เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2564 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทาง การจัดการตนเองอย่างเป็นอิสระขององค์ปกครองส่วนท้องถิ่นทุกรูปแบบ เพื่อผลักดันให้เกิดการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้
24 ปี จากจุดเริ่มต้นการกระจายอำนาจฯ สัดส่วนเงินอุดหนุนยังคงอยู่ที่ 29%
ตนเชื่อว่าการจัดการตนเองอย่างเป็นอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทุกรูปแบบนั้น เป็นความคาดหวังของของคนท้องถิ่นทั่วประเทศ คาดหวังว่ารัฐบาลชุดนี้จะเดินหน้าผลักดันให้มีการกระจายอำนาจเต็มรูปแบบในห้วงเวลาที่ยังบริหารราชการแผ่นดินในประเทศไทยอยู่ นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2540 ที่มีเจตนารมณ์ในการกระจายอำนาจสู่ อปท. ปัจจุบันปี 2564 ผ่านมาเกือบ 24 ปีแล้ว ท้องถิ่นยังคงสัดส่วนเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเพียง 29% จากเดิมที่พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 กำหนดให้ อปท. มีรายได้เพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้สุทธิของรัฐบาลในอัตราไม่น้อยกว่า 35%
ท้องถิ่นเป็น “ด่านหน้า” แก้ปัญหา แต่ไร้ซึ่งอำนาจ
อปท.เป็นองค์กรด่านหน้าในการทำงานแก้ไขปัญหาเบื้องต้นให้กับประชาชน เราจะเห็นได้ชัดเจนจากประเทศที่พัฒนาแล้ว และมีการกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่นอย่างเต็มรูปแบบ เช่น ญี่ปุ่น อังกฤษ ฝรั่งเศส ประเทศเหล่านี้เมื่อมีภัยพิบัติเกิดขึ้น ส่วนกลางไม่ต้องลงไปแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ส่วนท้องถิ่นสามารถแก้ปัญหาเองได้ทั้งหมด แต่ประเทศไทย ท้องถิ่นทำงานหนัก ทำงานเต็มที่ แต่การดูแลท้องถิ่น กลับห่างเหินกับส่วนกลาง ลองถามดูว่าจะมีนายก อปท.สักกี่คนที่สามารถเข้าพบคณะรัฐมนตรีอย่างเร่งด่วนได้เมื่อมีปัญหา
ปัญหา – อำนาจหน้าที่เกินงบประมาณ
ตนมองว่าบทบาทของท้องถิ่นมีเยอะ การทำงานมีความชัดเจนพอสมควร แต่ก็มีปัญหาที่ต้องแก้ไขเช่นกัน
1. ท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่เกินงบประมาณที่มีอยู่ รัฐบาลบอกว่าจะอุดหนุนงบประมาณให้กับท้องถิ่น 35% ภารกิจถ่ายโอนให้กับท้องถิ่นเกือบทั้งหมด แต่ไม่ให้งบประมาณ เช่น ภารกิจด้านโรงเรียน สาธารณสุข การคมนาคม การดูแลผู้ยากไร้ ให้ภารกิจ แต่ไม่ได้ให้เงิน
ปัญหา – คำสั่งและระเบียบฯ ขัดกับหลักปฏิบัติ
2. การออกคำสั่ง ระเบียบต่างๆ ในการปฏิบัติงานของท้องถิ่น ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ที่รับคำสั่ง หรือนำคำสั่งมาจากหน่วยงานอื่นๆ เช่น สำนักงานผู้ตรวจเงินแผ่นดิน ขัดกับหลักปฏิบัติในบางเรื่อง เช่น หนังสือสั่งการบางฉบับห้ามจัดงานวันเด็ก วันสงกรานต์ หรือวันลอยกระทง ตนขอถามว่า 3 กิจกรรมดังกล่าว เกิดขึ้นก่อน หรือหลังอปท. ในอดีตยังไม่มีคำสั่งนี้ออกมาท้องถิ่นจัดงานได้ แต่ก็มีอปท.บางแห่งที่มีการทุจริต อย่างนี้ควรจัดการไปเฉพาะท้องถิ่นที่ทำผิด ไม่ควรเหมารวมห้ามจัดทั้งหมด
ส่วนกลางสั่งห้ามท้องถิ่นจัดงานวันเด็ก ห้ามมอบของขวัญเด็ก แต่รัฐบาลส่วนกลางเปิดทำเนียบให้เด็กเข้าไปเยี่ยมชมห้องทำงานนายกรัฐมนตรี ห้องประชุมครม. เยี่ยมชมแล้วสามารถแจกของขวัญให้เด็กนำกลับบ้านได้ อย่างนี้รัฐส่วนกลางทำได้ แต่ท้องถิ่นทำไม่ได้
ด้านโรงเรียนในสังกัดท้องถิ่น เดิมสามารถมีรถรับส่งนักเรียนได้ ซื้อชุดนักเรียนมอบให้ได้กรณีเด็กที่มีฐานะยากจน ทุกวันนี้ให้เงินอุดหนุนเป็นรายหัว
เราอยู่ภายใต้ประเทศและรัฐธรรมนูญเดียวกัน แต่หน่วยงานหนึ่งทำได้ อีกหน่วยงานทำไม่ได้ เหล่านี้เป็นปัญหาที่ 3 สมาคมท้องถิ่นออกมาเรียกร้อง แต่ส่วนกลางไม่ได้ยิน เสียงเรียกร้องของท้องถิ่นเบามาก
ปัญหา – การสอบเลื่อนขั้นของบุคลากรท้องถิ่น
3.บุคลากรในอปท. เดิมการพิจารณาคัดสรรสอบเลื่อนขั้นของท้องถิ่น เป็นอำนาจของ ก.จ. ก ท. และก.อบต. คณะกรรมการเหล่านี้คัดสรรมาจากผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารท้องถิ่น หน่วยราชการ เพื่อพิจารณาคัดสรรกันเองในจังหวัดนั้นๆ แต่วันนี้คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 8 ให้การสอบแข่งขันเลื่อนขั้นระดับ 6 -9 ไปสอบที่ สถ. โดยไม่แบ่งสอบเป็นรายจังหวัด แต่สอบรวมกันทั้งประเทศ เช่นนี้ จะทำให้บุคลากรที่มีความสามารถในพื้นที่และรู้งานอยู่แล้ว อาจจะไม่ได้มีสิทธิลงในพื้นที่ของตนเอง ตนเห็นว่าสามารถจัดสอบที่ สถ. ได้ แต่ควรแยกสอบเป็นรายจังหวัดไป เพื่อให้บุคลากรได้ทำงานเหมาะสมกับพื้นที่อย่างแท้จริง ตรงนี้ตนอยากให้คืนอำนาจกลับไปที่ท้องถิ่นจัดการกันเอง
ปัญหา – ที่มาจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
4. ปัญหาการกระจายอำนาจที่มาจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดย มาตรา 249-264 ซึ่งตนมองว่าไม่มีหลักประกันว่าจะกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นอย่างเต็มที่ เป็นผลให้ทุกวันนี้ท้องถิ่นยังเดินหน้าไม่ได้ ฝากถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังจะมีขึ้นในอีกไม่ช้า ให้ช่วยดูหมวดของท้องถิ่นด้วย
ปัญหา – การตัดงบอุดหนุนเฉพาะกิจที่ขอตรง โดยสำนักงบประมาณ
5. ปัญหาเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ เดิมทีท้องถิ่นต้องขอเงินส่วนนี้ผ่าน สถ. แต่ปัจจุบันกำหนดให้ อบจ. พัทยา กทม. เทศบาลเมือง เทศบาลนคร ของบอุดหนุนเฉพาะกิจเองโดยตรงกับสำนักงบประมาณ เหลือเพียง อบต.และเทศบาลตำบล ที่ยังขอผ่าน สถ. ตัวอย่างปัญหาที่พบเช่น อบจ.นครศรีธรรมราชขอเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ 10 โครงการ เรียงลำดับความจำเป็นให้แล้ว 1-10 เมื่อเรื่องส่งถึงสำนักงบประมาณ กลับตัดโครงการที่มีความจำเป็นที่สุดออกทุกโครงการ แล้วไปให้เงินในโครงการที่ 10 ซึ่งสวนทางกับความจำเป็นที่แท้จริง
ผลักดันให้การจัดเก็บภาษีถูกแบ่งให้ท้องถิ่นก่อนส่งส่วนกลาง
หากปล่อยให้ท้องถิ่นจัดการตนเองอย่างอิสระ เก็บภาษีในจังหวัดและใช้จ่ายกันเองภายในจังหวัด ไม่จำเป็นต้องแบ่งใช้ในจังหวัดทั้ง 100% แต่สามารถแบ่ง 50:50 ใช้จ่ายกันเอง 50% คืนกลับส่วนกลาง 50% เช่น ภูเก็ตเป็นจังหวัดที่เก็บภาษีได้มากที่สุดในประเทศไทย แค่ท้องถิ่นภายในจังหวัดรวมตัวกันขอเงินปีละ 1 แสนล้าน พัฒนาพื้นที่ให้เป็นเหมือนเกาะฮ่องกง แต่รัฐบาลส่วนกลางไม่ให้ หรือให้ร้านค้า ห้างร้านเสียภาษีกันเองภายในจังหวัด เพราะเงินของประชาชนที่ใช้จ่ายในร้านเหล่านั้น ก็เป็นเงินของคนในพื้นที่ ภาษีที่เก็บได้ก็เป็นเงินของเขาเอง ควรได้นำกลับมาพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง