ่นมาโดยตลอด คือท้องถิ่นทุจริต ท้องถิ่นไม่มีความพร้อม ท้องถิ่นแสวงหาประโยชน์ ฯลฯ ซึ่งอีกมุมหนึ่งของกระบวนการมายาคติ ดังกล่าว กลับเป็นเรื่องดี เพราะการกระจายอำนาจ ทำให้เกิดระบบตรวจสอบและกลไกของการตรวจสอบที่เข้มแข็งประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของอำนาจมากขึ้น เวลาที่สอนเรื่องการกระจายอำนาจ ผมจึงพูดเสมอว่าเราได้ย้ายอำนาจการตัดสินใจการแก้ปัญหาไปไว้ที่ใกล้ปัญหา ก็จะทำให้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการปัญหามีประสิทธิภาพ
การกระจายอำนาจคือ การให้เจ้าของบ้าน เป็นเจ้าของ เป็นผู้ผลิต แม้ว่าจะเกิดการคอรัปชั่น จะอย่างไรก็จะยังคงเหลือให้กับประชาชนคนท้องถิ่น และสิ่งที่ทำสิ่งที่ผลิตย่อมถูกใจคนท้องถิ่นมากกว่า จากส่วนกลางมาดำเนินการให้ เช่นเดียวกับทฤษฎี ไอติม ที่ส่วนกลางส่งงบมาท้องถิ่นสุดท้ายจะเหลือแค่แท่งไอติม นี่คือความต่าง
ประชาชนตื่นแล้วพอใจกระจายอำนาจ
เตือนรธน.60 พยายามยึดอำนาจกลับส่วนกลาง
ผลการสำรวจความพึงพอใจล่าสุดของสถาบันพระปกเกล้า เมื่อประมาณวันที่ 19 ธันวาคม 2565 เมื่อพูดเรื่องการกระจายอำนาจ พบว่าประชาชนกว่า 90% พึงพอใจการทำงานมาก และค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้นในแง่ของการกระจายอำนาจมันอาจจะมีปัญหา อุปสรรคแต่เราก็เดินต่อด้วยการลดมายาคตินี้ การกระจายอำนาจจะสำเร็จหรือไม่จึงขึ้นอยู่กับว่าเราเชื่อมั่นในสิ่งนี้แค่ไหน
เส้นทางของการกระจายอำนาจที่เป็นเส้นทางที่น่าจะเป็นวัยเบญจเพส ขององค์กรท้องถิ่นมากที่สุด คือช่วง คสช.เป็นช่วงที่องค์กรท้องถิ่น การกระจายอำนาจไม่ได้รับการดูแล ขาดเจตนารมณ์ทางการเมืองที่ชัดเจนในเรื่องการกระจายอำนาจ กฎหมาย ระเบียบที่ออกมาในห้วงเวลานั้นเป็นกฎหมายและระเบียบบนความไม่ไว้วางใจ หลังปฏิวัติใหม่ๆ ไม่ให้มีการรักษาการ แต่ให้ ซี8 มาเป็นสภาฯสุดท้ายยอมรับความจริง ต้องกลับมาให้ผู้ที่เป็นอยู่รักษาการ และส่งผลให้มีวาระรักษาการนานกว่าปกติซึ่งองค์กรท้องถิ่นส่วนใหญ่จะชอบ และทำให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ คือคนเก่าล่วงไปเป็นจำนวนมาก คนรักษาแชมป์เหลือน้อยลง กลายเป็นคนหน้าใหม่เข้าสู่สภาเป็นจำนวนมาก ต่อเนื่องมาถึงรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2560 เป็นช่วงที่ไม่ค่อยสร้างบรรยากาศและเอื้ออำนายต่อ การกระจายอำนาจมากนัก
เราจะเห็นความพยายามในการปรับแก้กฎหมายหลายฉบับ เช่นกฎหมายแผนขั้นตอนการกระจายอำนาจ พยายามจะยกร่างใหม่เป็นกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องการกำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่ หน้าที่และอำนาจขององค์กรท้องถิ่น กฎหมายฉบับนี้ถูกยกร่างขึ้น ถูกประชาพิจารณ์ และถูกแขวน หลายครั้ง และหลายเรื่องเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญไปจากกฎหมายแผนขั้นตอนการกระจายอำนาจ เพราะถ้ากลับไปเทียบเคียงองค์กรท้องถิ่นจะได้รับมอบอำนาจอะไรก็ต่อเมื่อออกฎกระทรวง เมื่อก่อนการกระจายอำนาจใช้วิธีการว่ามีมติคณะกรรมการกระจายอำนาจมีมติก็ถ่ายโอนได้เลยวันนี้ต้องเอาไปใช้กฎกระทรวง
นอกจากนั้นในร่างกฎหมายฉบับนี้ยังขาดส่วนสำคัญในเรื่องของหมวดที่ว่าด้วยเรื่องของรายได้ท้องถิ่น ขณะที่กฎหมายแผนขั้นตอนการกระจายอำนาจ ปี พ.ศ.2542 องค์กรท้องถิ่นได้ภาษีมูลค่าเพิ่มไม่น้อยกว่าร้อยละ30 แต่ฉบับใหม่ไม่มี ส่วนประเด็นคณะกรรมการกระจายอำนาจได้ดีอย่างเดียว คือ ถูกยกอำนาจเป็นกรม นอกจากนั้น ทิศทางของการกระจายอำนาจ กลายเป็นการดึงอำนาจกลับไปอยู่ส่วนกลาง
ข้อพึงระวังของกฎหมายประมวลที่ร่างขึ้นมาใหม่ แม้ว่าอยู่ภายใต้การรับฟังความคิดเห็นหลายรอบที่กรมปกครองส่วนท้องถิ่น แต่มีประโยคที่สำคัญ ขึ้นต้นหรืออยู่หน้าข้อกฎหมายนั้นๆ คือ ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย หมายความว่าถ้ามีกฎหมายอื่นได้ให้อำนาจไว้แล้วกฎหมายฉบับใหม่เป็นรองทันที เช่นเดียวกับ ประโยคท้ายที่จะบุว่าทั้งนี้ให้เป็นไปตามที่กระทรวงมหาดไทยออกระเบียบกำหนดแปลว่าถ้าไม่ออกก็ทำไม่ได้
ตลอดเส้นทางการเดินทางของขบวนรถไฟสายกระจายอำนาจ พบว่ามีอุปสรรคมากมาย แต่คำถามต่อมาคือ จุดหมายปลางทางของขบวนรถไฟสายนี้คือที่ไหน ผมคิดว่าปลายทางของการกระจายอำนาจในที่สุดคือการทำให้องค์กรท้องถิ่นสามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีอิสระ มีความแตกต่างหลากหลาย เลือกในทิศทางที่ตัวเองอยากทำมีธรรมาภิบาล ปลดล็อคการควบคุม เพราะฉะนั้นปลายของรถไฟขบวนนี้เป็นปลายทางที่ยังคงต้องเดินต่อไป เรายังต้องทำหน้าที่ฟันฝ่าอุปสรรค ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นของประชาชน และสามารถทำหน้าที่ตอบสนองที่แตกต่างและหลากลายได้ นี่คือเสน่ห์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งจะเห็นว่าในทุกขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงจะได้รับการสนับสนุนและเห็นไปในทิศทางเดียวกันจากประชาชนมากขึ้นนั้นแปลว่าทิศทางของการกระจายอำนาจมันอยู่ในกระความคิดของประชาชนคนในสังคมมากขึ้นแม้กระทั่งในสภาผู้แทนราษฎร แม้ต่างพรรคแต่ก็ยังมีแนวคิดร่วมที่เหมือนกัน
ปลายทางกระจายอำนาจ
ทุกฝ่ายต้องร่วมมือ
ศาสตราจารย์วุฒิสาร กล่าวว่า เรื่องการกระจายอำนาจ เป็นเรื่องที่ต้องการความร่วมมือจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการรุ่นใหม่ นักการเมือง พรรคการเมือง ฯลฯ องค์กรท้องถิ่นจะสามารถเข้าไปสร้างสัญญาประชาคม กับภาคส่วนต่างๆนี้ได้อย่างไรนี้เป็นเรื่องสำคัญผมมีความเชื่อมั่นว่าหากองค์กรท้องถิ่น สามารถร่วมมือกับนักวิชาการ นักการเมือง ตัวขององค์กรท้องถิ่นเองพิสูจน์ถึงความมีประสิทธิภาพในการตอบสนองความต้องการของประชาชนได้สมบูรณ์ทุกมิติหรือไม่ และสุดท้ายสามารถสร้างความน่าเชื่อถือว่าการกระจายอำนาจเป็นทิศทางของการพัฒนาประเทศ แก้ปัญหาประเทศได้ มันจะทำให้บ้านเมืองเปลี่ยน ประเทศเปลี่ยน นั่นคือ คำตอบของก้าวแห่งความสำเร็จของการกระจายอำนาจในอนาคต อย่างไรก็ตามNext Station ของสถานีกระจายอำนาจ ยังมีอีกหลายสถานีที่จะต้องก้าวเดินต่อไป ”ศาสตราจารย์วุฒิสาร กล่าว
