กระทรวงอุตสาหกรรมสานพลังชุมชน ดึงอัตลักษณ์ ท้องถิ่น เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ชุมชน พร้อมจับมือเครือข่ายภาครัฐและเอกชน เดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง เน้นการพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม หวังยกระดับเชื่อมโยงสู่สากล พร้อมทั้งเปิดตัวตราสัญลักษณ์ CIV MARK เพื่อสร้างความตระหนักรู้และประชาสัมพันธ์โครงการ ยกระดับหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV) สู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
ดร.สมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village; CIV) ควบคู่ไปกับการพัฒนา การท่องเที่ยว ที่จะช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชนเพิ่มขึ้น โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village : CIV) หรือหมู่บ้าน CIV มาตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน มีหมู่บ้านที่ผ่านการพัฒนาแล้วกว่า 107 หมู่บ้าน และหมู่บ้านที่จะเข้ารับการพัฒนาอีกกว่า 215 หมู่บ้าน ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมจะมีการส่งเสริม พัฒนา และสร้างให้ชุมชนได้ค้นพบเสน่ห์แห่งวิถีที่น่าสนใจ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับอัตลักษณ์ของชุมชน พร้อมทั้งช่วยส่งเสริมให้ชุมชนได้ค้นพบช่องทางในการสร้างจุดขาย โดยตั้งเป้าหมายจะมีหมู่บ้าน CIV ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย ภายในระยะเวลา 5 ปี
นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งโครงการซึ่งถือเป็นการเชื่อมโยงเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว ได้แก่ โครงการสร้างสรรค์อัตลักษณ์สินค้าอุตสาหกรรมชุมชนสู่สากลหรือ “โครงการไทยเด่น” Product Hero ประจำจังหวัด 77 ผลิตภัณฑ์ 77 จังหวัด ที่มุ่งเน้นการสร้างเศรษฐกิจชุมชนโดยนำวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ผสมผสานกับแนวคิดสร้างสรรค์ถ่ายทอดผ่านสินค้าของแต่ละชุมชนออกมาเป็นสินค้าของฝาก ของที่ระลึก ที่มีศักยภาพ มีความโดดเด่น เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านวิถีชีวิตของชุมชน รวมถึงสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับต้นทุนทั้งวัตถุดิบและบริการด้านท่องเที่ยว ซึ่งตอนนี้เรากำลังประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งภาคเอกชน เช่น ธนาคาร เพื่อสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ เป็นการช่วยให้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชนที่เป็นสินค้าเด่น สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้นซึ่งกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรม จังหวัดก็ได้มีส่วนในการช่วยกันลงพื้นที่เข้าไปหาผู้ประกอบการ เข้าไปพัฒนาและช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์ให้ดี ให้เด่น ให้ดังยิ่งขึ้น”
นนทนี แสงทับทิมหนึ่งในผู้ประกอบการสินค้าไทยเด่นจาก บจก. แสงทับทิม อินเตอร์ จ.สมุทรสงคราม เจ้าของผลิตภัณฑ์ “วุ้น น้ำมะพร้าวเส้นในน้ำผลไม้ แบรนด์ Coco Light (โคโค่ไลท์)” กล่าวว่า โครงการไทยเด่นได้เข้ามาช่วยในเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์และ การตลาด โดยเฉพาะการตลาด ออนไลน์ มีการสนับสนุนการสร้างเว็บไซต์และแบรนด์ สินค้า ช่วยทำให้ผู้ประกอบการ มีช่องทางจำหน่าย และ มีความรู้ในการพัฒนาสินค้าให้มีมาตรฐานในด้านต่างๆ มากขึ้น เช่นเดียวกับ สุพัตรา แสงกองมี วิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตผลิตภัณฑ์จากผ้า บ้านสะง้อ จ.บึงกาฬ เจ้าของผลิตภัณฑ์ไทยเด่น “ผ้าขาวม้า ดารานาคี” ที่บอกว่า โครงการไทยเด่นได้เข้ามาช่วยวิเคราะห์ปัญหาทีละจุด และช่วยชี้ให้เห็นถึงศักยภาพหรือขีดความสามารถของผลิตภัณฑ์ที่มีมากกว่าที่ เธอคิด รวมถึงการสร้างแบรนด์ดิ้งที่เธอยังไม่คุ้นเคย โดยโครงการไทยเด่นได้เข้ามาช่วยแนะนำให้เห็นว่าจุดเด่น ของผ้านาคี คือเป็นผ้าที่หมักจากโคลนที่ดีที่สุดของ แม่น้ำโขง คือ โคลนที่อยู่บริเวณสะดือ แม่น้ำโขง หรือ จุดที่ลึกที่สุดของแม่น้ำโขง ซึ่งอยู่ที่ จ.บึงกาฬ ซึ่งถือเป็นจุดขายสำคัญของผลิตภัณฑ์
ด้าน กอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวทิ้งท้ายว่า ทั้ง 2 โครงการเป็นการดำเนินงานในรูปแบบของการบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยในส่วนของโครงการ “หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ Creative Industry Village: CIV” นั้น จะต้องเป็นการบูรณาการหลายภาคส่วน ภายใต้แนวคิดและการน้อมนำศาสตร์พระราชาที่เน้น “การระเบิดจากข้างใน” มาเป็นแนวทางในการพัฒนา สร้างความเข้มแข็งให้คนในชุมชนมีความพร้อมที่จะรับและร่วมเป็นพลังในการพัฒนาก่อน ในขณะที่ “โครงการไทยเด่น” นั้น กสอ. ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่ง จากหน่วยงานเครือข่ายต่างๆ ในการเข้าร่วมการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายเข้าสู่กระบวนการพัฒนาเป็นต้นแบบสินค้า พร้อมจัดทำบรรจุภัณฑ์ที่มีความสวยงาม ซึ่งได้ดำเนินการพัฒนารวม 77 ผลิตภัณฑ์ จาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ อีกทั้งยังได้มีการเสริมความรู้และช่องทางการตลาดออนไลน์ ให้แก่ผู้ผลิตในชุมชน รวมถึงได้ดำเนินกิจกรรมสร้าง การรับรู้และประชาสัมพันธ์สินค้าเด่นของแต่ละจังหวัดให้เป็นที่รู้จักทั้งแหล่งท่องเที่ยว โดยเฉพาะหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV) และสินค้าเด่นของพื้นที่นั้นๆ อย่างกว้างขวางผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ Facebook, Youtube และการจัดรายการเรียลิตี้ทางทีวี เป็นต้น โดยได้เปิดตัวตราสัญลักษณ์ CIV MARK เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักและประชาสัมพันธ์โครงการยกระดับหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV) สู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนต่อไป