close

หน้าแรก

menu
search

สรุปแนวทางท้องถิ่นเก็บภาษีที่ดินฯ 19 หน่วยงานรัฐ-รัฐวิสาหกิจ

schedule
share

แชร์

          คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อการพัฒนาการจัดเก็บรายได้ ของ อปท. ซึ่งมีรองศาสตราจารย์วีระศักดิ์ เครือเทพ เป็นประธานอนุกรรมการ ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและรัฐวิสาหกิจเข้าร่วมประชุม เพื่อชี้แจงแนวทางการปฏิบัติเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการเข้าไปสำรวจและจัดเก็บข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในพื้นที่ของหน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจ มีหน่วยงานเข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 32 หน่วยงาน

          โดยมีข้อสรุปแนวทางปฏิบัติเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการเข้าสำรวจและจัดเก็บข้อมูลภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่หน่วยงานของรัฐและรัฐวิสากิจ ดังนี้

 

1. การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

          1. รฟท.ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ยกเว้นในส่วนที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงกำหนดทรัพย์สินที่ได้รับการยกเว้นจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกส้าง พ.ศ.2562 ในข้อ (4) กำหนดให้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นทางรถไฟหรือทางรถไฟฟ้าซึ่งใช้ในกิจการของการรถไฟ หรือการรถไฟฟ้าโดยตรงได้รับยกเว้นการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยกำหนดให้ “ทางรถไฟ” หมายความว่า ถนนหรือทางซึ่งได้วางรางเพื่อการเดินรถไฟ และให้หมายความรวมถึง อุโมงค์ สะพาน ทางยกระดับ ห้องระบบอาณัติสัญญาณประจำสถานี ซุ้มเครื่องกั้นถนนผ่านเสมอระดับทางรถไฟ ที่ทำการหอสัญญาณ และชานชาลาสถานีเฉพาะพื้นที่บริเวณที่ผู้โดยสารรอเพื่อขึ้นหรือลงจากรถไฟ

          สำหรับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่เข้าข่ายได้รับยกเว้นที่กำหนดในข้อ (4) ของกฎกระทรวงดังกล่าว รฟท. ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในส่วนดังกล่าว เช่น ที่ทำการสำนักงาน ที่ขายบัตรโดยสาร อาคารซ่อมบำรุง เป็นต้น หาก รฟท. เห็นว่า ในส่วนนี้ควรได้รับการยกเว้น อาจทำเป็นหนังสือ ถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เพื่อพิจารณาข้อเสนอได้

สำหรับกรณีที่ รฟท. ให้เอกชนเช่าที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น จะเข้าข่ายที่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามกฎหมาย ไม่ได้รับการยกเว้นการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

          2. ในการจัดส่งข้อมูลบัญชีรายชื่อรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และแบบประเมินภาษี พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ได้กำหนดให้ท้องถิ่นจัดส่งข้อมูลไปยังเจ้าของทรัพย์สิน กล่าวคือ รฟท. ณ สำนักงานใหญ่ ซึ่งสอดคล้องกับ พระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 ที่กำหนดว่าในบรรดากิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก รฟท. ให้ผู้ว่าการฯ เป็นผู้แทน รฟท. ซึ่งจะทำให้เกิดความสะดวกในการบริหารจัดการของ รฟท. และป้องกันความยุ่งยาก เมื่อ อปท. แต่ละแห่งประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ของ รฟท.แล้ว รฟท. ณ สำนักงานใหญ่ จะเป็นผู้บริหารจัดการเพียงแห่งเดียว

          3. การให้สิทธิ์เหนือพื้นดินเพื่อใช้ประโยชน์อื่น นอกเหนือจากกิจการของ รฟท. เช่น การสร้างสนามกีฬา ส่วนหย่อม เป็นต้น พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2563 ได้กำหนดลดภาษีสำหรับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นสถานที่เล่นกีฬา จึงต้องพิจารณาประเด็นการลดภาษีในส่วนการใช้ประโยชน์จริงบนสิทธิ์นั้นอีกครั้ง กรณีสนามกีฬาจะลดภาษีให้ร้อยละ 90 เฉพาะพื้นที่ที่เล่นกีฬา ซึ่งต้องพิจารณาตามหลักความเป็นเจ้าของ แม้ว่าการมอบสิทธิ์ไปเพื่อหาประโยชน์แล้วก็ตาม แต่เจ้าของยังคงมีหน้าที่เสียภาษี

          4. หลักจาก อปท. ประเมินภาษีแล้ว หาก รฟท. เห็นว่าการประเมินดังกล่าวไม่ถูกต้อง สามารถอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินภาษี โดยการอุทธรณ์มี 3 ลำดับ คือ 1) อุทธรณ์ไปที่ผู้บริหารท้องถิ่น 2) หาก รฟท. ไม่เห็นชอบตามผลพิจารณาของผู้บริหารท้องถิ่น รฟท. มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์การประเมินภาษีประจำจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน โดยยื่นคำร้องผ่านท้องถิ่น และ 3) ฟ้องต่อศาล โดยคำพิพากษาของศาลจะถือเป็นที่สิ้นสุด

 

2. บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) และกรมท่าอากาศยาน

          สนามบินมี 2 ประเภท ได้แก่

          1) สนามบินที่ได้รับสัมปทาน ทอท. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจได้รับสัมปทานในการดูแลสนามบิน 6 แห่ง คือ เชียงใหม่ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง หาดใหญ่ ภูเก็ต และเชียงราย ต้องดูแลทรัพย์สินที่ได้รับสัมปทานจากภาครัฐโดยจะต้องดูแลรายจ่ายและค่าภาษีทั้งหมดของสนามบินทั้ง 6 แห่ง และ

          2) สนามบินของรัฐ ดูแลโดยกรมท่าอากาศยาน การคิดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในส่วนของทางขับ ทางวิ่ง ลานจอด และที่พักผู้โดยสาร (Terminal) จะได้รับการยกเว้นตามมาตรา 8 (1) เนื่องจากเป็นทรัพย์สินของรัฐ จึงไม่ต้องเสียภาษีเว้นแต่นำไปหาประโยชน์ เช่น เก็บค่าเช่าจากร้านกาแฟ ร้าน OTOP จะต้องถูกคิดภาษีเป็นอัตราอื่นๆ (เฉพาะพื้นที่ร้านค้า)

 

          2.1 บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.)

          1) ทอท. มีการจัดสรรพื้นที่ดินหรือพื้นที่สิ่งปลูกสร้างในตัวอาคารให้กับส่วนราชการใช้ประโยชน์ในการดเนินกิจการสาธารณะ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมศุลกากร ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง หรือจัดสรรเป็นที่ดินให้หน่วยงานของรัฐใช้เพื่อสาธารณประโยชน์โดยไม่เก็บค่าเช่า เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา กรมศุลกากร และสถานีตำรวจ จะได้รับการยกเว้นภาษีตามมาตรา 8(8) ที่กำหนดว่าทรัพย์สินของเอกชนเฉพาะส่วนที่ได้ยินยอมให้ทางราชการจัดให้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ โดยจะต้องจัดทำข้อตกลงร่วมกัน (MOU) กับท้องถิ่น

          2) กรณี ทอท. ให้ส่วนราชการที่มาขอใช้ประโยชน์มีการให้เช่าช่วงหรือหาประโยชน์ ทอท.จะต้องเป็นผู้เสียภาษี เนื่องจากเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน ทั้งนี้ การเช่าช่วงจะต้องทำสัญญาหรือข้อตกลงให้ชัดเจนว่า ผู้เช่าช่วงยินดีจะเป็นผู้รับผิดชอบชำระภาษี มิฉะนั้น ทอท. จะต้องชำระภาษีเนื่องจากเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น

          3) กรณีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ ทอท. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ทอท. จะเป็นผู้เสียภาษี โดย อปท. จะแจ้งประเมินภาษีไปที่เจ้าของกรรมสิทธิ์

          4) บ้านพัก หรือห้องพักให้พนักงาน ตึกเพื่ออยู่อาศัย รวมทั้งบ้านที่ได้รับผลกระทบทางเสียงจากเครื่องบิน ซึ่ง ทอท. ซื้อคืนเพื่อเป็นกันชน (Buffer) การจัดเก็บภาษีจะพิจารณาตามข้อเท็จจริงในการใช้ประโยชน์ เนื่องจากประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่องหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย กำหนดว่า “สิ่งปลูกสร้าง” หมายความว่า โรงเรือน อาคาร ตึก ห้องชุด แพ หรือสิ่งปลูกสร้างอื่นใด ที่มีลักษณะให้บุคคลใช้เพื่อการอยู่อาศัย ดังนั้น ในกรณีของบ้านพักหรือห้องพักพนักงานที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย จะจัดเก็บภาษีในอัตราที่อยู่อาศัย

          แต่ถ้าหากมีการนำไปทำอาคารสำนักงาน หรือการพาณิชย์อื่นๆ จะต้องชำระภาษีในอัตราการใช้ประโยชน์อื่น อย่างไรก็ดี หากบ้านพักที่ ทอท. ซื้อคืนเป็นกันชนปิดไว้ ไม่ได้ใช้ประโยชน์ตลอดทั้งปีภาษี อาจเข้าข่ายได้รับการยกเว้นการจัดเก็บภาษีตามกฎกระทรวงกำหนดทรัพย์สินที่ได้รับการยกเว้นจากการจัดเก็บภาษีทีดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ข้อ (2) ทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจที่ยังมิได้ใช้ในกิจการของรัฐวิสาหกิจและยังมิได้ใช้หาประโยชน์

          5) สนามบินสุวรรณภูมิมีพื้นที่ที่เป็นลู่วิ่งจักรยาน ลู่วิ่ง สนามเปตอง สนามฟุตบอล ให้ประชาชนเข้าไปใช้บริการฟรี จะได้รับยกเว้นภาษีร้อยละ 90 เฉพาะพื้นที่ที่ใช้เล่นกีฬาเท่านั้น โดยต้องเป็นชนิดกีฬาที่คณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทยกำหนดให้สามารถของจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมกีฬาได้ (ตาม พ.ร.ฎ.ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2563 มาตรา 4 (8))

          6) สนามบินสุวรรณภูมิที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่หลายพันไร่ มีโฉนดที่มากกว่าหนึ่ง ทอท. ได้มีหนังสือระบุสิ่งปลูกสร้างและที่ดินให้แก่ อปท. ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการแล้ว ขอให้ อปท. ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการหารือกันในเรื่องเขตการปกครองตนเองให้เรียบร้อย

          7) พื้นที่อาคารผู้โดยสาร ที่จะจัดสรรเชิงพาณิชย์แบ่งเช่าไปบ้างแล้วบางส่วน กรณีบางส่วนที่ยังไม่มีการให้เช่า และยังคงเป็นพื้นที่ว่างจะต้องถูกประเมินและถูกเก็บภาษีฯ

          8) สนามบินสุวรรณภูมิมีพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ที่อาคารจอดรถ และเปิดสาธารณะให้บุคคลเข้าชมโดยไม่เก็บค่าบริการจะได้รับยกเว้นภาษีตามมาตรา 8(7) หรือไม่นั้น กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างจัดทำประกาศเรื่องพิพิธภัณฑ์ โดยมีการสำรวจปรับปรุงรายการพิพิธภัณฑ์ว่ามีหน่วยงานใดบ้าง ซึ่งหากพิพิธภัณฑ์ของสนามบินสุวรรณภูมิอยู่ในรายการนี้จะเข้าข่ายได้รับการยกเว้นตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ

          9) กรณีทางยกระดับพาดผ่านเข้ามาที่สนามบินสุวรรณภูมิ พ.ร.ฎ.ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2563 มาตรา 4 (10) กำหนดให้ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่ตั้งของถนนหรือทางยกระดับที่เป็นทางพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย หรือเป็นทางหลวงสัมปทานตามกฎหมายว่าด้วยการสัมปทาน

          10) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีศูนย์ขนส่งสาธารณะ ซึ่งจัดพื้นที่ให้กับ ขสมก. นำรถมาจอดให้บริการประชาชนที่ต้องการต่อรถเพื่อเดินทางไปยังจังหวัดใกล้เคียง กรณีนี้อาจเข้าข่ายได้รับการลดหย่อนภาษีตาม พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ มาตรา 4 (8)(จ) ที่ดินที่เป็นลานจอดรถโดยสารสาธารณะในสถานีขนส่งผู้โดยสาร

          11) ท่าอากาศยานบางแห่งมีบ่อน้ำที่มีไว้เพื่อป้องกันน้ำท่วมโดยมีการขุดลึกลงไป 3 เมตร กรณีบ่อของ ทอท. เป็นสิ่งปลูกสร้างชนิดพิเศษ ทอท. ควรหารือกรมธนารักษ์ว่า สิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจะเข้าข่ายสิ่งปลูกสร้างพิเศษหรือไม่

          12) สนามบินที่ ทอท. ได้รับสัมปทานทั้ง 6 แห่ง มีทรัพย์สินทั้งส่วนที่ได้รับการลดและยกเว้นภาษี ดังนี้

                    12.1) ส่วนที่อยู่นอกเหนือสนามบินไม่ได้ทำประโยชน์ ไม่มีการก่อสร้าง เป็นที่รกร้างว่างเปล่าได้รับการยกเว้นการจัดเก็บภาษี ตาม พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ กำหนดไว้ยกเว้นการจัดเก็บภาษีตามมาตรา 8(12) ทรัพย์สินอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยกฎกระทรวงกำหนดทรัพย์สินที่ได้รับการยกเว้นจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (2) ทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจที่ยังมิได้ใช้ในกิจการของรัฐวิสาหกิจ และยังมิได้ใช้หาผลประโยชน์

