close

หน้าแรก

menu
search

ย้อนตำนานผู้นำท้องถิ่น “กำนันเป๊าะ” นักเลงเรียกพี่ รัฐมนตรีเรียกพ่อ

schedule
share

แชร์

       ย้อนอดีต 20 ปี แนวคิด “กำนันเป๊าะ” ทั้งเรื่องการพัฒนาเมืองชลฯ การบริหารบุคคล ที่มาของความเจริญในปัจจุบัน ผ่านบทสัมภาษณ์นานกว่า 6 ชั่วโมงในนิตยสารผู้นำท้องถิ่น ปีที่ 2 ฉบับที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545

       “หลายคนรู้จักเขา หลายคนเคยได้ยินกิตติศัพท์เขา และหลายคนต่างพากันคาดเดาเรื่องของเขา สมชาย คุณปลื้ม หรือ “กำนันเป๊าะ” คนที่ใครต่างพากันขนานนามว่าเป็นเจ้าพ่อหมายเลขหนึ่งของเมืองไทย หรือผู้มีอิทธิพลที่แผ่บารมีไปทั่วเมืองชลบุรี หรือทั้งภาคตะวันออก แทบจะทุกครั้งที่มีข่าวอาชญากรรมที่ครึกโครม ชื่อของเขามักจะถูกผูกโยงให้เข้ากับเหตุการณ์ดังกล่าวเสมอๆ ทั้งที่ความเป็นจริงยังไม่ปรากฎ และบางครั้งเจ้าตัวยังไม่รู้จักกับคนที่ตายด้วยซ้ำ”

       น่าแปลกใจอย่างยิ่ง คนที่ใครๆ พากันเรียกว่า “เจ้าพ่อ” กลับพลิกโฉมบางแสนชายหาดที่เคยทรุดโทรมให้กลับเจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว รางวัลเหรียญเงินที่ได้รับจากเป็นตัวแทนของ ส.ท.ท. ไปร่วมประชุมกับต่างประเทศในแถบเอเซียแปซิฟิกใต้ คงเป็นเครื่องการันตีถึงความเป็นนักพัฒนาท้องถิ่นมืออาชีพ

       ทำไมร้องเท้ามันวาวทำให้บ้านเมืองเจริญช้า?

       การพัฒนาเมืองชลฯ โดยใช้ยุทธศาสตร์การรวมศูนย์อำนาจการเมืองทุกระดับไว้ในกำมือ จนเป็นที่มาของคำว่า “ถ้าไม่ใช่คนของกำนันอย่าฝันว่าจะสอบผ่านสนามเลือกตั้ง”

       เรื่องราวของเขาจึงน่าสนใจอย่างยิ่งเพราะคนที่ นักเลงเรียกพี่ รัฐมนตรีเรียกพ่อ ไม่บ่อยนักที่จะพูดแบบหมดเปลือก…

บทบาทการจัดการบางแสนที่เสื่อมโทรมให้กลับมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ใครๆ ก็อยากไป

       “บางแสนในอดีตมันมีความสวยงาม มีชื่อมีเสียงคู่มากับหัวหิน แล้วก็มาอีกช่วงระยะหนึ่งบางแสนก็เกิดความเสื่อมโทรมมาจากสาเหตุที่ไม่มีคนดูแล มีคนบุกรุกทำมาหากินเพื่อประกอบการชายหาดบ้าง นายอำเภอในฐานะเป็นประธานสุขาภิบาล กรรมการบางคนในสมัยนั้นก็แก่ๆ ไม่เอาถ่าน จะปรับปรุงอะไรต่ออะไรมันก็ไม่ไหว บางแสนจึงเกิดความเสื่อมโทรม และบังเอิญพัทยาก็เริ่มเกิด คนก็มุ่งไปพัทยากันหมด บางแสนก็ซบเซาลง ความซบเซามันมีหลายสาเหตุ สาเหตุที่หนึ่งก็คือ เป็นที่สาธารณะประชาชนบุกรุกได้ ผิดกฎหมายนั้น โอเคแต่จะทำอะไรโดยถูกกฎหมายนี้ทำไม่ได้ พื้นที่สาธารณะนี้คนใช้อะไรมัน มันก็ยุ่งยาก มันสร้างสรรค์อะไรไม่ได้เลย พอมาถึงรุ่นผมเริ่มเติบโตขึ้นมาอายุ 29-30 ก็เข้ามาร่วมบริหารด้วยแนวคิดที่ว่า จะปรับปรุงบางแสนว่าควรจะทำอะไร เพราะอยู่กันเป็นร้อยๆ หลังคาเรือนมันจะทำได้ยาก แนวคิดของเราก็เลยคิดว่าถ้าจะไล่คนพวกนี้ออกไปจากชายหาดก็ไล่ยาก ก็ปล่อยเขามาอยู่หลายๆ พันคนแล้วนี่ เราก็ต้องหาที่สักแปลงแล้วก็จัดสรรให้เขาอยู่กันไป เพื่อที่จะได้ย้ายออกจากแนวชายหาด และใช้ความเด็ดขาดของเราด้วยเพราะไม่งั้นพวกนี้ไม่ไปหรอก เราต้องพูดคำที่ออกจะแรงซักนิดหนึ่ง จะย้ายคนพวกนี้โดยไม่ลงทุนนะเป็นเรื่องยากเราจะเอาไปตัดคอยังง่ายกว่าใช่ไหม เราก็ไปซื้อที่มาแปลงหนึ่งแล้วจัดสรรครอบครัวเล็ก – ใหญ่ แล้วก็ให้อยู่ฟรีกันเลยแล้วกัน ไปอยู่กันตามใบโฉนดที่ดินจัดให้อยู่เป็นล็อคๆ”

       นอกจากนี้ กำนันเป๊าะ ยังเล่าถึงการจัดปัญหาที่ทางเทศบาลแสนสุขต้องเจอ อาทิ ปัญหาขยะจากน้ำทะเลที่ลอยมาติดอยู่ริมชายหาด มีจำนวนมากเนื่องจากลักษณะภูมิประเทศที่เป็นอ่าว ทำให้ขยะที่มาจากแม่น้ำหลายสาย ที่ลงสู่ทะเลไหลมากองรวมกันที่นี่ พนักงานเทศบาลแสนสุขเองก็เก็บขยะกันทั้งวันทั้งคืน แต่คนไม่เพียงพอ เพราะติดระเบียบของมหาดไทย ห้ามจ้างพนักงานเกินกำหนดขนาดพื้นที่ จึงต้องเริ่มแก้ปัญหาที่จุดอื่นด้วย โดยให้ผู้ประกอบการ อาทิ กิจการเรือ ผ้าใบ ห่วงยาง ร้านอาหาร มาเป็นกรรมการร่วมกับเทศบาล ให้เขาได้มามีส่วนร่วมในการบริหารงาน และดูแลกันเอง ถ้ามีการทำความผิดเกิดขึ้น ก็จะให้กรรมการเตือนกันเอง ถ้าทำผิดบ่อยทางเทศบาลก็จะมีบทลงโทษ เช่น ห้ามขายสินค้า 1  หรือ 2 เดือน ตามความผิดหนักเบา บ่อยครั้งก็จะยึดใบอนุญาตห้ามขายของ เป็นผลให้ชายหาดบางแสนในปัจจุบันมีระเบียบมากขึ้น

       “ใช้ความจริงใจ ความขยันหน่อย แล้วปัญหาแต่ละพื้นที่ทุกเทศบาล นายกฯ ทุกคนจะรู้ดีว่าพื้นที่ของตนควรจะทำอะไรให้กับประชาชน”

การบริหารงานในสำนักงานเทศบาลสไตล์ “กำนันเป๊าะ”

       อดีตนายกเทศมนตรีเมืองแสนสุขกล่าวว่า ผมชัดเจนนะ ผมไม่หวงอำนาจและเป็นนายกฯ หนึ่งเดียวของประเทศไทยที่มอบงาน 100% เลย ให้เทศมนตรีซ้าย ขวา มอบงานให้หมดเลย ใครดูแลแบ่งงานไปให้ดูแลให้รับผิดชอบไปเลย ส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่ของเราจะให้ความร่วมมือดี ผมจะมีการประชุมโดยจะเชิญเฉพาะหัวหน้ากองเช่น กองสาธารณสุขหรือกองอนามัยเก่า กองช่าง กองคลัง กองทะเบียนราษฎร คนสำคัญๆ มาประชุม ผมมีแนวนโยบายอย่างนี้ หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า หก ผมพูดอยู่เสมอๆ ว่า ขอร้องอย่าไปเอาผลประโยชน์โดยเด็ดขาด มีอะไรขอให้บอกมาเราช่วยได้ เงินส่วนตัว นี่ล่ะ ไอ้ผลประโยชน์ที่จะเอาขอตามน้ำหรือให้โดยเสน่หานี่เราไม่ว่ากัน

       “ผลประโยชน์จากกองช่างค่อนข้างเยอะที่สุด ทั้งเขียนแบบ ทำทะเบียนบ้าน ก็เรียกเงินเรียกทอง ที่นี่ไม่มีโดยเด็ดขาด ถ้ามีขอให้มาร้องเรียนผมจะดำเนินการให้ นายกฯ บางคนวิสัยทิศน์ไม่มี ไม่รู้ข้อกฎหมาย ถ้าเชื่อปลัดเทศบาลติดคุกหมด อะไรที่ผิดก็เป็นความรับผิดชอบของผู้บริหาร แนวนโยบายที่ผมทำเอง ผมจะให้ปลัดฯ มีอะไรปรึกษาหารือกัน โดยส่วนตัวถ้างบฯ เกินล้านบาทขึ้นไป จะวิเคราะห์แล้ววิเคราะห์อีก ไม่ใช่ทำแล้วรื้อ แบบคนอื่นผมไม่เอา ตัวผมเองชำนาญในพื้นที่เราสั่งได้หมดเลย แนวคิดผมนั้น ทำที่ 50 ปี 100 ปี ข้างหน้า วางรูปแบบไว้นะ ไม่ใช่ทำเฉพาะหน้า ถนนหนทางที่นี่ไม่เหมือนที่อื่น ไม่ใช่ทำเสร็จปีนี้ปีหน้ารื้อใหม่ หรือสองสามปีพังรื้อใหม่ เพราะผมจะลากเส้นถนนอย่างน้อยชัดเจน 10 ปีขึ้นไป จะมีทรุดโทรมหรือมีปัญหาอะไรก็รีบแก้ไขเลย”

การบริการประชาชนแบบเข้าใจในวิถีท้องถิ่นของตัวเอง

       “เขียนป้ายติด “ปีแห่งการบริการประทับใจ” เพราะทุกคนมาแล้วเขาชื่นชม เราดูแลบริการดี มีที่นั่งพักผ่อน สิ่งอำนวยความสะดวกเรามีพร้อมให้หมด ไฟฟ้า หรือแสงสว่างเราได้ใช้ฟรีเพราะเป็นชุมชนใหญ่ เราได้ใช้ฟรี 10% จากกระแสไฟที่ใช้ได้ในพื้นที่ทั้งหมด บางคนบอกว่า บางแสนไม่ประหยัดไฟ ไม่ดับไฟเป็นบางส่วน ผมบอกว่าใช่ มันมีเหตุผล บางแสนไม่ใช่เห็นแก่ตัว การบริหารงานในทางแถบนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวต้องสว่างไสว แล้วความปลอดภัยมันดี ถ้าไฟมืดๆ สลัวๆ ดับบ้าง เว้นบ้าง ให้คนไม่เข้าใจ ก็หาว่าไม่ดูแลอีก เพราะบางทีคนมาประกอบการ ก็เที่ยวสว่างเลยนะ ไม่ใช่มาพักผ่อนแค่ริมหาด”

นายกเทศมนตรีที่ไม่เคยนั่งในห้อง

       “ในห้องทำงานผมไม่เคยเข้าไปนั่งเลย ทำงานทำนอกห้อง เซ็นหนังสือ เซ็นอะไรเนี่ย เพราะผมมอบงาน 100% ให้การเขียนหนังสือของผมน้อยๆ หน่อย นอกจากคำสั้นๆ ที่ว่า รับทราบ ที่เขาขอมา ขอมาเที่ยว มากิน มาบริการอะไรเนี่ย เราต้องแทงหนังสือนั่นไป อนุมัติอะไร ไม่อนุมัติอะไรแบบนี้ งานประจำที่มีอยู่ทุกวันนี้  เทศมนตรีดูแลอยู่เพราะเป็นที่ไว้วางใจได้ ไม่เคยแตกแถว คือว่า เราสั่งไว้อย่างไรก็จะนำนโยบายจะคอยปฏิบัติ ไปคอยดู คอยเซ็น แม้กระทั่งเช็ค ผมก็ไม่ได้เซ็น ผมจะออกพื้นที่ดูงานตลอดสังเกตจากการแต่งตัว จะมีกางเกงยีนส์ รองเท้าผ้าใบ โดยเฉพาะวันหยุดเนี่ยเราไม่มีหยุด ขยันนั้นเป็นความเคยชิน”

ทำไมร้องเท้ามันวาวทำให้บ้านเมืองเจริญช้า

       “เครื่องแบบนี้จะใส่วันประชุมสภาเราจะแต่งวันเดียว ออกระเบียบมาทั้งจังหวัดว่าเป็นนโยบายสั่งให้แต่งวันจันทร์ วันเดียวนะครับ เพราะไม่มีใครใส่ เพราะเราออกพื้นที่ ไม่รู้จะใส่ยังไงมันเหลืองอ๋อยอยู่ตามริมทะเลบ้าง ขออนุญาตจังหวัดแล้ว แม้แต่ผู้ใหญ่ในกระทรวงว่า นายกฯ ขอแต่งตัวยังงี้นะ เอ้าเรื่องจริงๆ เลยนะ ท่านนายกเทศมนตรีคนใดก็แล้วแต่ ผู้บริหารคนใดที่ใส่รองเท้ามันๆ หล่อๆ นั่งอยู่ในห้องแอร์อย่างเดียว บ้านเมืองมีโอกาสเจริญช้าครับ

มุมมองต่อปัญหาและอุปสรรคในการบริหารงานพัฒนาท้องถิ่นของนายกเทศมนตรีทั่วประเทศ

       “คือ ใจไม่ถึงพอ ผู้หลักผู้ใหญ่มาก็ไม่กล้าเข้าใกล้นับประสาอะไรกับกระทรวงแต่ละกรมกอง อะไรก็ไม่กล้าจะเข้าไปเพราะไม่ค่อยรู้จัก แล้วเวลาประชุมในพื้นที่ของท้องถิ่นตัวเอง ก็ยังไม่ค่อยจะมาอะไรต่ออะไร เลยไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่ว่านายกฯ บางคนขยัน ว่างก็มาปรึกษา ไม่ว่างก็โทรมาปรึกษา คนไม่ขาดแคลนอะไรก็ไม่กล้ามาถาม นอนอย่างเดียวเลยไม่เอาถ่าน เขาเรียกว่า นายกฯ เสร็จสรรพ นายกฯ ที่ดีๆ เขาจะรู้จักประสาน เวลาผู้หลักผู้ใหญ่เขามาประชุมก็ควรจะรู้จักไว้บ้าง วันหน้าวันหลังก็จะได้ประสานโดยตรงได้ ไม่ต้องผ่านหลายขั้นตอน

       บางคนที่เรามองว่ามันเป็นคนดี ไอ้คนดีนี่แหละมีหลายประเภทนะ คนที่เอาเปรียบสังคม คนมองว่าคนดี แต่คนดีที่มาบริหารงานไม่เป็น ผมบอกว่าเอามาแล้วทำอะไร ดีแต่นั่งเฉยๆ อย่างเดียว หางบประมาณก็ไม่ได้ จุดสำคัญหัวใจของการบริหารงาน ก็คือ เราต้องมีสตางค์นะ เราคิดได้แต่ไม่มีตังค์เราทำไม่ได้ บางคนมีตังค์แต่คิดไม่ได้ว่าจะทำอะไร นี่ก็ไม่ได้เรื่องอีกนะ คิดไปคิดมามันเป็นการจัดสรรคัดคน เข้ามาบริหารงาน คนดีมีเยอะที่มานั่ง ลูกน้องทุกคนผมสอน นกไม่มีขน คนไม่มีพวก มันไปไม่รอดหรอก ถ้าเอาตามตัวอย่างของพี่จ๊อด (พลเอกสุนทร คงสมพงษ์) พูดไว้เสมอ มันเป็นแนวคิดที่ดี คนไม่มีพวกจะทำอะไรมันก็สำเร็จยากนะ”

