รศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว เปิดเผยมติคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อพัฒนาการจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เกี่ยวกับการชดเชยรายได้ให้แก่ อปท. ที่ได้รับผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่มีนโยบายลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างร้อยละ 90 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 เฉพาะในส่วนของเทศบาลตำบล (ทต.) และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ ในปีงบประมาณ 2564 ผ่านกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น
โดยมีหลักการในการชดเชยและจัดสรรงบประมาณดังนี้
- จัดสรรให้แก่ อบต. และ ทต.ในวงเงินประมาณ 10,067.59 ล้านบาท ให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เดือนมิถุนายน 2559 ที่ให้คำนึงถึงผลกระทบและประสิทธิภาพในการบริหารจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตามแนวทางที่อนุกรรมการฯ กำหนดและเสนอให้ คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ให้ความเห็นชอบ และประกาศ ก.ก.ถ. เพื่อจัดสรรเงินชดเชยนี้ต่อไป
- การชดเชยรายได้ที่ลดลง จะจัดสรรให้เฉพาะ อปท. ที่มีผลการจัดเก็บลดลงจากปี 2562 เท่านั้น หาก อปท. ใดมีรายได้ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สูงขึ้นกว่าเดิมที่เคยจัดเก็บได้จากภาษีโรงเรือนและที่ดินรวมกับภาษีบำรุงท้องที่ จะมิได้รับการจัดสรรเงินชดเชย และเงินชดเชยที่จัดสรรจะไม่เกินกว่าเงินรายได้ภาษีที่ลดลง
- กรณีของเทศบาลนคร เทศบาลเมือง เมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร ให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นรวบรวมข้อมูลและวงเงินเสนอต่อรัฐบาล เพื่อขอรับการจัดสรรเงินชดเชยจากงบกลางต่อไป
- เงินชดเชยนี้จะจัดสรรในลักษณะเงินอุดหนุนทั่วไปให้แก่ อปท. สามารถนำไปใช้จ่ายได้ภายใต้กรอบภารกิจ หากใช้ไม่หมดให้ตกเป็นเงินสะสมของ อปท.
- เงินที่ได้รับการชดเชยนี้มีจำนวน 10,067.59 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 84.5% จากยอดเงินภาษีที่ลดลงราว 11,900 ล้านบาท (เฉพาะส่วนของ อบต. และ ทต.) ดังนั้น อปท. อาจมิได้รับการจัดสรรชดเชยเต็มจำนวน
- ขอให้ อปท. รีบสรุปผลการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับปี 2563 และรายงานข้อมูลผลการจัดเก็บผ่านระบบ Info ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นโดยเร็ว เพื่อให้สามารถจัดสรรเงินชดเชยได้โดยด่วนต่อไป
- จากนี้ อนุกรรมการฯ จะนำเสนอผลการประชุมต่อ ก.ก.ถ. เพื่อให้ความเห็นชอบ และออกประกาศ ก.ก.ถ. เพื่อจัดสรรเงินชดเชยตามหลักเกณฑ์นี้ต่อไป ทั้งนี้ คาดว่าจะมีการประชุม ก.ก.ถ. ราวกลางเดือนมีนาคม และจะสามารถออกประกาศฯ ได้ราวกลางเดือนเมษายน 2564
สำหรับวิธีปฏิบัติมีดังนี้
- การประเมินรายได้ภาษีที่ลดลง ให้พิจารณาส่วนต่างของภาษีระหว่างปี 2562 และ 2563 โดยรายได้ในปี 2562 ให้คำนวณจากยอดการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน รวมกับภาษีบำรุงท้องที่ ณ วันที่ 30 กันยายน 2562 ส่วนรายได้ในปี 2563 ให้คำนวณจากยอดการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563
- การคำนวณเงินชดเชยจะพิจารณาตามสูตร 10 : 90 ซึ่งเป็น 2 ส่วนดังนี้
2.1 เงินจัดสรรตามประสิทธิภาพ สัดส่วนร้อยละ 10 ของวงเงินที่ได้รับการจัดสรร โดยจะคำนวณตามผลคะแนนประเมิน LPA ด้านการบริหารงานคลังของปี 2563 หากจัดสรรส่วนนี้ไม่หมด ให้นำไปรวมกับส่วนที่ 2
2.2 เงินจัดสรรเพื่อชดเชยรายได้ภาษีที่ลดลง ให้จัดสรรเฉลี่ยในสัดส่วนเท่ากันของวงเงินที่มี แต่จะไม่เกินกว่ายอดรวมเงินรายได้ภาษีที่ลดลง
2.3 เงินชดเชยทั้ง 2 ส่วนนี้เมื่อรวมกันแล้ว จะต้องไม่เกินกว่ายอดรายได้ภาษีที่ลดลงของแต่ละ อปท.
- ผลการจัดสรรตามนี้จะทำให้สัดส่วนการชดเชยรายได้ภาษีที่ลดลงให้แก่ อปท. ขั้นต่ำสุดจะได้รับการชดเชยราวร้อยละ 88 เศษ และสัดส่วนที่สูงสุดจะได้รับชดเชย 100% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผลการประเมิน LPA และยอดรายได้ภาษีที่ลดลงของแต่ละ อปท.
- วงเงินชดเชยที่ได้รับการจัดสรรมาจากงบประมาณแผ่นดินนี้จะจัดสรรครบถ้วนทั้งหมดให้แก่ อปท. ที่ได้รับผลกระทบรายได้ดังกล่าว โดยจะไม่มีวงเงินเหลือที่ต้องคืนคลัง
- อนุกรรมการฯ ได้ขอให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมกับสำนักงาน ก.ก.ถ. จัดทำร่างประกาศ ก.ก.ถ. ตามหลักเกณฑ์นี้ และคำนึงถึงความสะดวกของ อปท. ที่เมื่อได้รับเงินชดเชยแล้ว สามารถนำไปเบิกจ่ายได้อย่างคล่องตัว โดยเฉพาะในระหว่างที่ อปท. ยังไม่มีผู้บริหารท้องถิ่นและ/หรือสภาท้องถิ่นปฏิบัติหน้าที่อยู่
- อนุกรรมการฯ ได้ขอให้สมาคม อปท. ได้แจ้งสื่อสารทำความเข้าใจกับสมาชิก อปท. ให้เข้าใจโดยทั่วกันต่อไป
รศ.ดร.วีระศักดิ์ ระบุทิ้งท้ายว่า ทั้งนี้ หากท่านใดมีข้อสงสัยหรือมีข้อท้วงติงประการใด ขอให้สอบถามหรือส่งความเห็นเพิ่มเติมได้ครับ ผมรบกวนขอด่วนภายใน 1-2 สัปดาห์ เพื่อจะทำเรื่องเสนอต่อที่ประชุม ก.ก.ถ. ต่อไป