วันที่ 17 มิถุนายน 2563 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้รับหลักการร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ พ.ศ. 2564 และเตรียมส่งไปยังสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ซึ่งในร่างพระราชบัญญัติฯ มีเรื่องของงบประมาณท้องถิ่นรวมอยู่ด้วย
“งบประมาณนี้จะใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. เป็นต้นไป หากไม่อยากมีปัญหาในเรื่องการใช้งบประมาณก็ไปจัดการเลือกตั้งหลังวันที่ 1 ตุลาคม ซึ่งเป็นงบปี 2564 อยู่แล้ว” รองนายกรัฐมนตรีกล่าว
ด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ส่งสัญญาณหรือแจ้งไปยังคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ตัดสินใจดำเนินการเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศขึ้นในเดือนตุลาคม 2563 นี้ หากยังมีการประวิงเวลาในการจัดการเลือกตั้ง สมาคมฯ จะใช้หลักฐานนี้ยื่นฟ้องต่อศาลเอาผิด ครม. และ กกต. ทั้งคณะ
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า จากเดิมที่รัฐบาลประกาศว่าจะสามารถดำเนินการเลือกตั้งท้องถิ่นได้ภายในปีนี้ แต่พบว่าถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด โดยให้เหตุผลหลายประการ คือ ความไม่พร้อมในเรื่องของกฎระเบียบ ความไม่พร้อมของกกต. และความไม่พร้อมของประชาชน รวมไปถึงงบประมาณที่จะใช้ในการจัดเลือกตั้งถูกใช้ไปกับการแก้ไขปัญหาโควิด-19 หมดแล้วนั้น กรณีดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยมาจากการเลือกตั้งของประชาชนและส่งเสริมการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นนั้น บัดนี้กำลังเป็นข้อพิสูจน์ว่า ไม่เป็นความจริงเพราะมีความพยายามของรัฐบาลที่จะประวิงเวลายื้ออำนาจของตนเอง ผ่านกลไกของท้องถิ่นที่รัฐบาลได้ครอบงำไว้เบ็ดเสร็จแล้วออกไปไม่มีกำหนด
ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ม.252 ระบุไว้ชัดว่า “สมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง” แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ชอบอ้างว่ามาจากการเลือกตั้งนั้น ยังคงปล่อยให้ผู้บริหารท้องถิ่นครองอำนาจมาเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดมากกว่า 7-8 ปี บางแห่งให้ข้าราชการประจำรักษาการในตำแหน่งผู้บริหารมามากกว่า 5-6 ปีแล้ว
ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 ม.142 ระบุไว้ชัดเจนว่า ภายหลังจากกฎหมายนี้ใช้บังคับ ให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น โดยให้ คสช.แจ้งไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หากไม่มี คสช. ให้เป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี ดังนั้นการเลือกตั้งท้องถิ่นจึงไม่ใช่อำนาจของกระทรวงมหาดไทยที่จะกำหนดกรอบเวลาได้ หากแต่เป็นอำนาจของ กกต.โดยตรง
“ขณะนี้ กกต.ได้ออกระเบียบสำหรับใช้ในการเลือกตั้งเสร็จสิ้นมานานแล้ว แต่ กกต.กลับเงียบเฉยไม่ส่งสัญญาณใด ๆ ไปยังคณะรัฐมนตรี เพื่อแจ้งให้ทราบถึงความพร้อมในการควบคุม ดูแลการเลือกตั้งท้องถิ่น รวมทั้งการมีงบประมาณสำรองไว้กว่า 800 ล้านบาทแล้วด้วย ดังนั้น สังคมไทยจึงเห็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ออกมาเฉไฉในการให้สัมภาษณ์ในทำนองว่า ยังไม่พร้อมในเรื่องของกฎระเบียบ และความไม่พร้อมของคณะกรรมการการเลือกตั้ง” นายศรีสุวรรณกล่าว