พร้อมทั้งกล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญที่ทำให้รถไฟขบวนกระจายอำนาจก้าวเดินต่อมาถึงปัจจุบันอย่างมั่นคง คือ การเสริมสร้างสมรรถนะให้ท้องถิ่น โดยทำให้ท้องถิ่นมีความรู้ความเข้าใจในภารกิจและสามารถทำภารกิจให้บรรลุได้มากขึ้น และกลับมาสู้มิติของการพัฒนา ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน วันนี้แทบจะไม่มีแล้วในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน วันนี้หลายท้องถิ่นทำเรื่องคุณภาพชีวิต ทำเรื่องวัฒนธรรม ทำเรื่องเกี่ยวกับคุณภาพของผู้สูงอายุในแนวลึก รถไฟขบวนกระจายอำนาจไม่ใช่เป็นโบกี้ที่ลากกันไป แต่เป็นรถไฟของแต่ละขบวน ท้องถิ่นทุกแห่ง 7 พันกว่าแห่ง คือขบวนรถไฟที่จะเดินไป โดยมีขั้นตอนในอำนาจหน้าที่ ในแต่ละขั้นตอนที่ดีขึ้นกว่าเก่า ลึกกว่าเก่า
องค์กรท้องถิ่นต้องตระหนักเสมอว่า หากต้องการที่จะนำพาประชาชนไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ต้องทำหน้าที่ค้นหาว่ายังมีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่รู้ว่าสถานีนี้อยู่ที่ไหน และจะได้ประโยชน์อย่างไรมากกว่าที่จะกล่าวว่าเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง นี่คือหน้าที่ของท้องถิ่นที่ลึกซึ้งกว่าราชการ
ท้องถิ่นต้องรู้ต้นทุนตัวเอง
นักวิชาการต้องมีบทบาทหนุน
ที่สำคัญหน้าที่ขององค์กรท้องถิ่น คือ การกำหนดหมุดหมายว่าท้องถิ่นต้องการให้อนาคตเป็นอย่างไร เราจะใช้จุดแข็ง ศักยภาพ หรือ อัตตลักษณ์ ให้เป็นเอกลักษณ์และเกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างไร เราจะใช้โอกาสจากต้นทุนท้องถิ่น ทำให้บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร อาทิ การปรับตัวในเรื่องของการรับมือกับยุคดิจิทัล การรับมือกับโรคระบาด และการรับมือกับคนรุ่นใหม่ ซึ่งมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงสังคม ส่งผลให้องค์กรท้องถิ่นต้องปรับตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรท้องถิ่นต้องมีความพร้อมที่จะเป็นผู้ถูกตรวจสอบ หากเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ทำประชาชนได้ประโยชน์และองค์กรท้องถิ่นไม่ได้โกงซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่ต้องมีความอาจหาญในการทำงาน อยากจะมีตำนานอย่างไรก็ลงมือทำอย่างนั้น
สุดท้ายขบวนรถไฟกระจายอำนาจ ขบวนสุดท้าย ที่มีความสำคัญคือ นักวิชาการ เป็นกลุ่มที่มีคุณค่าในกระบวนการกระจายอำนาจ ต้องสร้างความเชื่อมั่นในอุดมการณ์และหลักการให้ขบวนถรไฟกระจายอำนาจ ก้าวเดินไปอย่างแข็งแรงและประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะการรังสรรค์ความรู้ใหม่ให้กับองค์กรท้องถิ่น เช่น ทำให้เห็นปัญหา และเกิดการะบวนการแก้ไข โดยเติมเต็มความรู้ในมิติต่างๆจะต้องถ่ายทอดออกไปสู่ท้องถิ่น เพื่อช่วยสนับสนุนองค์กรท้องถิ่นทำงานได้ดีกว่าเก่า โดยนักวิชาการเป็นคนเคลื่อนและเปลี่ยนเกมการกระจายอำนาจ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยแผ้วถางทางใหม่ๆให้เกิดการกระจายอำนาจที่เป็นรูปธรรม ให้กับองค์กรท้องถิ่น
แนะอปท.ใช้ 5 ข้อดูแลท้องถิ่น
สรุปการก้าวเดินมาถึงช่วงวัยเบญจเพส ของขบวนรถไฟสายกระจายอำนาจ จะต้องแก้ไขโดย 1.การมีสติ รู้ว่าหน้าที่ขององค์กรท้องถิ่นต้องทำอะไร สัญญากับประชาชนว่าอย่างไร 2.ความไม่ประมาท องค์กรท้องถิ่นต้องหมั่นตรวสอบสิ่งที่ทำนั้นตรงกับการแก้ปัญหาหรือไม่ หมั่นตรวจสอบว่า มีอะไรใหม่ๆอีกไม่ที่จะต้องลงมือทำ และปล่อยปละละเลยจนเวลาล่วงเลยให้เสียโอกาส และ 3.ต้องระมัดระวัง ขององค์กรท้องถิ่น คือการตรวจสอบระเบียบ ข้อกฎหมาย สิ่งที่เป็นเงื่อนไขทางกฎหมายที่เราจะต้องทำ 4.มองโลกในแง่ดี ให้มองทุกอย่างที่ก้าวมาถึงวันนี้โอกาส กลับมาถามตัวเองว่าเราทำเต็มที่หรือยัง กลับมาถามตัวเองว่างบประมาณที่มีอยู่นี้ถ้าจะทำให้ดีกว่านี้ ต้องทำอย่างไร เลิกบอกว่าขอความเห็นใจจากรัฐบาล เพราะเขาไม่ชอบการกระจายอำนาจ ฉะนั้นโอกาสที่จะสนับสนุนองค์กรท้องถิ่นอย่างจริงจังเป็นไปได้น้อย อย่ามองอุปสรรคเป็นเครื่องกีดขวางแต่ให้มองว่าเป็นโอกาสที่ท้าทาย และข้อสุดท้าย 5.ให้หมั่นทำบุญ คือการทำความดี สูงสุดขององค์กรท้องถิ่นคือ การทำให้ประชาชนมีความสุขได้รับประโยชน์สูงสุด การทำให้ปัญหาของประชาชนได้รับการแก้ไข การยกระดับประชาชนที่ขาดโอกาสขึ้นมาให้เป็นผู้ได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
“ฝากบอกองค์กรท้องถิ่นทุกแห่ง กลับไปทบทวนและสำรวจว่า ตัวเองอยู่ในขบวนรถไฟสายกระจายอำนาจ ขบวนไหน ต้องทำหน้าที่อะไร ให้สมบูรณ์เพื่อเป็นกำลังหลักของการพัฒนาท้องถิ่นและประเทศ เพราะการกระจายอำนาจ เป็นคำตอบที่สำคัญของบ้านเมือง เป็นคำตอบที่สำคัญในการดูแลชีวิตประชาชนและมีความสำคัญต่อการพัฒนาประชาธิปไตยให้สังคมไทย ผมขอให้กำลังใจทุกท่านที่อยู่ในห้องสัมมนาแห่งนี้ ที่จะช่วยกันนำพาองค์กรท้องถิ่น เพราะทุกคนคือ คนที่อาสาประชาชนมาไม่มีใครบังคับ เพราะฉะนั้นต้องทำหน้าที่ให้เต็มที่และที่สำคัญที่สุด ถ้าหลายท่านยังนับถือว่าผมเป็นอาจารย์ผมก็อยากให้ทุกคนเป็นศิษย์มีครู”ศาสตราจารย์วุฒิสาร กล่าวทิ้งท้าย
หลังจากนั้นเวทีสัมมนาดำเนินรายการต่อด้วยหัวข้อ “จับตาอนาคตการกระจายอํานาจและการปกครองท้องถิ่นไทย” ประกอบด้วย 4 มิติ คือ 1. มิติด้านกฎหมายและกฎระเบียบ โดย นายบรรณ แก้วฉ่ำ 2. มิติด้านโครงสร้าง อํานาจ หน้าที่ และการกํากับดูแล โดย รศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาล 3. มิติด้านการหารายได้ โดย รศ.ดร.อัชกรณ์ วงศ์ปรีดี 4. มิติด้านการจัดบริการสาธารณะ โดย รศ.ดร.ธัชเฉลิม สุทธิพงษ์ประชา ดําเนินรายการโดย ผศ.ดร.วสันต์ เหลืองประภัสร์
และกิจกรรมที่ 3 Inspire จุดประกายความคิด สร้างสรรค์พัฒนาท้องถิ่น โดยรวบรวมผลงานเป็นรูปแบบสิ่งพิมพ์จากกรณีศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีผลงานเป็นเลิศใน 10 ด้านของการทำงาน ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่านั้น ได้แก่1. การพัฒนาและเสริมสร้างธรรมาภิบาล 2. การลดความเหลื่อมในสังคม 3. การเสริมสร้างความเท่าเทียมทางเพศ 4. การเสริมสร้างสังคมสันติสุขและสมานฉันท์ 5. การเสริมสร้างนวัตกรรมด้านการศึกษา 6. การส่งเสริมคุณภาพชีวิต 7. การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ท่องเที่ยว เกษตร และธุรกิจขนาดย่อม 8. การอนุรักษ์ต่อยอดสร้างสรรค์ ศิลปะ วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น จารีตประเพณี 9. การบริหารจัดการและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และ10. การใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาบริการสาธารณะ