close

หน้าแรก

menu
search

วันแรกเดือด! สส. จี้ รบ. ควรให้ความสำคัญท้องถิ่น

schedule
share

แชร์

          เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567 ณ อาคารรัฐสภา นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเลย พรรคเพื่อไทย ได้อภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ว่า ย้อนกลับไปเมื่อครั้งรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภา (11 – 12 ก.ย. 66) สมาชิกสภาหลายคนมีความกังวลและตั้งข้อสังเกตไว้มากมายในเรื่องของ “นโยบายกระจายอำนาจ” ที่รัฐบาลได้กล่าวเอาไว้กว้าง ๆ ว่า รัฐบาลจะใช้การบริหารงานในรูปแบบของการกระจายอำนาจ (ผู้ว่าฯ CEO) สร้างประสิทธิภาพในการบริหารงานในแต่ละจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่

          นายเลิศศักดิ์ กล่าวต่อว่า นโยบายผู้ว่าฯ CEO ในยุคปัจจุบันเป็นเรื่อง “แสลงหูของผู้คนในแวดวงการกระจายอำนาจ” โดยหลายคนมองว่านโยบายผู้ว่าฯ CEO เป็นเหมือนการกระจุกรวมอำนาจไม่สอดคล้องกับหลักการกระจายอำนาจ และเอื้อประโยชน์ในการจัดทำงบประมาณไปกระจุกไว้ที่จังหวัดและกลุ่มจังหวัด โดยใช้ประโยชน์จากอำนาจผู้ว่าฯ CEO ไปใช้จัดการงบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัด

          ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากร่างงบประมาณดังกล่าว ข้อกังวลของหลายคนน่าจะคลี่คลายลงไปได้  เพราะรัฐบาลยังคงให้ความสำคัญกับ อปท. โดยยังคงจัดงบประมาณให้กับ อปท. สูงถึง 101,306.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14,849.2 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.18 เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2566 ขณะที่รัฐบาลได้จัดสรรให้จังหวัดและกลุ่มจังหวัดเพียง 2.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นเพียง 1.5 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 7.33 จากเมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2566

          เพราะฉะนั้น เรื่องอำนาจของผู้ว่าฯ CEO ในการจัดการกับงบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัด น่าจะเป็นข้อสงสัยที่ไม่น่าจะเป็นความจริง เพราะร่างงบประมาณดังกล่าวได้ตอบข้อสงสัยแล้วว่า งบประมาณที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยไม่ได้มีผลทำให้หลักเกณฑ์การใช้งบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัดเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด ซึ่งหลักเกณฑ์การใช้งบประมาณที่สำนักงบประมาณได้ตั้งหลักเกณฑ์เอาไว้ว่างบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัดจะใช้ได้นั้นต้องเป็นงบลงทุนไม่น้อยกว่า 75% และต้องไม่เป็นโครงการของ อปท. รัฐบาลชุดนี้จึงพยายามลด เลิก หลักเกณฑ์ดังกล่าว นั่นหมายความว่า อปท. สามารถไปใช้งบประมาณของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดได้

          ตนมีความเชื่อว่าปัจจุบันโครงข่าย อปท. มีความเข้มแข็งมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันประชาชนก็มีความเข้าในบทบาทอำนาจหน้าที่ของ อปท. มากขึ้น จึงกล่าวได้ว่า อปท. เป็นหน่วยงานภาครัฐที่มีความใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชนมากที่สุด ในการให้บริการสาธารณะ

          นายเลิศศักดิ์ กล่าวอีกว่า นโยบายผู้ว่าฯ CEO เป็นรูปแบบหนึ่งในการกระจายอำนาจ โดยกระจายอำนาจจากอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ไปสู่ผู้ว่าราชการจังหวัด ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกและสนับสนุนการทำงานของ อปท. เพราะท้องถิ่นต้องประสบปัญหาหลายอย่าง เช่น ปัญหาเรื่องการแก้ไขแบบแปลนโครงการก่อสร้าง ข้อสั่งการ กฎหมายต่าง ๆ ปัญหาเหล่านี้ท้องถิ่นต้องส่งเรื่องให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด และส่งต่อไปที่ สถ. ดำเนินการแก้ปัญหา ปัญหาในบางเรื่องต้องส่งต่อไปที่กรมบัญชีกลางซึ่งใช้เวลา 3 – 6 เดือน กว่าจะได้รับการพิจารณาวินิจฉัยออกมา แต่ถ้าถ่ายโอนอำนาจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาไว้ที่ผู้ว่าราชการจังหวัด ในการวินิจฉัยปัญหาได้ทันท่วงที ทำให้ท้องถิ่นแก้ปัญหาของตนเองได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น หากเป็นไปแนวทางนี้ นโยบายผู้ว่าฯ CEO จะมีประโยชน์และไม่ขัดต่อการกระจายอำนาจ