ว่ากันว่า ผู้สมัครถ้าไม่ได้อยู่ในทีมของกำนันเป๊าะจะสอบตก หรือว่าพ่ายแพ้การเลือกตั้ง

       “ส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนั้น 100% กับทีมที่ไม่ได้อยู่ เพราะเราไม่เห็นด้วย เพราะเราเป็นศัตรูทางการเมือง เราจะให้ไม่ได้ พูดอย่างลูกผู้ชายเลยนะ เพราะฉะนั้นคนที่อยู่นอกเหนือจากกลุ่มการเมืองตรงข้ามกับเรา นี่ถือว่าคู่แข่งเลย แล้วคู่แข่งเราจะให้เกิดไม่ได้ ถ้าเกิดขึ้นมานี่เดี๋ยวคะแนนเสียงมันจะหายไป ใช่ไหม แล้วทำงาน พูดกันไม่รู้เรื่อง ส่งผลให้งานพัฒนามันจะไปคนละแนวทางเลย ฉะนั้นกลุ่มการเมืองในท้องถิ่นก็ดี ส่วนใหญ่ถ้าฝ่ายตรงข้ามนี่เราจะบอกเลยนะ ไอ้คนนี้ไม่เอานะ เอามาจะมาขัดแย้งกับเขาเปล่าๆ ชาวบ้านเขาก็เชื่อนะ ก็มีพวกที่ว่าเราอาศัยพวกมากลากไป ดีบ้างไม่ดีบ้าง อย่างน้อยไม่ถึง 100% ก็เกิน 50% เราค่อยฝึกฝนเข้าไป ยอมรับเลยเรามีบารมีพอสมควร ถ้าคนนี้เราไม่เอา ก็หลุดหมด แม้แต่อุทัย (พิมพ์ใจชน) ก็ยังหลุด”

การคัดเลือกคนเข้ามาร่วมทีมบริหาร

       “ผมอยู่ตรงนี้หาเสียงมา 10 กว่าปี 20 กว่าปี ผมลงพื้นที่ตลอดทั้งจังหวัด 10 อำเภอ เราจะรู้เลยว่าตำบลนี้ใครโดดเด่น ใครดี ใครกล้าเสียสละ ประชาชนเขายอมรับ ตามเป้าหมายนี้ ก็เอาโดดเด่นที่สุดในหมู่บ้านนั้นหรือตำบลนั้น เราต้องการคนในพื้นที่ ส่วนคนนอกพื้นที่ที่ตั้งใจทำงาน แต่ทุกคนเข้ามาแล้วเขาก็มาหาผลประโยชน์ พอเสร็จแล้วเขาก็ตีหัว เขาได้ก็ไปแล้ว ผมเลยมองจุดนี้ เอาคนในพื้นที่ดีกว่า เพราะเด็กๆ ที่มีความรู้ความสามารถเยอะแยะไป แต่ยังไม่มีประสบการณ์เท่านั้นเอง มาแล้วคอยแนะนำคอยชี้แนะนิดหน่อย ส่วนเขาจะเชื่อไม่เชื่อไม่รู้ เพราะเด็กรุ่นหลังเขามีความรู้กว่าเรา แต่ประสบการณ์เขาสู้เราไม่ได้”

เคล็ดลับการรวมองค์กรท้องถิ่นในจังหวัดชลบุรีให้เป็นหนึ่งเดียว ตามยุทธศาสตร์การรวมศูนย์อำนาจการบริหารท้องถิ่น

