close

หน้าแรก

menu
search

“สานพลังเปลี่ยนเมืองป่วย” ยื่นรัฐบาลใหม่ ยก “เทศบาลนครนครสวรรค์” ต้นแบบเมืองสุขภาวะโดยคนท้องถิ่น

schedule
share

แชร์

       สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้จัด เวที สช.เจาะประเด็น “สานพลังเปลี่ยนเมืองป่วย” สะท้อนสภาพปัญหาเมืองป่วย และเสนอแนวทางแก้ไขโดยการสานพลังจากทุกภาคส่วน      

       นางภารนี สวัสดิรักษ์ รองประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2561-2562 กล่าวว่า มีข้อเสนอต่อว่าที่รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศในอนาคตอันใกล้นี้ว่า การดำเนินงานพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ต้องไม่แยกเรื่องสุขภาพออกจากความเป็นเมือง ไม่มองเรื่องการพัฒนาเมืองเป็นเพียงการก่อสร้างหรือความทันสมัยที่ตอบโจทย์เศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงมิติของสุขภาพและสังคมไปพร้อมกันด้วย

       นางภารนี กล่าวว่า เมืองก็เหมือนกับร่างกายของมนุษย์ที่เจ็บป่วยได้หลายรูปแบบจากหลายสาเหตุ แต่ส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับความไม่สมดุลทั้งในเชิงพื้นที่ พฤติกรรม กิจกรรม ตลอดจนสิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้งหมดนับเป็นปัจจัยกำหนดสุขภาพเมือง ที่มีอยู่ 3 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1. พฤติกรรมของคนและสังคม ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของผู้อยู่อาศัย เช่น ความเร่งรีบของวิถีชีวิตที่ก่อความเครียดจนสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น พฤติกรรมเนือยนิ่งขาดการออกกำลังกาย และขาดความรอบรู้ด้านสุขภาพอย่างเพียงพอ 2. กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น ภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรม การก่อสร้าง การจัดการขยะ น้ำเสีย และฝุ่นควันจากการจราจร 3. สิ่งแวดล้อม ซึ่งครอบคลุมทั้งสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้นและที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น การเผาไหม้ ทิศทางลม การจัดการที่อยู่อาศัย พื้นที่สาธารณะ พื้นที่สีเขียว ฯลฯ โดยทั้งหมดสัมพันธ์กับอาการป่วยไข้ของเมืองทั้งสิ้น

      อย่างไรก็ดี ในเมื่อปัญหาของเมืองมีความสลับซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย จึงต้องสานพลังทุกภาคส่วนเข้ามาแก้ไข โดยในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเมื่อปี 2559 ซึ่งเป็นเครื่องมือพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ได้มีฉันทมติเรื่อง “การจัดและการพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชน และเมืองเพื่อสุขภาวะ” ที่เสนอให้คณะกรรมการนโยบายที่อยู่อาศัยแห่งชาติ คณะกรรมการนโยบายเพื่อที่อยู่อาศัยและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาชนเร่งสานพลังเพื่อสร้าง “เมืองสุขภาวะ” ด้วย 

       นายจิตตเกษมณ์ นิโรจน์ธนรัฐ นายกเทศมนตรีนครนครสวรรค์ กล่าวว่า อุปสรรคของการพัฒนาเมืองในมุมมองของท้องถิ่นคือความไม่เป็นอิสระ เนื่องจากถูกกำหนดทิศทางการบริหารมาจากส่วนกลางเกือบหมด ขณะที่งบประมาณก็ไม่สอดคล้องกับการดำเนินการตามบริบทพื้นที่ ดังนั้นจึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศว่าควรจริงใจกับการการกระจายอำนาจไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างแท้จริง ให้ท้องถิ่นมีความอิสระในการทำงาน เพราะท้องถิ่นมีความใกล้ชิดกับชุมชน เข้าใจงาน และสามารถดึงการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ ได้ดีกว่า 

       นายจิตตเกษมณ์ ยังกล่าวอีกว่า อดีตที่ผ่านมาความเป็นเมืองของเทศบาลเมืองนครสวรรค์เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศ การจราจรติดขัด ปริมาณขยะ น้ำท่วม ความแออัดของที่อยู่อาศัย ฯลฯ แต่จากวิสัยทัศน์ของผู้บริหารเทศบาลนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มุ่งเน้นการพัฒนาให้เกิดเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน ด้วยการดำเนินนโยบายที่สำคัญต่างๆ จากการริเริ่มและร่วมมือกันในหลายภาคส่วน เช่น การฝังกลบขยะเพื่อลดมลพิษ การจัดการน้ำเสียให้ได้มาตรฐานน้ำทิ้งก่อนปล่อยลงสู่แม่น้ำ การพัฒนาระบบน้ำสะอาดหรือประปาให้มีคุณภาพจนได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 รางวัลอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมเมืองที่ยั่งยืน (ด้านน้ำ) ในปี 2557 นอกจากนี้ ยังมีการสร้างอุทยานสวรรค์ ซึ่งเป็นทั้งพื้นที่สาธารณะ พื้นที่สีเขียว และสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับทุกเพศทุกวัย รวมถึงการสร้างเมืองจักรยานเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้สอดคล้องกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เสนอให้มีการปรับปรุงการถ่ายโอนอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับให้ครอบคลุมการจัดการ และพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชนและเมืองสุขภาวะ

       นายจิตตเกษมณ์ กล่าวว่า งานการพัฒนาเมืองของเทศบาลนครนครสวรรค์ เริ่มต้นมาจากภาคชุมชน และภาคเอกชนเสนอความต้องการมา ในฐานะนายกเทศมนตรีผมก็นั่งหัวโต๊ะ เชิญหน่วยงานต่าง ๆ มาร่วมกัน คอยประคับประคองให้งานสำเร็จตอบสนองความต้องการของประชาชน การพัฒนาเมืองสำเร็จไม่ได้ ถ้าไม่มีการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน

       ด้านนายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนจึงต้องเข้ามามีส่วนร่วมกับการพัฒนาเมือง โดยปัจจุบันภาคเอกชนได้ร่วมกันตั้งบริษัทพัฒนาเมืองขึ้นมาในจังหวัดต่างๆ เช่น ขอนแก่นพัฒนาเมือง ภูเก็ตพัฒนาเมือง เชียงใหม่พัฒนาเมือง ทำหน้าที่เป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองตามบริบทของแต่ละท้องถิ่น ที่ผ่านมา การเข้าไปมีบทบาทร่วมพัฒนาเมืองของภาคเอกชนไม่ใช่เรื่องราบรื่น เพราะต้องฝ่าฟันอุปสรรคจากความเข้าใจ การยอมรับ ตลอดจนกฎระเบียบอันเข้มงวดของหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชนต้องใช้เวลาและความอดทนในการทำงานร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือสร้างเมืองที่มีสุขภาวะดี

       ทั้งนี้ ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้เสนอให้ สมาคมอสังหาริมทรัพย์ เป็นองค์กรหลักร่วมกับสมาคมภาคธุรกิจ เช่น สภาหอการค้า ภาควิชาการและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมมือกันพัฒนาแนวทางการมีส่วนร่วม และสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชนและเมืองเพื่อสุขภาวะในทุกกลุ่ม

       ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) กล่าวว่า เมืองสวยๆ ในหลายประเทศ อาทิ เมืองในญี่ปุ่น หรือปารีส ประเทศฝรั่งเศส ต่างก็เกิดขึ้นได้จากการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นทั้งสิ้น หรือตัวอย่างของเมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส ที่รัฐบาลฉลาดในการสร้างกลไกทำงานร่วมกับเอกชน และให้ความสำคัญกับการเปิดช่องทางและเวทีให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสร้างสนามบิน พิพิธภัณฑ์ รถใต้ดิน โดยไม่ต้องรอรัฐบาลกลางเท่านั้น ดังนั้นผู้ที่จะเข้ามาบริหารในอนาคตก็ควรทลายคอขวดของประเทศไทย ด้วยการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง

 

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

แจ้งข่าวดี! กรมการท่องเที่ยวจัดคอร์สเสริมพลังท้องถิ่น ด้านการท่องเที่ยวภาครัฐ

แจ้งข่าวดี! กรมการท่องเที่ยวจัดคอร์สเสริมพลังท้องถิ่น ด้านการท่องเที่ยวภาครัฐ

กรมการท่องเที่ยวจัดอบรมออนไลน์ ฟรี! เรื่อง “การเสริมพลั…

schedule
แซงทางโค้ง! ลุงชาญปาดบิ๊กแจ๊ส นั่งเก้าอี้นายก อบจ.ปทุมฯ

แซงทางโค้ง! ลุงชาญปาดบิ๊กแจ๊ส นั่งเก้าอี้นายก อบจ.ปทุมฯ

เมืองปทุมฯ ระอุ หลัง “ชาญ พวงเพ็ชร” ล้ม “บิ๊กแจ๊ส – พล.…

schedule
ทม.บึงยี่โถจัดใหญ่ “ลุงป้า ปู่ย่า หลานม่า The Festiwow” หนุนคุณค่าสูงวัยหัวใจสตรอง

ทม.บึงยี่โถจัดใหญ่ “ลุงป้า ปู่ย่า หลานม่า The Festiwow” หนุนคุณค่าสูงวัยหัวใจสตรอง

“ลุงป้า ปู่ย่า หลานม่า The Festiwow”ภายใต้โครงการบูรณาก…

schedule
บรรเทาวิกฤต “ขยะมูลฝอย” บทบาทสำคัญของท้องถิ่น

บรรเทาวิกฤต “ขยะมูลฝอย” บทบาทสำคัญของท้องถิ่น

ปี 66 ปริมาณขยะมูลฝอยในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นกว่าร้อยละ …

schedule

นิตยสารผู้นำท้องถิ่นออนไลน์ รวมข่าวสารอัพเดทของคนท้องถิ่น

ติดต่อเรา

อีเมล : [email protected]