close

หน้าแรก

menu
search

ยกระดับ รู้ สู้ น้ำ ด้วย “ปากเกร็ดโมเดลใหม่”

schedule
share

แชร์

          โครงการ “รู้ สู้ น้ำ” อย่างยั่งยืน ดำเนินภารกิจผ่านนวัตกรรมปากเกร็ดโมเดล ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่นำมาบริหารจัดการวิกฤตน้ำ เนื่องจากตั้งแต่ปี 2554 จังหวัดนนทบุรีได้ประสบกับปัญหาน้ำท่วมขังมาโดยตลอด แม้ว่าส่วนราชการระดับจังหวัดจะพยายามแก้ปัญหามาอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากชุดข้อมูลมีจำนวนมาก เพราะมาจากหลายแพลตฟอร์มจนเกิดภาวะท่วมท้นของข้อมูล (Information Overload) ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสบความยุ่งยากในการตัดสินใจ และบริหารจัดการชุดข้อมูล

          นายวิชัย บรรดาศักดิ์ นายกเทศมนตรีนครปากเกร็ด เปิดเผยว่า เทศบาลนครปากเกร็ด (ทน.) วางแผนป้องกันน้ำจากทุกทิศทาง แบ่งงานความรับผิดชอบกันระหว่างแต่ละส่วนราชการในการเข้าดูแลพื้นที่ และกรอกกระสอบทรายเพื่อป้องกันน้ำ รวมถึงการเยียวยา พร้อมใช้การประชาสัมพันธ์ทุกช่องทางส่งเป็นสัญญาณขอกำลังความช่วยเหลือจึงเกิดการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน ชุมชน ประชาชน และภาคเอกชน ทำให้ในปีนั้น (2554) ปากเกร็ดผ่านพ้นวิกฤติไปได้ จึงร่วมกันถอดบทเรียนพัฒนาให้เป็นองค์ความรู้ พร้อมถ่ายทอดกระบวนการต่าง ๆ เหล่านี้ เพื่อใช้เป็นกรอบในการใช้ปฏิบัติงานเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่อไป

          ด้าน นายสุทร บุญสิริชูโต ปลัดเทศบาลนครปากเกร็ด กล่าวว่า จากปากเกร็ดโมเดลเดิมที่ทั่วประเทศกล่าวขาน ได้มีการพัฒนาต่อยอดด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นนวัตกรรมปากเกร็ดโมเดลใหม่ สร้างภารกิจที่ชัดเจนเพื่อให้ครอบคลุมการบริหารสถานการณ์น้ำ และรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น นวัตกรรมนี้จะช่วยให้ประชาชนมีการรู้รับ ปรับตัว เตรียมความพร้อมมุ่งสู่การเป็น Resilience City ตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน

          ดังนั้น ทน.ปากเกร็ด เล็งเห็นว่า เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ข้อมูลจากน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพและตรงกับเป้าหมาย จึงได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดเก็บ และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการใช้วิธีคิดจาก “ระบบบัญชาการเหตุการณ์” (Incident Command System : ICS) มาเป็นกรอบแนวคิดในการพัฒนาระบบและประยุกต์การทำงานของ “ปากเกร็ดโมเดลใหม่” (ICS PAKKET MODEL) เพื่อเตรียมความพร้อมเรื่องการเตือนภัยและบรรเทาสาธารณภัย

ต่อยอดนวัตกรรมด้วยระบบสั่งการ ICS

          นายสันติ บุษบงทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดทำระบบ ICS กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระบุว่า ระบบสั่งการ ICS เป็นระบบที่ประเทศสหรัฐอเมริกาพัฒนาขึ้นจากสภาวะที่เป็นปัญหาอุปสรรคในการจัดการเหตุขนาดใหญ่ สำหรับประเทศไทยมองเห็นว่าหลายปัญหาที่เจออยู่ในปัจจุบัน สามารถนำแนวคิดของระบบบัญชาการเหตุการณ์เข้ามาใช้ได้จึงได้ศึกษาเรียนรู้ แล้วเข้ามาประยุกต์ใช้กับประเทศไทย

          ระบบดังกล่าวจะช่วยให้หน่วยต่าง ๆ ที่มีระบบการปฏิบัติภารกิจแตกต่างกัน สามารถมาทำงานภายใต้โครงสร้างเดียวกัน โดยมีระบบการสื่อสาร และระบบการส่งกำลังบำรุงร่วมกัน ซึ่ง ทน.ปากเกร็ด ได้นำแนวคิดระบบเดียวกันนี้ไปประยุกต์ใช้ โดยจะเข้ามาช่วยในการทำงานต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพและราบรื่นมากขึ้น

          ส่วน นายณัฐพงษ์ ศรีสว่าง นักวิชาการคอมพิวเตอร์ชำนาญการพิเศษ กล่าวว่า นวัตกรรมปากเกร็ดโมเดลใหม่เกิดจากการมีส่วนร่วมของปากเกร็ดโมเดลเดิมในปี 2554 ที่มีทั้งหมด 8 ภารกิจ มาต่อยอดด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยใช้ระบบสั่งการ ICS ที่นำซอฟต์แวร์เข้ามาควบคุมระบบการทำงาน ปรับเปลี่ยนกระบวนการการทำงานเดิมจนเป็นปากเกร็ดโมเดลใหม่ ซึ่งประกอบด้วย 10 ภารกิจ ได้แก่

ภารกิจที่ 1 หน่วยเฝ้าระวังตรวจสอบ แก้ไขสถานการณ์ 24 ชม. โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกับการปฏิบัติงานของบุคลากรให้มีความพร้อมและเพียงพอต่อการปฏิบัติงานตลอด 24 ชม.

ภารกิจที่ 2 หน่วยประชาสัมพันธ์ประสานงาน มีหน้าที่ประมวลเหตุการณ์และติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด โดยกำหนดช่องทางการประชาสัมพันธ์ข่าวสารที่ถูกต้อง และแจ้งเตือนข่าวสารโดยคนในพื้นที่

ภารกิจที่ 3 หน่วยสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ ทั้งในและนอกพื้นที่ มีหน้าที่จัดพื้นที่ส่วนกลาง เพื่อกระจายวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือต่าง ๆ และอาหาร เครื่องดื่มในการป้องกันน้ำ โดยมอบหมายเจ้าหน้าที่ประจำหน่วย จัดทำสมุดคุม วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ สมุดคุมการสนับสนุน อาหารและเครื่องดื่มจากหน่วยงานอื่นรวมถึงงบประมาณที่ใช้ไป

ภารกิจที่ 4 หน่วยบรรเทาทุกข์ ฟื้นฟูจิตใจ สุขภาพ บ้านเรือน โดยมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยลงสำรวจพื้นที่เชิงรุกทุกชุมชนที่ได้รับความเดือดร้อน ตลอดจนจำนวนผู้ประสบภัยได้รับความเดือดร้อน เชิงรุกและออนไลน์

ภารกิจที่ 5 ศูนย์ฟื้นฟูผู้ประสบภัย พักปลอดภัยห่างไกลน้ำ เตรียมพื้นที่สำรองเพื่อเป็นที่พักอาศัยและจัดเตรียมยาให้แก่ผู้ประสบภัย

ภารกิจที่ 6 หน่วยงานประเมินสถานการณ์น้ำแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากรณีน้ำมาฉุกเฉิน โดยมอบหมายหน้าที่ให้ประเมิน สั่งการ และเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงเป็นการเฉพาะ และเตรียมอุปกรณ์ เครื่องมือ กำลังคนให้พร้อมรับสถานการณ์ พร้อมแจ้งจุดเสี่ยงให้ศูนย์อำนวยการป้องกันทราบทุกสถานการณ์

ภารกิจที่ 7 หน่วยสนับสนุนจากชุมชน วัด และจิตอาสา แรงเสริมหลักและเฝ้าระวัง เช่น จิตอาสาช่วยภารกิจ เครือข่ายเสียงตามสาย ชุมชน 66 ชุมชน หน่วยสนับสนุนอาหารและเครื่องดื่ม เครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น เพจเทศบาลนครปากเกร็ด เพจวิชัย บรรดาศักดิ์ เพจข่าวสารคนปากเกร็ด เป็นต้น

ภารกิจที่ 8 หน่วยติดตามประเมิน สถานการณ์ข้อมูลน้ำ – วันต่อวัน ประมวลเหตุการณ์และตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด รายงานผ่านกลุ่ม Line โดยทุกส่วนราชการต้องทราบข้อมูลสถานการณ์ไปในทิศทางเดียวกัน

ภารกิจที่ 9 ศูนย์กฎหมาย ระเบียบ และหนังสือสั่งการ เตรียมขุดลอกคูคลอง ชุมชน หมู่บ้าน แหล่งน้ำสาธารณะ เพื่อรับมือหน้าน้ำ และดำเนินการภายใต้กฎหมาย ระเบียบและหนังสือสั่งการอย่างโปร่งใส

ภารกิจที่ 10 หน่วยนวัตกรรมการเรียนรู้สู้น้ำ ประกอบด้วย การบริหารจัดการโดยการใช้ระบบกล้องวงจรปิด CCTV, การบริหารจัดการฝุ่น PM 2.5, ปากเกร็ด live traffic, การบริหารจัดการด้านสาธารณสุขและสวัสดิการ, การบริหารจัดการด้านความปลอดภัย ตรวจจับทะเบียนป้ายรถยนต์, การตรวจสอบคุณภาพน้ำ, การนำ แอพพลิเคชั่น ems service การซ่อมไฟฟ้า, และนวัดกรรมการจัดการน้ำด้วยระบบ ICS ปากเกร็ดโมเดลใหม่

“ข้อมูล” ศูนย์กลางความสำเร็จ

          ณัฐพงษ์ กล่าวต่อว่า สำหรับการรับชุดข้อมูลต่าง ๆ เพื่อใช้ในการตัดสินใจบัญชาการเหตุการณ์น้ำท่วมในเขต ทน.ปากเกร็ด แบ่งชุดข้อมูลเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย ชุดข้อมูลที่รวบรวมจากเทศบาลฯ ทั้ง 22 สถานี 23 บ่อสูบ โดยนำเซ็นเซอร์ติดเข้ากับอุปกรณ์ทุกตัว เพื่อรายงานสถานการณ์ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะถูกส่งผ่านระบบไฟเบอร์ออฟติกส์เข้ามายังศูนย์ข้อมูลกลางเทศบาลฯ เพื่อเตรียมรับมือก่อนที่จะเกิดสถานการณ์ต่าง ๆ ขึ้น และติดอุปกรณ์วัดปริมาณน้ำฝนที่มีความละเอียดและแม่นยำในพื้นที่ 5 จุด เพื่อใช้ข้อมูลในการวางแผนการจัดการน้ำภายในเมือง และชุดข้อมูลส่วนที่ 2 ชุดข้อมูลจากกรมชลประทาน thaiwater.net โดยหลาย ๆ ชุดข้อมูลจะถูกนำมาประมวลผลตามเงื่อนไขของโปรแกรมที่ติดตั้งไว้

          สำหรับชุดข้อมูลมากมายที่ไหลเข้ามาในศูนย์ข้อมูลกลางความปลอดภัยเทศบาลฯ ชุดข้อมูลพวกนี้จะถูกป้อนไปในกลุ่มของผู้ปฏิบัติงานในปากเกร็ดโมเดลใหม่ ทำให้การตัดสินใจในการจัดการภัยพิบัติของเมืองเป็นไปด้วยความถูกต้อง แม่นยำ และรวดเร็ว

          ขณะที่ นางสาวธนพร ชื้อชวาลกุล นักวิการคอมพิวเตอร์ปฏิบัติการ กล่าวว่า เทศบาลฯ ใช้กรอบแนวคิดของ ICS คือ ระบบบัญชาการเหตุการณ์ที่นำมาใช้เป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาซอฟต์แวร์ โดยให้ความสำคัญข้อมูลด้านทรัพยากรเป็นลำดับแรก ๆ เพื่อเตรียมการรับมือภัยพิบัติน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นไว้ล่วงหน้า อีกส่วนที่สำคัญคือ การติดต่อสื่อสารกับประชาชนและระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เทศบาลฯ เลือกใช้ Line Application โดยพัฒนา Line OA สร้างแพลตฟอร์มเชื่อมต่อกับประชาชน เพื่อแจ้งเตือนข้อมูลข่าวสาร รวมถึงการทำแบบสำรวจ แบบสอบถาม และแบบประเมินความพึงพอใจของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนหรือความเสียหาย ซึ่งประชาชนสามารถแจ้งข้อมูลกลับมายังเทศบาลฯ ได้โดยตรงผ่านช่องทาง Line OA

          ส่วน นายนพกร หวังพราย ผู้อำนวยการสำนักช่าง ระบุว่า ชุดปฏิบัติงานจะดึงข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลกลางเทศบาลฯ ดำเนินการเตรียมชุดปฏิบัติการ เข้าไปประจำจุดตามชุดคำสั่งงาน ในบางจุดถ้าน้ำขึ้นสูงต้องปิดประตูน้ำ เพื่อสูบน้ำจากภายในออกไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนจุดอื่น ๆ จะดำเนินการขุดลอกท่อระบายน้ำในเขตเทศบาลฯ เพื่อป้องกันในกรณีที่ฝนตกลงมาจะช่วยระบายน้ำในเขตเทศบาลฯ ได้ ชุดข้อมูลเหล่านี้ทำให้ทีมงานแต่ละทีมสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

ประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้นเท่าตัว

          เจ้าหน้าที่ทำงานได้เร็วขึ้น 50% ในปี 2564 ปกติศูนย์ข้อมูลกลางความปลอดภัย CCTV จะส่งข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่ไปปฏิบัติงานหน้างานทุก ๆ 24 ชั่วโมง หลังพัฒนานวัตกรรมปากเกร็ดโมเดลใหม่ขึ้นในปี 2565 ข้อมูลจะถูกยุบรวมและส่งต่อให้กับเจ้าหน้าที่ได้ไวขึ้น 12 ชั่วโมง กล่าวคือ ทุก ๆ 12 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่สามารถนำข้อมูลไปทำงานได้ไวขึ้นส่งผลเชิงบวกกับ “ประชาชน” ผู้เป็นหัวใจหลักในการปฏิบัติงาน โดยในปี 2565ประชาชนเข้าถึงข้อมูลและระบบการช่วยเหลือของเทศบาลฯ มากขึ้น 43.61% ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบขอความช่วยเหลือหรือขอความเยียวยาได้ง่ายขึ้น

ตัวเลขความเสียหายที่ “ลดลง”

          สำหรับความเสียหายของพื้นที่น้ำท่วมและงบประมาณด้านสวัสดิการในปี 2564 มีพื้นที่น้ำท่วม 14 ชุมชน ใช้งบประมาณเยียวยาจำนวน 3,334,863 บาท ขณะที่ปี 2565 พื้นที่น้ำท่วมลดลงเหลือเพียง 11 ชุมชน ใช้งบประมาณเยียวยาจำนวน 2,620,250 บาท โดยสามารถป้องกันพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมได้ถึง 17.40% และประหยัดงบด้านสวัสดิการได้ถึง 700,000 บาท ทั้งนี้ ในปี 2564 พื้นที่เขต ทน.ปากเกร็ด มีพื้นที่เสี่ยงทั้งหมด 13 จุด ใช้งบประมาณในการแก้ไขปัญหาจุดละ 300,000 บาท รวมปีละ 3,900,000 บาท แต่ในปี 2565 ไม่มีภาวะจุดเสี่ยงในเขต ทน.ปากเกร็ด

          ภาพรวมความเสียหายงบประมาณที่เกี่ยวพันกับการป้องกันน้ำท่วมใน 2564 ใช้ไปทั้งหมด 40,247,652 บาท ขณะที่ปี 2565 ใช้ไปทั้งหมด 34,614,043 บาท เทศบาลฯ สามารถประหยัดงบประมาณในทุกมิติได้ถึง 5,633,609 บาท ซึ่งภาษีในส่วนนี้สามารถนำไปใช้พัฒนาสาธารณูปโภคต่าง ๆ ของเทศบาลฯ ได้อย่างมากมาย

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

แปดริ้ว เร่งแก้วิกฤติ 8 ตำบล หลังน้ำเค็มทะลักไร้ประปาชุมชน

แปดริ้ว เร่งแก้วิกฤติ 8 ตำบล หลังน้ำเค็มทะลักไร้ประปาชุมชน

อบจ.ฉะเชิงเทรา หารือแก้ปัญหามวลน้ำเค็มที่ไหลทะลักเข้าสู…

schedule
ทม.ลำพูน ร่วมงาน “สงกรานต์ชนชาติไตสิบสองปันนา”

ทม.ลำพูน ร่วมงาน “สงกรานต์ชนชาติไตสิบสองปันนา”

เทศบาลเมืองลำพูน ร่วมพิธีเปิดเทศกาลปีใหม่และเทศกาลสาดน้…

schedule
เมืองพัทยา จับมือเอกชน MOU “ไม่ทอดซ้ำ” ท่องเที่ยวปลอดภัย ใส่ใจสุขภาพ

เมืองพัทยา จับมือเอกชน MOU “ไม่ทอดซ้ำ” ท่องเที่ยวปลอดภัย ใส่ใจสุขภาพ

เมืองพัทยาร่วมกับเอกชน ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “ไ…

schedule
อบจ.หนองคาย หนุน อปท. บริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ระดับท้องถิ่น

อบจ.หนองคาย หนุน อปท. บริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ระดับท้องถิ่น

อบจ.หนองคาย เปิดประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินใน อปท. ระด…

schedule

นิตยสารผู้นำท้องถิ่นออนไลน์ รวมข่าวสารอัพเดทของคนท้องถิ่น

ติดต่อเรา

อีเมล : [email protected]