       “จริงๆ แนวคิดก็ไม่ค่อยมีนะ ผมต้องพูดตามประสาลูกทุ่งคุยกันเอง มึงกูบ้างตามภาษาสุโขทัย แต่เราไม่ใช่คนหยาบ แต่ว่าพูดแล้วมันใกล้ชิดกันนะ มันจะไม่ห่างกัน ถ้าเป็นท่านอะไรอย่างนี้ มันจะสูงต่ำไม่เสมอภาค เราก็ใช้วิธีใกล้ชิด เพราะผมก็เป็นกำนันมาก่อน กำนันผู้ใหญ่บ้านก็เลยคุ้นเคยกันหมด กลุ่มแม่บ้านด้วย ทุกองค์กรเดี๋ยวนี้เรารู้จักสนิทสนมกันหมด เมื่อรวมกลุ่มกันได้ผลประโยชน์แต่ละท้องถิ่นจะได้ร่วมกัน เวลาประชุมจะได้ไม่แตกแยกกัน มีอะไรก็จะได้ทำไปในทิศทางเดียวกัน…ทำอะไรก็จะสำเร็จหมดถึงบอกว่าเดี๋ยวนี้ชลบุรีเป็นหนึ่งเดียวเป็นเมืองตัวอย่าง”

เชื่อว่าหลักการบริหารงานแบบเบ็ดเสร็จจะดีกว่าการที่หลายๆ คนมาร่วมกันเข้ามาบริหาร

       “เอามาแล้วมันขัดแย้งกันมันก็ไปด้วยกันไม่รอด ถ้าแย่งกันในทางที่ดีก็โอเคนะ เพราะแนวคิดเราไม่ค่อยเหมือนกัน แม้กระทั่งบริหารในกลุ่มเดียวกันเทศบาลตำบลมี 12 คน ก็ยังขัดแย้งกันเพราะความเห็นไม่ตรงกัน แต่ว่าส่วนใหญ่ตรงไหนที่ดีที่สุด เราก็เอาจากตรงนั้นมาทำ วิเคราะห์ไปดูพื้นที่กัน ตรงไหนเห็นว่าดีทำไปได้ประโยชน์กับประชาชนทั้งนั้นเลย เพราะฉะนั้นแนวคิดผมจะทำผิดทำถูกผมไม่รู้นะ ประชาธิปไตยก็จริงแข่งขันกัน ก็ไม่ได้ห้ามแต่เป็นคนละกลุ่มกันมาแข่งขันกับผมนี่ ผมจำเป็นต้องดีดออกแล้ว ยิ่งการเมืองด้วยเราไม่ให้ใครเกิดหรอก เพราะเราจะเป็นคนเดียว เราคนงก…”

       “บางคนก็บอกมีแต่ฝ่ายกำนันทั้งนั้นเลย ไม่มีฝ่ายค้านหรอ ผมบอกเลยฝ่ายค้านไม่ต้องมี เห็นๆ อยู่ เพราะทุกคนจะทำดีทั้ง 100 เต็ม 100 อาจจะไม่มี แต่ไม่ต้องมีฝ่ายค้าน ถ้าค้านสองคนจะมีประโยชน์อะไรยกมือในสภาก็แพ้ ฝ่ายค้านตัวจริงคือ พวกประชาชนอย่างพวกคุณนี่แหละ ผมจะบอกให้”

ความคิดเห็นเกี่ยวกับชื่อเสียงที่ไม่ดี ที่คนอื่นพูดกัน

       “ชี้แจงไปจะเชื่อหรือไม่เชื่อมันอีกเรื่องหนึ่ง แต่ผมขอยืนยันได้ผมเป็นคนรักพวกรักเพื่อน ผมเป็นคนเที่ยวก็มีเพื่อนมีฝูงเยอะ แต่ไอ้สิ่งที่เขาแต่งตั้งให้เราเนี่ยไม่เคยรับ แล้วข้อเท็จจริงบางเรื่องนี่ก็ปฏิเสธเลยนะ แต่ผู้กว้างขวางก็โอเคเรียกอย่างนี้มันก็ไม่น่าเกลียด เพราะเรากว้างขวางจริงๆ ก็เรารู้จักคนหมดเพราะจังหวัดชลบุรี เราคุ้นเคยเขาหมด ส่วนใหญ่จะเป็นผู้นำและชาวบ้านก็คุ้นเคย ไอ้คำว่าเจ้าพ่อหรือมาเฟีย ผู้มีอิทธิพลทั้งหลายเนี่ย คือเรามีคู่แข่งทางการเมือง เขาไม่มีอะไรจะสู้เราในด้านสังคม ด้านพัฒนาก็สู้เราไม่ได้ เขาก็หยิบตัวนี้ขึ้นมาโจมตี…

       “บางจังหวัดมาดูงานแล้วก็บอก เจ้าพ่ออย่างนี้เขายอมรับและสร้างสรรค์อย่างเดียว  เพราะเราไม่เคยเกเร ไม่เคยสร้างบริวาร ไม่เคยเลี้ยงมือปงมือปืน แล้วการต่อต้านที่รุนแรงที่สุดนี่คือ ขโมยกับยาเสพติด นี่ผมก็ปราบมาเป็น 10 ปีแล้ว ใครจะอ้างไอ้สิ่งเรานี้ขออย่าเชื่อเลย ใครอ้างชื่อผมในทางไม่ดีเนี่ย ขอให้จัดการได้เลย … แต่ในมุมกลับกันนี่กลับดีนะ ผมมีอาชีพรับเหมาก่อสร้าง ไอ้คำว่ามาเฟียเจ้าพ่ออะไรเนี่ยคนมันกลัวนะ ผมเคยพูดกับคู่อริผมนะ เออเดี๋ยวนี้ขอบใจเว้ย ที่นายตั้งให้เราเป็นเจ้าพ่อ เดี๋ยวนี้ร่ำรวยเลย เขาประมูลงานกัน 400 – 500 ล้านบาท ไม่มีคู่แข่งเลยหนีกันเกลี้ยง…”

จุดยืนของการเล่นการเมืองท้องถิ่นของ “กำนันเป๊าะ”

       “ต่อคำถามที่ว่า ถ้ามีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดผมจะลงไหม ผมปฏิเสธเลยว่าผมไม่เอา ผมอยู่นี่ดีแล้ว ผมเองขอปฏิเสธเลยว่าผมไม่เอา…ส.ส. ผมก็ยังไม่กล้าลงเลย เพราะเราไม่มีความรู้ นี่คือเรามองในมุมกลับว่า เราควรจะนั่งอยู่ตรงไหน พอเหมาะ ถ้าสูงไปหน่อยเราจะอยู่ไม่ได้ เพราะภาษา สังคม เขาอาจจะไม่ยอมรับ…”

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

แจ้งข่าวดี! กรมการท่องเที่ยวจัดคอร์สเสริมพลังท้องถิ่น ด้านการท่องเที่ยวภาครัฐ

แจ้งข่าวดี! กรมการท่องเที่ยวจัดคอร์สเสริมพลังท้องถิ่น ด้านการท่องเที่ยวภาครัฐ

กรมการท่องเที่ยวจัดอบรมออนไลน์ ฟรี! เรื่อง “การเสริมพลั…

schedule
แซงทางโค้ง! ลุงชาญปาดบิ๊กแจ๊ส นั่งเก้าอี้นายก อบจ.ปทุมฯ

แซงทางโค้ง! ลุงชาญปาดบิ๊กแจ๊ส นั่งเก้าอี้นายก อบจ.ปทุมฯ

เมืองปทุมฯ ระอุ หลัง “ชาญ พวงเพ็ชร” ล้ม “บิ๊กแจ๊ส – พล.…

schedule
ทม.บึงยี่โถจัดใหญ่ “ลุงป้า ปู่ย่า หลานม่า The Festiwow” หนุนคุณค่าสูงวัยหัวใจสตรอง

ทม.บึงยี่โถจัดใหญ่ “ลุงป้า ปู่ย่า หลานม่า The Festiwow” หนุนคุณค่าสูงวัยหัวใจสตรอง

“ลุงป้า ปู่ย่า หลานม่า The Festiwow”ภายใต้โครงการบูรณาก…

schedule
บรรเทาวิกฤต “ขยะมูลฝอย” บทบาทสำคัญของท้องถิ่น

บรรเทาวิกฤต “ขยะมูลฝอย” บทบาทสำคัญของท้องถิ่น

ปี 66 ปริมาณขยะมูลฝอยในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นกว่าร้อยละ …

schedule

นิตยสารผู้นำท้องถิ่นออนไลน์ รวมข่าวสารอัพเดทของคนท้องถิ่น

ติดต่อเรา

อีเมล : [email protected]