                    12.2 ส่วนที่ดินว่างเปล่าในสนามบินรอบบริเวณทางวิ่ง ทางขับ หรือลานจอดอากาศยานที่กันไว้เพื่อความปลอดภัย (Safe zone) ตามมาตรฐานขั้นต่ำของข้อกำหนดว่าด้วยมาตรฐานสนามบินที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยกำหนด ได้รับการยกเว้นการจัดเก็บภาษี ตามพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ มาตรา 55 การลดภาษีที่ดินบางประเภท โดยตราเป็นกฎกระทรวงกำหนดทรัพย์สินที่ได้รับการยกเว้นการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ ข้อ (3) ทรัพย์สินที่เป็นที่ดินว่างเปล่าในสนามบินรอบบริเวณทางวิ่ง ทางขับ หรือลานจอดอากาศยาน ที่กันไว้เพื่อความปลอดภัยตามมาตรฐานขั้นต่ำของข้อกำหนดว่าด้วยมาตรฐานสนามบินที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยกำหนด

                    12.3 ส่วนปฏิบัติการ (Operation) ทั้งหมดของ ทอท. ถือเป็นรัฐวิสาหกิจ ต้องเสียภาษีเช่นเดียวกับรัฐวิสาหกิจอื่น

                    12.4 อาคารผู้โดยสาร (Terminal) เก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตาม พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ

          13) เจ้าหน้าที่ ทอท. ควรจัดเตรียมข้อมูลทรัพย์สินที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พร้อมชี้แจงอาณาเขตให้แก่ท้องถิ่นทราบ เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษี

          14) หากมีปัญหาเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทอท. สามารถติดต่อท้องถิ่นเพื่อขอรับคำปรึกษาได้ หรืออาจทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจเพื่อพิจารณาส่งเรื่องหารือไปยังคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

 

3. กรมท่าอากาศยาน

          1. ภารกิจของกรมท่าอากาศยาน หรือ บริหารสนามบิน โดยมาตรา 8 (1) พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ กำหนดให้ ทรัพย์สินของรัฐหรือของหน่วยงานของรัฐซึ่งใช้ในกิจการของรัฐหรือของหน่วยงานของรัฐหรือในกิจการสาธารณะ ทั้งนี้ โดยมิได้ใช้หาผลประโยชน์ ได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษี

          2. ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ (Heliport) ที่อยู่ในทะเลเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ขึ้นลงอากาศยานไม่อยู่ในความรับผิดชอบของท้องถิ่น จึงไม่อยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

 

4. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

          1. กรมอุทยานฯ มีหน้าที่ดูแลพื้นที่ตาม พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ.ป่าสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 แม้ว่ามีการบุกรุกพื้นที่อุทยานไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมาน ท้องถิ่นจะยังดำเนินการจัดเก็บภาษีตาม พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ ตามเดิม โดยการจัดเก็บภาษีดังกล่าวไม่เป็นเหตุในการอ้างสิทธิและไม่เป็นการรับรองการกระทำความผิดแต่อย่างใด ทั้งนี้ อำนาจหน้าที่ของกรมอุทยานฯ ที่จะดำเนินการกับผู้ที่บุกรุกยังคงเป็นไปตามกฎหมายกำหนดดังเดิม

          2. เจ้าหน้าที่ อปท. มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการเข้าไปสำรวจ ประเมินภาษี และแจ้งให้เจ้าของที่ครอบครองและใช้ประโยชน์ในพื้นที่อุทยานทราบ รวมทั้งขอให้ผู้ที่ครอบครองชี้เขตให้เจ้าหน้าที่ของ อปท. ทั้งนี้ ผู้ที่ครองครองพื้นที่มีสิทธิ์ทักท้วงหากเจ้าหน้าที่ประเมินภาษีไม่ถูกต้อง

          3. กรณีอุทยานแห่งชาติมีพื้นที่ครองคลุมหลายจังหวัด หลายท้องถิ่น เนื่องจากกฎหมายกำหนดไว้ว่าทุกท้องถิ่นจะต้องประเมินในเขตของตนเอง จึงควรพิจารณาที่ตั้งที่ดิน หรือสิ่งปลูกสร้างในสำดับแรกว่าเกี่ยวเนื่องหรือครอบคุลมกับท้องถิ่นใดบ้าง

          4. ขอความร่วมมือกรมอุทยานฯ แจ้งไปยังเขตอุทยานต่างๆ ช่วยอำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่ของ อปท. ที่จะเข้าไปสำรวจในเขตพื้นที่อุทยาน

 

5. การเคหะแห่งชาติ

          การเคหะแห่งชาติ มีภารกิจหน้าที่ในการพัฒนาที่อยู่อาศัย โดยมีรูปบบทรัพย์สินที่จะต้องได้รับการประเมิน ได้แก่ ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และอาคารชุด

          1. ที่ดิน แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ที่ดินว่างเปล่า และ ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง

              ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ (1) พัฒนาเป็นที่อยู่อาศัย เช่น บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ และ (2) ที่ดินที่มีสิ่งปลูกสร้าง เช่น อาคารชุด และแฟลต

          2. อาคารชุดที่มีการดำเนินตาม พ.ร.บ.อาคารชุด (ฉบับที่ 4 ) พ.ศ. 2551 พื้นที่ส่วนกลางได้รับการยกเว้นอยู่แล้ว และไม่คิดค่าเสื่อมราคา โดยคิดรายชั้นตามบัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์ของกรมธนารักษ์โดยพื้นที่ส่วนกลางจะได้รับการยกเว้น

          3. อพาร์ทเม้นท์ หรือแฟลตต่างๆ ที่ให้เช่า จะไม่เข้าข่ายเป็นอาคารชุด แต่เป็นอาคารที่เป็นที่พักอาศัย จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ (1) ห้องเช่า และ (2) พื้นที่ส่วนกลาง จะประเมินเฉพาะส่วนที่เป็นห้องเช่า หรือคิดพื้นที่รวมทั้งหมด ซึ่งในสาระสำคัญจะต้องพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง

          4. การเคหะ ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเข้าตามพระราชบัญญัติจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 เนื่องจากการเคหะฯ ขอยกเว้น อย่างไรก็ดี กฎกระทรวงกำหนดทรัพย์สินที่ได้รับการยกเว้นจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ ได้มีการคำนึงถึงการดำเนินการดังกล่าว โดยกำหนดให้ทรัพย์สินที่ใช้สำหรับการสาธารณูปโภคและทรัพย์สินที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันในโครงการของการเคหะแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยการเคหะแห่งชาติ ได้รับการยกเว้นจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเช่นเดียวกับการดำเนินการตามพระราชบัญญัติจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543

          5. เดิมการเคหะฯ พัฒนาโครงการซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของการเคหะฯ โดยเช่าที่ดินของกรมธนารักษ์ อยู่ประมาณ 30 ปี มูลค่าของสิทธิการเช่าจะลดลงตามระยะเวลาหรือไม่ และมูลค่าในส่วนที่เหลือจะลดลงและมีผลต่อการจ่ายภาษีหรือไม่นั้น กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะประเมินภาษีจากมูลค่าที่ดิน ณ ปัจจุบันรวมกับมูลค่าของสิ่งปลูกสร้าง แล้วจึงนำมาคำนวณภาษี ไม่ได้พิจารณาจากสิทธิการเช่า

          6. ประเด็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายจัดสรรอาคารชุดฯ กฎหมายนิคมอุตสาหกรรมฯ ที่สร้างแล้วเสร็จก่อนพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับหรือวันที่ 13 มีนาคม 2562 แต่ยังขายไม่หมดจะได้รับการลดร้อยละ 90 ของค่าภาษีเป็นเวลา 2 ปี

          7. การคำนวณมูลค่าสิ่งปลูกสร้างจะมีการหักค่าเสื่อมราคาเป็นไปตามลักษณะโครงสร้างและอายุของสิ่งปลูกสร้าง

 

6. กระทรวงสาธารณสุข

          1. มูลนิธิหรือสมาคมที่ใช้พื้นที่ของโรงพยาบาลเป็นร้านค้าอยู่ในข่ายต้องชำระภาษี เนื่องจากมาตรา 8 (7) แห่ง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ กำหนดให้ทรัพย์สินที่เป็นของมูลนิธิหรือองค์การหรือสถานสาธารณกุศลตามที่รัฐมนตรีกระทรวงการคลังประกาศกำหนดได้รับยกเว้นภาษีเฉพาะส่วนที่มิได้ใช้หาประโยชน์

          2. ที่ดินที่เป็นที่ราชพัสดุกรณีมีบุคคลเข้ามาเช่าพื้นที่ เช่น กรมแพทย์แผนไทยให้คนเช่าพื้นที่เพื่อทำเป็นร้านค้าจะต้องแยกพิจารณาเป็น 2 ส่วน คือ (1) ที่ดินที่เช่าราชพัสดุต้องจ่ายค่าตามเงื่อนไขที่เช่ากับกรมธนารักษ์ และ (2) ส่วนที่นำพื้นที่ไปให้เช่าต่อจะต้องชำระภาษีให้ อปท. ตามที่ได้กำหนดเรื่องการครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์สินของรัฐ

          3. กรณีให้เอกชนเช่าพื้นที่เป็นตลาดขายของตามพื้นที่ท้องถนนเป็นการชั่วคราว และอาจมีสิ่งปลูกสร้างที่ไม่ถาวี โดยให้เช่าทำตลาดเพียงเดือนละ 2 ครั้ง เข้าข่ายการใช้ประโยชน์ จึงต้องถูกเรียกเก็บภาษีเนื่องจากส่วนของการใช้ประโยชน์พื้นที่นั้น หลักการคือ หากมีการหาประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นการชั่วคราวหรือถาวร จะต้องถูกประเมินภาษีและไม่ได้รับการยกเว้นภาษี กรณีเป็นที่ของรัฐถ้าไม่ทำประโยชน์จะไม่เก็บภาษี ทั้งนี้ท้องถิ่นจะเข้าไปสำรวจการทำประโยชน์ใดในพื้นที่ว่า ผู้ใด้เป็นเจ้าของและใช้ประโยชน์ ผู้นั้นจะต้องเป็นผู้เสียภาษี

 

7. กรมทรัพยาการทางทะเลและชายฝั่ง          
          ชุมชนที่อยู่ตามแนวชายฝั่งหลายแห่งเป็นชุมชนที่อาศัยอยู่โดยไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 จึงกลายเป็นชุมชนอาศัยอยู่ในเขตที่เป็นของรัฐทั้งหมด กรณีนี้การสำรวจเป็นหน้าที่ของ อปท. ซึ่งจะมีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ออกไปสำรวจการใช้ประโยชน์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จึงขอความอนุเคราะห์หน่วยงานภาคปฏิบัติของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่ อปท. ให้สามารถเข้าไปสำรวจพื้นที่ได้

 

8. กรมป่าไม้

          การเข้าใช้พื้นที่ป่าสงวนถือว่าที่ดินนั้นพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ. 2507 มาตรา 14 ห้ามมิให้บุคคลใดยึดถือครอบครองทำประโยชน์ หรืออยู่อาศัยในที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง  เผาป่า ทำไม้ เก็บหาของป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ เว้นแต่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยตามมาตรา 16 ดังนั้นกรณีที่ดินป่าสงวนที่มีบุคคลบุกรุกเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว จึงไม่ถือว่าเป็นที่ดินที่กฎหมายห้ามมิให้ทำประโยชน์  เนื่องจากมีการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์แล้ว เช่น อนุญาตถูกต้อง กรณีไม่ได้อนุญาตแต่มีผู้บุกรุกเข้าไปครอบครองหรือทำประโยชน์ ถือว่าเป็นผู้ทำประโยชน์ในทรัพย์สินของรัฐ ดังนั้นบุคคลที่ครอบครองหรือบุคคลที่บุกรุกจึงมีหน้าที่เสียภาษี

 

9. กรมชลประทาน

          กรณีเอกชนเข้ามาขอเช่าพื้นที่กับกรมธนารักษ์ และขออนุญาตกรมชลประทานแล้ว จะถือว่าเป็นผู้ครอบครองจึงต้องเสียค่าเช่ากับกรมธนารักษ์ และจ่ายภาษีให้ อปท. โดยท้องถิ่นจะเป็นผู้สำรวจขอให้กรมชลประทานช่วยอำนวยความสะดวกให้ข้อมูลแก่ อปท.ในส่วนของแบบแปลนและโฉนด

 

10. กรมส่งเสริมสหกรณ์

          กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ขออันอนุญาตกรมป่าไม้เข้าทำประโยชน์ในป่าสงวน 14 แห่ง ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี และมีป่าอีกแห่งหนึ่งที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้และเปิดพื้นที่ให้เกษตรกรทำประโยชน์โดยไม่ได้เรียกเก็บค่าเช่า ดังนั้นกระบวนการที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้รับมาและให้ประโยชน์ใช้และให้ประชาชนใช้ประโยชน์ จึงไม่เข้าข่ายเป็นการหาประโยชน์

 

11. กองทัพบก

          กองทัพบกนำพื้นที่บางส่วนไปดำเนินการในลักษณะจัดสวัสดิการ โดยเก็บเงินเข้ากองทุนสวัสดิการกรณีสถานพักฟื้นและพักผ่อนกองทัพบก สวนสนประดิพัทธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในพื้นที่มีศูนย์พัฒนากีฬา เช่น สนามกอล์ฟ สระว่ายน้ำ และอาคารโรงแรม หากคำนวณภาษีตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ราคาที่ดินจะมีราคาประมาณ 70,000 บาทต่อตารางวา รวมราคาประเมินแล้วประมาณ 10,000 ล้านบาท กองทัพบกจะต้องเสียภาษีปีละ 30 ล้านบาท ทั้งที่มีกำไร 100,000 ถึง 200,000 บาทต่อปี ควรดำเนินการดังนี้ (1) ดำเนินการตามกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไปก่อน (2) เมื่อกองทัพบกพิจารณาแล้วว่าได้รับผลกระทบจากกฎหมายเป็นอย่างมาก ก็สามารถส่งเรื่องเสนอกระทรวงการคลังพิจารณาออกพระราชกฤษฎีกาลดภาษีเพิ่มเติมให้

 

12. กองทัพอากาศ

          กองทัพอากาศมีที่ดินที่ได้รับมอบอำนาจจากกระทรวงการคลังโดยกรมธนารักษ์ มีผู้เช่าที่ดินซึ่งเป็นการเช่าเพื่อการเกษตรและที่อยู่อาศัย หากท้องถิ่นสำรวจพบว่าเป็นการทำธุรกิจจะต้องเก็บภาษีตามข้อเท็จจริงที่ได้ไปสำรวจ โดยพิจารณาจากการใช้ประโยชน์จริง ณ วันที่ 1 มกราคมของปีภาษีนั้น

 

13. กระทรวงศึกษาธิการ

          1. ศธ. มีที่ดินที่ได้รับบริจาคจากผู้มีอุปการะคุณให้นำที่ดินไปใช้ในการหาประโยชน์ และนำผลประโยชน์ที่ได้มาจัดสรรเป็นทุนการศึกษาให้กับเด็กนักเรียนตามแต่วัตถุประสงค์ของกองทุน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย เกษตรกรรม การพาณิชย์ และบางส่วนในลักษณะเป็นที่อยู่อาศัยและประกอบการพาณิชย์ด้วย เช่น การให้เช่าทำที่จอดรถ หรือรูปแบบอื่นที่กระทรวงศึกษาธิการใช้ประโยชน์โดยมิได้มีการชำระภาษีโรงเรือนและที่ดิน เมื่อมีบังคับใช้กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ศธ. จะต้องชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

          2. กรณีให้ธนาคารกรุงไทยใช้พื้นที่ติดตั้งตู้เอทีเอ็มในตึก อาคาร สำนักงาน ตู้เอทีเอ็มดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นสิ่งปลูกสร้างเพราะไม่มีลักษณะเป็นโรงเรือน ตึก หรืออาคาร แต่ยังต้องเสียภาษีในส่วนของที่ดิน

          3. กรณีที่ดินที่ได้รับบริจาคหากเจ้าของที่ดินยกให้กับ ศธ. และ ศธ. นำไปหาประโยชน์หารายได้โดยเจ้าของที่ดินไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์ให้ เจ้าของที่ดินจะต้องถูกประเมินและมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเช่นเดียวกับกรณีที่มีผู้บริจาคที่ดินให้กับวัด แต่ผู้บริจาคยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นอยู่ และวัดนำที่ดินนั้นไปหารายได้เจ้าของที่ดินก็จะต้องถูกประเมินและเสียภาษีเช่นกัน

          4. โรงเรียนมีร้านค้าซึ่งเป็นสวัสดิการและไม่ได้หากำไรไม่ต้องเสียภาษี เนื่องจากโรงเรียนมีหน้าที่ดูแลเด็กและจัดอาหารกลางวัน โรงอาหารของโรงเรียนถือเป็นหน้าที่ของโรงเรียนที่ต้องดำเนินการ เพื่อขายอาหารให้กับเด็กนักเรียน กรณีนี้พิจารณาว่าเป็นทรัพย์สินของรัฐที่ใช้ประโยชน์ในกิจการรัฐ

          5. โรงเรียนมีการส่งเสริมเรื่องสหกรณ์โรงเรียน เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ระบบสหกรณ์ตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 และมีการส่งเสริมโดยนำผลผลิตโครงการอาหารกลางวันไปใช้ในระบบสหกรณ์โรงเรียน ต้องพิจารณาลักษณะของสหกรณ์มี 2 ประเภท คือ การหาประโยชน์ และไม่หาประโยชน์ โดยส่วนใหญ่สหกรณ์ที่ทำตามแนวพระราชดำริจะไม่หาประโยชน์จึงเป็นไปตามมาตรา 8 (1) ที่กำหนดว่าทรัพย์สินของรัฐหรือของหน่วยงานของรัฐซึ่งใช้ในกิจการสาธารณะ โดยมิได้หาประโยชน์ ดังนั้นจึงไม่เข้าข่ายเสียภาษี

 

14. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม

          มหาวิทยาลัยมีการจัดการเรียนการสอนโดยมีศูนย์ฝึกโรงแรม หากเป็นการใช้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาจะได้รับยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่กรณีที่มีการหาประโยชน์โดยให้คนภายนอกเข้าพักอาจต้องพิจารณาในรายละเอียดตามแต่ละกรณี ทั้งนี้หากมีการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ต่างๆ ทุกประเภทในลักษณะหารายได้หรือการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์จะอยู่ในข่ายต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างด้วย

 

15. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

          1. ธปท. มีศูนย์กระจายธนบัตรให้ธนาคารพาณิชย์มาใช้สถานที่ เพื่อกระจายธนบัตรไปให้ศูนย์กระจายธนบัตรของธนาคารอื่นๆ หลายร้อยแห่งในประเทศ โดยไม่คิดค่าเช่า แต่คิดค่าซอฟต์แวร์ในการดูแลบริหารจัดการ ศูนย์กระจายธนบัตรถือเป็นวัตถุประสงค์ของ ธปท. ดังนั้นอยู่ในข่ายได้รับการยกเว้นภาษี

          2. ภูมิสถาปัตย์และลานจัดสวนหากไม่ได้หาผลประโยชน์จะไม่เสียภาษี

          3. ธปท. เป็นหน่วยงานของรัฐจึงเข้าข่ายได้รับยกเว้นภาษี ตามมาตรา 8 (1) แห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ อย่างไรก็ดีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่นำไปหาประโยชน์ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการของรัฐหรือของหน่วยงานของรัฐจะต้องเสียภาษี ดังนั้นหากมีการทำประโยชน์ก่อให้เกิดรายได้ก็ต้องเสียภาษี

 

16. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

          1. กฟผ. อยู่ระหว่างจัดทำข้อมูลพื้นที่ให้ชัดเจนเพื่อสนับสนุน อปท. ที่เข้ามาตรวจสอบข้อมูลในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เนื่องจาก กฟผ. มีพื้นที่ในทุกภูมิภาคและมีหลายบริบท ซึ่งจะเป็นการยากกับ อปท. ในการประเมินภาษี เช่น บางพื้นที่มีทั้งโรงไฟฟ้าและเขื่อน กรณีเขื่อนจะมีพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ทั้งที่ราชพัสดุ ที่ของกรมป่าไม้ ป่าสงวนแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช นอกจากนี้ยังครอบคลุมพื้นที่ของหลาย อปท. โดยบาง อปท. ไม่มีตัวเขื่อน แต่มีที่เก็บน้ำ

          2. กรณีทรัพย์สินของ กฟผ. ที่เกี่ยวเนื่องหลายพื้นที่ควรให้ อปท. ซักซ้อมตกลงกันในการออกใบประเมินให้เกิดความเข้าใจตรงกัน และเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน กฟผ. ควรทำการบันทึกรายละเอียดข้อมูลในแต่ละพื้นที่ว่ามี อปท. ใดเกี่ยวข้องบ้าง

          3. กรณีบ้านพักพนักงาน กฟผ. จะต้องเสียภาษีในอัตราที่อยู่อาศัย

 

17. หน่วยงานที่เข้าร่วมประชุม แต่ไม่มีประเด็นซักซ้อมความเข้าใจ

          ประกอบด้วย 3 หน่วยงาน คือ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม ได้รับทราบว่าหากมีการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ต่างๆ ทุกประเภทในลักษณะหารายได้ หรือการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์จะอยู่ในข่ายต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างด้วย

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

แจ้งข่าวดี! กรมการท่องเที่ยวจัดคอร์สเสริมพลังท้องถิ่น ด้านการท่องเที่ยวภาครัฐ

แจ้งข่าวดี! กรมการท่องเที่ยวจัดคอร์สเสริมพลังท้องถิ่น ด้านการท่องเที่ยวภาครัฐ

กรมการท่องเที่ยวจัดอบรมออนไลน์ ฟรี! เรื่อง “การเสริมพลั…

schedule
แซงทางโค้ง! ลุงชาญปาดบิ๊กแจ๊ส นั่งเก้าอี้นายก อบจ.ปทุมฯ

แซงทางโค้ง! ลุงชาญปาดบิ๊กแจ๊ส นั่งเก้าอี้นายก อบจ.ปทุมฯ

เมืองปทุมฯ ระอุ หลัง “ชาญ พวงเพ็ชร” ล้ม “บิ๊กแจ๊ส – พล.…

schedule
ทม.บึงยี่โถจัดใหญ่ “ลุงป้า ปู่ย่า หลานม่า The Festiwow” หนุนคุณค่าสูงวัยหัวใจสตรอง

ทม.บึงยี่โถจัดใหญ่ “ลุงป้า ปู่ย่า หลานม่า The Festiwow” หนุนคุณค่าสูงวัยหัวใจสตรอง

“ลุงป้า ปู่ย่า หลานม่า The Festiwow”ภายใต้โครงการบูรณาก…

schedule
บรรเทาวิกฤต “ขยะมูลฝอย” บทบาทสำคัญของท้องถิ่น

บรรเทาวิกฤต “ขยะมูลฝอย” บทบาทสำคัญของท้องถิ่น

ปี 66 ปริมาณขยะมูลฝอยในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นกว่าร้อยละ …

schedule

นิตยสารผู้นำท้องถิ่นออนไลน์ รวมข่าวสารอัพเดทของคนท้องถิ่น

ติดต่อเรา

อีเมล : [email protected]