close

หน้าแรก

menu
search

เจาะลึกข้อดี – ข้อเสีย ภาษีที่ดินใหม่! ยันชาวบ้านไม่ต้องกังวล แต่เศรษฐีมีหนาว

schedule
share

แชร์

 วันที่ 20 ธันวาคม 2562 รายการ “ฟังชัดๆ ถนอมจัดให้” ทางช่อง NBT 2HD ได้มีการสนทนาในประเด็น “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อพัฒนาท้องถิ่น” โดยมี นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น  และนางวิภา ธูสรานนท์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการคลังท้องถิ่น มาร่วมให้รายละเอียดในประเด็นดังกล่าว

  พระราชบัญญัติ (พรบ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2562 เดิมกำหนดให้เริ่มจัดเก็บภาษีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป แต่เนื่องจากกฎหมายฉบับรองจำนวน 8 ฉบับยังไม่แล้วเสร็จ กระทรวงมหาดไทยจึงกำหนดให้ขยายเวลาในการดำเนินการแก่เจ้าหน้าที่ ซึ่งมีหน้าที่ดำเนินการจัดเก็บภาษีให้สามารถปฏิบัติงานได้ครบถ้วน โดยเลื่อนการแจ้งประเมินภาษี จากเดือนกุมภาพันธ์เป็นภายในเดือนมิถุนายน และเลื่อนกำหนดเวลาการชำระภาษีจากเดือนเมษายนเป็นเดือนสิงหาคม 

ที่มาที่ไปของ พรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

  นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม กล่าวว่า เดิมมีกฎหมายเกี่ยวกับการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอยู่ 2 ฉบับ ได้แก่ พรบ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 และ พรบ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 เดิมทั้ง 2 ฉบับเราเรียกว่าภาษีท้องถิ่น เพราะท้องถิ่นเก็บเองและใช้ภาษีนั้นในการบริหารพัฒนาสาธารณประโยชน์ในท้องถิ่นเอง ไม่ต้องส่งเข้ามาให้ส่วนกลางจัดสรร แต่เนื่องจาก พรบ.ทั้ง 2 ฉบับใช้มาเป็นเวลานานแล้ว สถานการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปมาก จึงมีการปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัยเหมาะสมกับสถานการณ์มากขึ้น โดยรวมพรบ.ภาษีเดิมทั้ง 2 ฉบับให้เหลือเพียงหนึ่งเดียว 

  อีกทั้งต้องการจัดเก็บให้เป็นระบบเหมือนกันทั้งหมด โดยใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน คือ คำนวณจากมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งช่วยส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดินให้มากที่สุด ซึ่งที่ดินรกร้างว่างเปล่าจะเสียภาษีมากกว่าประเภทอื่น นอกจากนี้ยังเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดเก็บภาษีของท้องถิ่นให้มากขึ้น สำหรับหน่วยงานท้องถิ่นที่มีหน้าที่จัดเก็บภาษีได้แก่ กทม. เมืองพัทยา เทศบาล และอบต. รวม 7,776 แห่ง

พรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทำให้ อปท. เก็บรายได้เพิ่มขึ้นหรือลดลง 

  นางวิภา ธูสรานนท์ เปิดเผยว่า รายได้จากภาษีเดิมทั้ง 2 ฉบับ อปท.จัดเก็บได้ประมาณ 3 หมื่นกว่าล้านบาท ส่วนฉบับใหม่ต้องรอการประเมิน เพราะบางพื้นที่อาจจะได้มากกว่าเดิม บางพื้นที่อาจจะลดลง ตัวอย่างส่วนที่ลดลงคือ พื้นที่ทำการเกษตรมีการยกเว้น 50 ล้านบาทแรก บ้านที่อยู่อาศัยมีการยกเว้น 50 ล้านบาทแรก จึงอาจใช้คำว่าพื้นที่ส่วนชนบทจะเก็บภาษีได้ลดลง ขณะที่พื้นที่เมืองอาจจะได้เพิ่มมากขึ้น

ใครมีหน้าที่เสียภาษีฉบับใหม่บ้าง

  ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีคือประชาชนบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล ที่ครอบครองที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่นำไปใช้ประโยชน์ สำหรับผู้ที่จะถูกประเมินว่าถึงเกณฑ์เสียภาษีหรือใหม่ คือ จะต้องมีทะเบียนบ้านตั้งแต่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป

อัตราการจัดเก็บใหม่ 4 ประเภท

  อัตราการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นการเก็บภาษีจากเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ถือครอง โดยอัตราภาษีที่ใช้จัดเก็บจะดูจากการใช้ประโยชน์ของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วยอัตราภาษี 4 ประเภท ได้แก่ 1) เกษตรกรรม 2) ที่อยู่อาศัย 3) อื่นๆ ที่ไม่ใช่เกษตรกรรมและอยู่อาศัย เช่น อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และ 4) รกร้างว่างเปล่า

วิธีจัดเก็บประเภทเกษตรกรรม

  กรณีที่ดินที่ทำเกษตรกรรมของบุคคลธรรมดา หากมีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท (ในพื้นที่ 1 อปท.) ไม่ต้องเสียภาษี และข้อดีอีกหนึ่งข้อคือ กรณีที่ดินแต่ละแปลงอยู่ในต่างท้องถิ่น เช่น ปลูกมะม่วงอยู่ จ.ชลบุรี มูลค่า 40 ล้านบาท และมีที่ปลูกมะพร้าวอยู่ จ.พังงามูลค่า 30 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษี เพราะอยู่คนละ อปท. และหากทรัพย์สินที่อยู่ใน อปท.เดียวกันมีมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท จะคิดมูลค่าส่วนที่เกินจาก 50 ล้านบาท ในอัตราร้อยละ 0.01 หรือ 1 ล้านบาทต่อภาษี 100 บาทเท่านั้น

  กรณีที่ดินที่ทำการเกษตรของนิติบุคคล จะไม่มีการยกเว้นภาษี ต้องเสียตั้งแต่มูลค่าบาทแรก และเสียในอัตราก้าวหน้า เช่น มูลค่าไม่เกิน 75 ล้านบาท เสียล้านละ 100 บาท มูลค่าไม่เกิน 75-100 ล้านบาท เสียล้านละ 300 บาท

วิธีจัดเก็บประเภทที่อยู่อาศัย

  ส่วนของที่อยู่อาศัย ถ้าครอบครองในมูลค่ามากก็เสียภาษีมาก ครอบครองมูลค่าน้อยก็เสียภาษีน้อย โดยมีการยกเว้นกรณีที่เป็นบ้านที่อยู่อาศัยหลังหลักมีผู้อาศัยในทะเบียนบ้าน มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี กรณีบ้านหลังที่ 2 ขึ้นไป ต้องเสียภาษีอัตราร้อยละ 0.02 หรือ ล้านละ 200 บาท จ่ายตั้งแต่บาทแรกขึ้นไป

  กรณีให้เช่า จะเก็บในอัตราพาณิชยกรรม เริ่มต้นอัตราร้อยละ 0.3 หรือมูลค่าล้านละ 3,000 บาท สูงสุดอัตรา 0.7 คือ ล้านละ 7,000 บาท

วิธีจัดเก็บประเภทรกร้างว่างเปล่า

  นิยามของที่รกร้าง คือ ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ถูกทิ้งร้างไม่มีการดูแลเป็นเวลานาน เช่น บ้านร้างจนต้นไม้ขึ้นคลุมไม่สามารถเข้าอยู่อาศัยได้ แต่หากไม่สามารถเข้าอยู่อาศัยหรือใช้ประโยชน์ได้เนื่องจากเหตุสุดวิสัยหรือภัยธรรมชาติไม่ถือว่าเป็นที่รกร้าง กรณีคอนโดสำหรับเช่า อยู่ในช่วงรอคนมาเช่า หากมีการเข้ามาทำความสะอาด ดูแลบ้าง ไม่ถือเป็นที่รกร้าง แต่จะอยู่ในเกณฑ์พาณิชยกรรม ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่รกร้าง มีการเก็บภาษีอัตราร้อยละ 0.3 ต่อปี หรือล้านละ 3,000 บาท หากไม่มีการเข้าไปใช้ประโยชน์ใน 3 ปี ก็จะเก็บเพิ่มอีกในอัตราร้อยละ 0.3 ทุกๆ 3 ปี โดยมีเพดานสูงสุดไม่เกินร้อยละ 3

เผยขั้นตอนการแจ้งมูลค่าภาษีไปยังประชาชน

  อธิบดี สถ. กล่าวว่า อปท. จะส่งหนังสือแจ้งไปยังเจ้าบ้านทุกหลัง พร้อมระบุรายละเอียดว่า เป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประเภทใด พร้อมมูลค่าของที่ดิน และจำนวนเงินที่ต้องชำระภาษี ซึ่งปัจจุบันพบปัญหาการมีข้อสงสัยว่า ที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 ขึ้นไป ถูกทำเครื่องหมายให้อยู่ในช่องประเภทอื่นๆ ซึ่งไม่ตรงกับความจริง ตรงนี้มีกระบวนการให้เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสามารถทักท้วงไปยัง อปท.ได้

  ในปีแรกอาจจะมีข้อสงสัยหรือทักท้วงก็ต้องแก้ไขกันไป แต่หากเรียบร้อยแล้วในปีถัดไปจะง่ายขึ้น ประชาชนไม่ต้องไปยื่นแบบด้วยตนเอง แต่จะมีหนังสือแจ้งมาถึงที่บ้านเลย ซึ่งถือเป็นการอำนวยความสะดวกอย่างหนึ่ง

ชี้ช่องทาง ท้วงติงและแก้ไขผ่าน อปท.

  อธิบดี สถ. กล่าวว่า ขอประชาชนอย่าได้กังวลใจ พรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่นี้ จะสร้างความเท่าเทียมและเป็นธรรม ใครมีมูลค่ามากก็เสียมาก ใครมีมูลค่าน้อยก็เสียน้อย ส่วนเรื่องข้อเท็จจริงทางเอกสารที่ อปท. แจ้ง หากไม่เป็นความจริง ก็สามารถทักท้วงและแจ้ง อปท. เพื่อแก้ไขให้ถูกต้องได้ โดยสามารถไปได้ด้วยตนเอง หรือมอบอำนาจ หรือส่งไปรษณีย์เพื่อแจ้งแก้ไขได้ ในอนาคตจะมีการพัฒนาช่องทางแจ้งและช่องทางการเสียภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ต่อไป

ย้ำ! ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาพร้อมเจตนาดี

  รองปลัดกระทรวงมหาดไทยย้ำว่า เจตนาของ พรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ต้องการให้ประชาชนนำที่ดินรกร้างกลับมาใช้ประโยชน์ เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างผลผลิตเพิ่ม เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนภาษีที่มากขึ้น

  ผู้ที่มีที่ดินไม่ได้ใช้ประโยชน์ ต้องพิจารณาว่าจะยอมเสียภาษี หรือนำที่ดินไปใช้ประโยชน์เพื่อเสียภาษีน้อยลง อาจจะลงมือทำเอง หรือปล่อยให้เช่า กรณีปล่อยให้เช่าเพื่อให้ผู้อื่นมาทำการเกษรตร ก็จะเสียภาษีในอัตราเกษตร ซึ่งจะเสียน้อยกว่าการปล่อยให้เป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่า

  ทั้งนี้ มีประเด็นทิ้งท้ายที่น่าสนใจว่า มหาดไทยจะทำอย่างไรให้วิธีการปฏิบัติของแต่ละ อปท. มีเกณฑ์การปฏิบัติเดียวกัน ให้เจ้าหน้าที่มีชุดคำตอบเดียวกัน พูดไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อไม่ให้เป็นข้อโต้แย้งที่จะนำไปสู่ปัญหาในทางปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นต่อไป

 

 

 

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

แจ้งข่าวดี! กรมการท่องเที่ยวจัดคอร์สเสริมพลังท้องถิ่น ด้านการท่องเที่ยวภาครัฐ

แจ้งข่าวดี! กรมการท่องเที่ยวจัดคอร์สเสริมพลังท้องถิ่น ด้านการท่องเที่ยวภาครัฐ

กรมการท่องเที่ยวจัดอบรมออนไลน์ ฟรี! เรื่อง “การเสริมพลั…

schedule
แซงทางโค้ง! ลุงชาญปาดบิ๊กแจ๊ส นั่งเก้าอี้นายก อบจ.ปทุมฯ

แซงทางโค้ง! ลุงชาญปาดบิ๊กแจ๊ส นั่งเก้าอี้นายก อบจ.ปทุมฯ

เมืองปทุมฯ ระอุ หลัง “ชาญ พวงเพ็ชร” ล้ม “บิ๊กแจ๊ส – พล.…

schedule
ทม.บึงยี่โถจัดใหญ่ “ลุงป้า ปู่ย่า หลานม่า The Festiwow” หนุนคุณค่าสูงวัยหัวใจสตรอง

ทม.บึงยี่โถจัดใหญ่ “ลุงป้า ปู่ย่า หลานม่า The Festiwow” หนุนคุณค่าสูงวัยหัวใจสตรอง

“ลุงป้า ปู่ย่า หลานม่า The Festiwow”ภายใต้โครงการบูรณาก…

schedule
บรรเทาวิกฤต “ขยะมูลฝอย” บทบาทสำคัญของท้องถิ่น

บรรเทาวิกฤต “ขยะมูลฝอย” บทบาทสำคัญของท้องถิ่น

ปี 66 ปริมาณขยะมูลฝอยในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นกว่าร้อยละ …

schedule

นิตยสารผู้นำท้องถิ่นออนไลน์ รวมข่าวสารอัพเดทของคนท้องถิ่น

ติดต่อเรา

อีเมล : [email protected]