          นายเลิศศักดิ์ กล่าวถึงตัวชี้วัดที่บ่งชี้ให้เห็นว่าการจัดสรรงบประมาณในร่างงบประมาณดังกล่าวยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องการกระจายอำนาจคือ สัดส่วนรายได้ของท้องถิ่นต่อรายได้สุทธิของรัฐบาลอยู่ที่ร้อยละ 29.1 อาจจะลดลงมาบ้างเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 29 พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ระยะเวลาในการบริหารงานแค่ 4 เดือน ไม่สามารถมาแก้ปัญหาให้สัดส่วนรายได้ของท้องถิ่นต่อรายได้สุทธิของรัฐบาลกระโดดไปถึง 35% นั้น เป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน แต่ตนเชื่อว่าสามารถทำได้โดยคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องถ่ายโอนภารกิจให้กับ อปท. มากขึ้น เมื่อถ่ายโอนภารกิจมากขึ้น เงินงบประมาณมจะเพิ่มขึ้นตามไป หากรัฐบาลชุดนี้มีเวลามากกว่านี้เชื่อว่าสัดส่วนรายได้ของท้องถิ่นต่อรายได้สุทธิของรัฐบาลที่แช่แข็งอยู่ 29% มาหลายปีจะเพิ่มสูงขึ้น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะไปถึงเป้าหมายร้อยละ 35 ที่ตั้งไว้ให้ได้

         ขณะที่ขั้วของฝ่ายค้าน นายชัยชนะ เดชเดโช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายร่างงบประมาณปี 2567 ว่า รัฐบาลเปรียบเสมือน “ลิงได้แก้ว” โดยประชาชนต้องผิดหวังกับการรอค่อยเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่จะรับในเดือนมกราคม 2567 ที่สัญญาไว้ตอนหาเสียง แต่กลับไม่มีเงินกำหนดในงบประมาณ โดยงบประมาณทั้งหมด 3.48 ล้านล้านบาท ซึ่งประมาณรายจ่ายประจำ 72.8% และมีงบลงทุนเพียง 20.6% ที่เกินหลักเกณฑ์เล็กน้อย

         โดยการจัดสรรงบประมาณต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แต่ในปีนี้มีงบกลางมากถึง 17.4% จากงบประมาณ 6.3 แสนล้านบาท ซึ่งมีเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินจำเป็น 9.5 หมื่นล้านบาท สูงกว่าเดิม 2 พันล้านบาท โดยนายกรัฐมนตรีสามารถใช้อำนาจโดยไม่ต้องผ่านคณะรัฐมนตรี ซึ่งประชาชนต้องติดตาม และงบบูรณาการ 2.15 แสนล้านบาท น้อยกว่าปีที่ผ่านมา (2566) แต่ความเป็นจริงควรตั้งไว้เยอะ เพราะต้องใช้ขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power ในการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน แต่กลับไปเกี่ยวข้องกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในการบริหารจัดการน้ำ 56,000 ล้านบาท ถึงสอบถามเกี่ยวกับโครงการในการจัดการ

         สำหรับงบประมาณแยกตามกระทรวง นายชัยชนะ กล่าวว่า งบประมาณกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ถูกตัดงบลง 9,537.4 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 7.44 ซึ่งเป็นอาชีพหลักของประชาชนคนไทย จึงขอให้นายกรัฐมนตรีเห็นใจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และไม่เห็นด้วยกับการจัดสรรให้งบประมาณกับ อปท. 29% แต่เราต้องการให้มีการจัดสรรเพิ่มขึ้นเป็น 35% เพื่อกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น

         โดยสัดส่วนรายได้ของ อปท. ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากส่วนกลางร้อยละ 29 เป็นเวลา 7 ปีติดต่อกัน ซึ่งประเทศไทยมี พ.ร.บ. กระจายอำนาจเมื่อปี 2540 แก้ไขเมื่อปี 2542 กรอบกฎหมายดังกล่าว พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เขียนไว้ชัดเจนว่า ต้องมีงบประมาณอุดหนุนให้กับท้องถิ่นไม่ต่ำกว่า 35% จากวันนั้นมาถึงวันนี้อยู่ที่ 29% แต่ 29% ที่ท้องถิ่นได้รับ ท้องถิ่นมีภาระหน้าที่มากมายวันนี้ เช่น ต้องรับโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจากกระทรวงสาธารณสุขโอนมาให้แต่ภารกิจ จนนายกท้องถิ่นไม่มีเงินจะบริหารราชการแล้ว ในฐานะที่ตนมาจากสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด น้ำไม่ไหลไฟป่า น้ำท่วม ไฟไม่ติด ประชาชนนึกถึงท้องถิ่นเป็นองค์กรแรก เกิดจนตายท้องถิ่นเป็นคนดูแล แต่รัฐบาลส่วนกลางไม่คิดจะให้เงินงบประมาณท้องถิ่นบ้างเลยหรือ ชัยชนะตั้งข้อสงสัย หรือว่าให้ท้องถิ่นบริหารภายใต้ของมันจำกัดอย่างนี้ไปตลอดเวลา นี่เป็นสิ่งที่ตนได้ฝากกับรัฐบาลนี้ไว้

         ส่วนนโยบายที่รัฐบาลใช้หาเสียงและสัญญากับประชาชน นายชัยชนะ กล่าวว่า นโยบายส่วนใหญ่ของรัฐบาล ขาดการให้ความสำคัญในการใช้งบประมาณ โดยนโยบายที่พรรคเพื่อไทย หาเสียงเลือกตั้งทั้ง 13 นโยบายสำคัญที่แถลงต่อรัฐสภาเดือนตุลาคม 2566 ซึ่งมีการบรรจุไว้ในร่างงบประมาณเพียงเล็กน้อย

         “รัฐบาลว่าควรให้ความสำคัญกับการดำเนินงานนโยบายของรัฐบาล ต้องยึดแนวทางภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังและยกระดับศักยภาพของประเทศในทุกระดับ และขอฝากนายกฯ แฟชั่น ควรให้ความสำคัญกับ อปท. เพิ่มศักยภาพถ่ายโอนภารกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อความเข้มแข็งของท้องถิ่น” นายชัยชนะ กล่าว

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

แจ้งข่าวดี! กรมการท่องเที่ยวจัดคอร์สเสริมพลังท้องถิ่น ด้านการท่องเที่ยวภาครัฐ

แจ้งข่าวดี! กรมการท่องเที่ยวจัดคอร์สเสริมพลังท้องถิ่น ด้านการท่องเที่ยวภาครัฐ

กรมการท่องเที่ยวจัดอบรมออนไลน์ ฟรี! เรื่อง “การเสริมพลั…

schedule
แซงทางโค้ง! ลุงชาญปาดบิ๊กแจ๊ส นั่งเก้าอี้นายก อบจ.ปทุมฯ

แซงทางโค้ง! ลุงชาญปาดบิ๊กแจ๊ส นั่งเก้าอี้นายก อบจ.ปทุมฯ

เมืองปทุมฯ ระอุ หลัง “ชาญ พวงเพ็ชร” ล้ม “บิ๊กแจ๊ส – พล.…

schedule
ทม.บึงยี่โถจัดใหญ่ “ลุงป้า ปู่ย่า หลานม่า The Festiwow” หนุนคุณค่าสูงวัยหัวใจสตรอง

ทม.บึงยี่โถจัดใหญ่ “ลุงป้า ปู่ย่า หลานม่า The Festiwow” หนุนคุณค่าสูงวัยหัวใจสตรอง

“ลุงป้า ปู่ย่า หลานม่า The Festiwow”ภายใต้โครงการบูรณาก…

schedule
บรรเทาวิกฤต “ขยะมูลฝอย” บทบาทสำคัญของท้องถิ่น

บรรเทาวิกฤต “ขยะมูลฝอย” บทบาทสำคัญของท้องถิ่น

ปี 66 ปริมาณขยะมูลฝอยในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นกว่าร้อยละ …

schedule

นิตยสารผู้นำท้องถิ่นออนไลน์ รวมข่าวสารอัพเดทของคนท้องถิ่น

ติดต่อเรา

อีเมล : [email protected]