สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เผยผลสรุปประชุมร่วม มท. กรมบัญชีกลาง และสำนักงบประมาณ แก้ปัญหาจากการเปลี่ยนผ่าน พ.ร.บ.วิธีงบประมาณฯ 2502 เป็น พ.ร.บ.วิธีงบประมาณฯ 2561
วันที่ 19 เมษายน 2564 ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พลเอก วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยนายอดิศร ร่มสนธิ์ รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะ ร่วมประชุมกับ กระทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมบัญชีกลาง และสำนักงบประมาณ ผ่านระบบ Zoom หลังอปท.ร้องเรียนกรณีมีปัญหาและข้อจำกัดในการปฏิบัติหน้าที่อันเกิดจากพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561
พลเอก วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เผยว่า สืบเนื่องจากสำนักงานเทศบาลนครยะลาได้ร้องเรียนกรมบัญชีกลางกรณีให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เร่งรัดดำเนินการเบิกจ่ายงบประมาณที่ได้มีการกันเงินและขอขยายเวลาเบิกเงินจากคลังไว้ก่อนพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 มีผลใช้บังคับ ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2563 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณ ปี พ.ศ. 2555 – 2562 ที่ได้ขอกันไว้ได้ทันภายในระยะเวลาที่กำหนด ทำให้งบประมาณนั้นต้องถูกพับไปโดยผลของกฎหมาย
หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความจำเป็นต้องจัดหางบประมาณเพื่อเบิกจ่ายให้แก่คู่สัญญาที่ได้เข้าทำสัญญาโดยสุจริตไว้แล้ว และอยู่ระหว่างการบริหารสัญญา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นก็อาจพิจารณาโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายหรือมีความจำเป็นน้อยกว่าไปตั้งเป็นรายการใหม่เพื่อเบิกจ่ายให้แก่คู่สัญญา หากเงินงบประมาณมีไม่เพียงพอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงิน อาจขอทำความตกลงกับผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อนำเงินสะสมไปใช้ในกรณีดังกล่าว ซึ่งสำนักงานเทศบาลนครยะลาเห็นว่าพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 มาตรา 43 และมาตรา 55 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย เป็นการสร้างปัญหาความอิสระในการบริหาร การจัดทำบริการสาธารณะ ไม่ส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
พลเอก วิทวัส กล่าวต่อว่า พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 มีเจตนารมณ์เพื่อให้การบริหารจัดการการใช้งบประมาณของรัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทุกหน่วยงานของรัฐที่ใช้งบประมาณแผ่นดินต้องมีวินัยการเงิน – การคลัง รู้จักวางแผนการใช้จ่ายเงินงบประมาณอย่างถูกต้อง มีระบบ และเกิดประโยชน์อย่างสูงสุด ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกหน่วยงานต้องปรับวิธีการทำงานให้สอดคล้องกับกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งกรมบัญชีกลางได้ดำเนินการแจ้งเตือนให้หน่วยงานทราบก่อนถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 ว่าหากหน่วยงานไม่อาจเบิกจ่ายงบประมาณได้ทัน งบประมาณรายการนั้นต้องพับไปตามผลของกฎหมาย โดยคาดว่ายังมี อปท. อื่น ๆ จากกว่า 7,000 แห่งทั่วประเทศ ที่อาจจะประสบปัญหาลักษณะเดียวกันนี้ด้วย ซึ่งจากการหารือในวันนี้เพื่อให้เกิดแนวทางแก้ไขปัญหาเชิงระบบ ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงได้มีคำวินิจฉัย ดังนี้
- พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 มาตรา 43 และมาตรา 55 ไม่มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
- สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ทัน และเปลี่ยนแปลงแก้ไขงบประมาณไม่ได้ รวมทั้งไม่มีเงินสะสมเพียงพอที่จะนำไปจ่ายให้กับคู่สัญญา มอบหมายให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นร่วมกับกระทรวงมหาดไทยพิจารณากลั่นกรองโครงการของอปท. ที่เกิดปัญหาในลักษณะดังกล่าว โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยลงนามขอใช้งบกลางไปยังสำนักงบประมาณตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดสรรงบประมาณให้อปท. ดำเนินการได้ทันในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 นี้
- ให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นขอความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัดในการติดตาม กำกับดูแล การบริหารจัดการงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน ระหว่างพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 กับพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 รวมทั้งชี้แจงทำความเข้าใจ ให้คำแนะนำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดทำร่างขอบเขตงาน (Terms of Reference : TOR) ตลอดจนกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเป็นการล่วงหน้า เพื่อที่ว่าเมื่องบประมาณของปีใหม่ได้รับการจัดสรรมาแล้วจะได้ลงนามในสัญญาได้และใช้จ่ายงบประมาณได้ทันตามกำหนดเวลา อันเป็นการรักษาวินัยการเงินการคลังของประเทศโดยรวมอีกด้วย