หลังจากมีสัญญาณว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงในไตรมาส 1-2 จากภาวะเศรษฐกิจโลกผันผวนและปัญหาการเมืองในประเทศ ทำให้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้กระทรวงการคลังจัดทำมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งล่าสุดกระทรวงการคลังได้เสนอมาตรการเติมเงินเข้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้กับประชาชนที่ถือบัตรนี้ 3 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ปกครองที่มีบุตรเรียนหนังสือชั้นมัธยมลงไป กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มคนพิการ รวมทั้งเสนอให้แจกเงิน 1,500 บาท ให้กับประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวเมืองรอง ทั้งหมดอยู่ในระหว่างรอเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบภายใน 30 เมษายนนี้ กระแสข่าวดังกล่าวเป็นที่สนใจและถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก
ส่วนที่ 1 คือ มาตรการเติมเงินให้ผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ได้แก่ ผู้ปกครองที่มีบุตรกำลังเรียนในชั้นมัธยมศึกษาลงไป เพื่อช่วยค่าชุดนักเรียน อุปกรณ์ หนังสือ จำนวน 500 บาทต่อบุตร 1 คน , เกษตรกรที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและลงทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อช่วยค่าปุ๋ย จำนวน 1,000 บาท(ครั้งเดียว) และเพิ่มเงินให้กับกลุ่มผู้พิการ จำนวน 200-300 บาทต่อเดือน ที่เดิมรัฐช่วยเหลือ 600-800 บาทต่อเดือน โดยมีผลตั้งแต่ พฤษภาคม – กันยายน 2562 ใช้งบประมาณทั้งสิ้นกว่า 2.2 หมื่นล้านบาท จากกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจรากฐานและสังคม โดยจำนวนงบประมาณอาจปรับเปลี่ยนได้อีกเล็กน้อย เนื่องจากกระทรวงการคลังต้องหารือกับสำนักงบประมาณถึงจำนวนงบคงเหลือ และยอดวงเงินที่จะใช้ทั้งหมดอีกครั้ง
ส่วนที่ 2 คือ การกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรอง โดยแบ่งเป็น 3 มาตรการได้แก่ 1) โครงการยิ่งเที่ยว ยิ่งเท่ ช่วยเปย์ เมืองรอง แจกเงินจำนวน 1,500 บาทให้กับประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป นำไปใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์อีเพย์เมนท์ในเมืองรอง 55 จังหวัด เงื่อนไขคือ ต้องลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน ในระบบกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้คลังโอนเงินเข้า โดยรับเพียง 10 ล้านคน คาดว่าจะดำเนินการได้ในเดือนพฤษภาคมนี้ ในส่วนนี้จะใช้งบประมาณส่วนกลาง 1.5 หมื่นล้านบาท 2) ขยายมาตรการลดหย่อนภาษีจากการท่องเที่ยว จะดำเนินการต่อเนื่องจากปี 2561 โดยประชาชนสามารถนำค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบริการนำเที่ยว ค่าที่พักโรงแรม โฮมสเตย์ไทย และสถานที่พักไม่ได้เป็นโรงแรม มาใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ พร้อมทั้งจะขยายวงเงินลดหย่อนให้มากกว่า 15,000 บาท เพื่อเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศด้วย 3) ขยายระยะเวลาเปิดจุดให้บริการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติออกไปอีก 6 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน – กันยายน 2562 ซึ่งหลังการทดลองใช้โครงการนี้ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีผู้ขอคืนภาษีกว่า 5,000 คน มูลค่าภาษีกว่า 4 ล้านบาท