จากกรณีที่กรมขนส่งทางบกทำหนังสือถึงคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อขอความเห็น กรณี เทศบาลนครลำปางเรียกเก็บค่าเช่าช่องจำหน่ายตั๋วโดยสารภายในอาคารสถานีขนส่งผู้โดยสาร จังหวัดลำปาง หลังจาก กรมการขนส่งทางบกได้ถ่ายโอนภารกิจการบริหาร การดำเนินการสถานีขนส่งผู้โดยสาร จังหวัดลำปาง และทำการส่งมอบทรัพย์สินและโอนอาคารสถานีและขนส่งผู้โดยสารจังหวัดลำปางให้กับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว ตามแผนการกระจายอำนาจให้แก่องค์ปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับ 2 ) พ.ศ. 2551 และแผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับ 2)
เทศบาลนครลำปางจึงเข้ามาบริหารและดำเนินกิจการสถานีขนส่งฯ มีหน้าที่จัดให้มีและควบคุมการจอดรถ รวมทั้งมีสิทธิใช้สอย และมีรายได้อันเกิดจากการทำกิจการที่จอดรถของเทศบาลฯ ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 โดยถือปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วย การจัดหาประโยชน์จากทรัพย์สินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2543
ในขณะที่กรมการขนส่งทางบก มีข้อโต้แย้งกรณีดังกล่าว โดยให้ความเห็นโดยสรุปว่า ตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 กำหนดให้สถานีขนส่งเป็นสถานที่ซึ่งใช้เป็นศูนย์รวม กระจาย และสับเปลี่ยนรถ รวมทั้งเป็นสถานที่ให้บริการต่างๆ เกี่ยวกับการขนส่ง มิใช่เพียงสถานที่หยุดรับส่งผู้โดยสาร หรือที่จอดรถเท่านั้น ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่จัดสรรพื้นที่เพื่อให้ผู้ประกอบการขนส่งใช้เป็นที่จำหน่ายตั๋วอย่างเพียงพอและเป็นระเบียบ อีกทั้ง ตามระเบียบว่าด้วยการรับจ่ายเงินค่าบริการสถานีขนส่ง กรมการขนส่งทางบก พ.ศ 2532 มิได้กำหนดให้ค่าเช่าช่องขายตั๋วโดยสารเป็นรายรับที่เกิดจากการดำเนินกิจการสถานีขนส่งฯ ดังนั้นเทศบาลนครลำปางจึงไม่อาจเก็บค่าเช่าดังกล่าวได้
จากความเห็นต่างของทั้งสองหน่วยงาน เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องทำหมด ได้สรุปว่า เทศบาลนครลำปางสามารถเรียกเก็บค่าเช่าช่องจำหน่ายตั๋วโดยสารภายในอาคารสถานีขนส่งผู้โดยสารให้เหมาะสมและถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกำหนดได้ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 66 (3) 9 แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 ประกอบกับระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วย การจัดหาประโยชน์จากทรัพย์สินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2543
ดร.กิตติภูมิ นามวงค์ นายกเทศมนตรีนครลำปาง เปิดเผยกับ ผู้นำท้องถิ่นออนไลน์ ว่า หลังจากที่เทศบาลรับภารกิจถ่ายโอนสถานีขนส่งฯ จังหวัดลำปาง มาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2550 เทศบาลได้มีการปรับปรุงสถานีขนส่งฯ ทั้งทาสีอาคารสถานีขนส่งใหม่ ปรับปรุงห้องสุขาให้ได้มาตรฐานและเปิดให้บริการฟรี จัดทำระบบสุขาภิบาลให้ได้มาตรฐาน จัดทำทางลาดผู้พิการ ปรับปรุงระบบเครื่องเสียงเพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์การเดินรถ ปรับปรุงระบบไฟฟ้าแสงสว่างภายในอาคารฯ ติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่มความปลอดภัยให้กับประชาชน ติดตั้งโทรทัศน์ LED สำหรับให้บริการประชาชน ปรับปรุงระบบประปา จัดซื้อเก้าอี้สำหรับบริการประชาชนนั่งพักคอยบริเวณชานชาลาสถานีขนส่ง และทำการปรับปรุงขยายพื้นที่ช่องจำหน่ายตั๋วให้มีความสะดวกเป็นระบบระเบียบมากขึ้น โดยใช้งบประมาณไปกว่า 3 ล้านบาท
นายกเทศมนตรีนครลำปาง กล่าวต่อว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการการกระจายอำนาจฯ จ.ลำปาง มีมติเห็นชอบในเดือนมกราคม 2561 ให้เก็บรายได้จากค่าเช่าช่องขายตั๋วโดยสารจากผู้ประกอบการ ปัจจุบันมีทั้งหมด 19 ราย เป็นบริษัทฯ เอกชน 18 ราย และรัฐวิสาหกิจ 1 ราย ในอัตราค่าเช่า ตารางเมตรละ 100 บาท ซึ่งก่อนที่จะดำเนินการ ได้มีการเรียกประชุมและส่งหนังสือชี้แจงเพื่อให้ผู้ประกอบการทั้งหมดเข้าใจ ซึ่งผู้ประกอบการส่วนหนึ่งเข้าใจและยินดีให้ความร่วมมือ แต่ก็มีอีกส่วนหนึ่งที่ส่งข้อโต้แย้งไปยังสำนักงานขนส่งจังหวัด ต้นสังกัดโดยกรมการขนส่งทางบกจึงได้ส่งหนังสือขอหารือต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้พิจารณาเรื่องดังกล่าว
“เทศบาลนครลำปาง น่าจะเป็นกรณีแรกที่มีการขอให้กฤษฎีกาชี้ขาดในเรื่องการจัดเก็บรายได้ค่าเช่าช่องขายตั๋ว ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะอยากให้ทุกอย่างดำเนินไปด้วยความถูกต้อง ไม่ให้มีปัญหาตามมาภายหลัง และเพื่อให้เป็นบรรทัดฐานแก่ อปท. อื่นๆ ต่อไป” ดร.กิตติภูมิ กล่าว
กดที่นี่เพื่ออ่านหนังสือคณะกรรมการกฤษฎีการเพิ่มเติม