นายแพทย์ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวในกรณีคำสั่งกระทรวงสาธารณสุข ห้ามรถพยาบาลฉุกเฉินขับเร็วเกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และห้ามฝ่าไฟแดงในทุกกรณี รวมถึงการห้ามทำหัตถการเคลื่อนที่กรณี ที่ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างแพร่หลายในแง่ของความเหมาะสมต่อการช่วยเหลือผู้ป่วยให้ทันเวลา โดยกล่าวว่า กฎดังกล่าวออกมาเพื่อใช้กับรถพยาบาลฉุกเฉินของโรงพยาบาลที่ใช้สำหรับส่งต่อผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลเท่านั้น เนื่องจากการส่งต่อผู้ป่วยในกรณีนี้ส่วนใหญ่จะส่งต่อข้ามอำเภอ หรือจังหวัด ซึ่งใช้เวลานาน จึงต้องประเมินสภาพผู้ป่วยว่าพร้อมจะเดินทางหรือไม่ ถ้าผู้ป่วยพร้อมถึงจะอนุญาตให้ส่งต่อ โดยปกติรถพยาบาลที่จะใช้ส่งต่อจะต้องมีการดัดแปลงสภาพให้มีลักษณะคล้ายห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลเพื่อให้การช่วยเหลือผู้ป่วย หากระหว่างการเดินทางต้องมีการทำหัตถการ จะต้องจอดในที่ปลอดภัย ดังนั้นจึงต้องประเมินทุกอย่างให้อยู่ในระดับปลอดภัย จึงออกกฎระเบียบนี้มา ทั้งนี้ ไม่ได้รวมถึงการไปรับผู้ป่วยบาดเจ็บในในจุดเกิดเหตุต่างๆ ที่มีการประสานขอความช่วยเหลือผ่านเบอร์โทรฉุกเฉิน 1669 ซึ่งกรณีนี้ จะมีทั้งรถของมูลนิธิ ท้องถิ่น อบต. เทศบาล และรถในเครือของ สธ. ที่ออกไปรับ โดยยึดหลักใครใกล้ให้ไปก่อน ส่วนใหญ่จะเป็นรถของท้องถิ่น หรือมูลนิธิ
“จากข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ปี 2559-2562 พบว่า เกิดอุบัติเหตุกับรถพยาบาล 110 ครั้ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตรวม 318 ราย แบ่งเป็น พยาบาลและบุคลากรในระบบ 129 ราย เสียชีวิต 4 ราย พิการ 2 ราย เป็นผู้ป่วยบนรถ ได้รับบาดเจ็บ 58 ราย เสียชีวิต 3 ราย และเป็นคู่กรณี เสียชีวิต 14 ราย ส่วนใหญ่เกิดขณะส่งต่อผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลถึงร้อยละ 80 จากการวิเคราะห์สาเหตุพบว่า 1.ขับรถเร็ว เช่น กรณีส่งต่อผู้ป่วยจากปราจีนบุรีไปอุบลราชธานี และเกิดอุบัติเหตุที่ศรีสะเกษ จากการตรวจ GPS ดูความเร็วล่าสุดก่อนเกิดเหตุสูงถึง 130 กม./ชม. และหลายครั้งที่เกิดเหตุมาจากการผ่าไฟแดง และไม่คาดเข็มขัดนิรภัย เพราะบนรถพยาบาลมีเข็มขัดที่จุดคนขับนั่งเพียงจุดเดียว เพราะเหตุนี้ถึงได้ออกกฎห้ามรถพยาบาลขับเกิน 80 กม./ชม. และให้มีเข็มขัดนิรภัยในทุกที่นั่ง นอกจากนี้ยังมีการทำประกันภัยชั้น 1 ครอบคลุมผู้เดินทาง 7 คน หากเกิดเหตุเสียชีวิตจะมีการชดเชยรายละ 2 ล้านบาท” รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าว