นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้มีการชี้แจงว่า พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ลงนามในระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยรายได้และการจ่ายเงินของสถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2562 และประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2562 ซึ่งระเบียบดังกล่าวมีเจตนารมณ์ เพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการเบิกจ่าย โดยมีหลักการเพื่อกำหนดประเภทของเงินรายได้ของสถานศึกษาสังกัดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กำหนดแนวทางการตั้งงบประมาณของ อปท. เพื่อสนับสนุนสถานศึกษาในสังกัด กำหนดรายจ่ายของสถานศึกษา ไปจนถึงการบริหารงบประมาณของสถานศึกษาให้มีความครอบคลุม คล่องตัว และลดภาระครูในสังกัด อปท. ทั่วประเทศ โดย ระเบียบนี้ได้มีการกำหนดประเภทของเงินรายได้ให้ครอบคลุม เพื่อให้สถานศึกษาของ อปท. สามารถรับเงินอุดหนุนจากองค์กรต่างๆ ได้ นอกเหนือไปจากเงินรายได้ของสถานศึกษาที่จะมาจากเงินที่ได้จากการตั้งงบประมาณของ อปท. เช่น เงินสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งระเบียบเดิมไม่ได้รองรับในเรื่องนี้ไว้ สำหรับส่วนที่ก้าวหน้าและเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของโรงเรียนสังกัด อปท. มากที่สุด คือ การกำหนดเรื่องรายจ่ายของสถานศึกษาให้ครอบคลุมในทุกมิติเกี่ยวกับการจัดการศึกษา เช่น ค่าใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนตามหลักสูตรการศึกษา ค่าใช้จ่ายในการนำผู้เรียนไปทัศนศึกษา ค่าใช้จ่ายในการนำผู้เรียนไปร่วมกิจกรรม การแข่งขันกีฬา หรือการแข่งขันทักษะทางการศึกษาทั้งภายในและต่างประเทศ และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือการส่งบุคลากรของสถานศึกษาไปเข้ารับการฝึกอบรม รวมไปถึงค่าจ้างเหมาบริการงานการสอน งานทำความสะอาด งานรักษาความปลอดภัย พาหนะรับส่งนักเรียนตามความจำเป็นที่ต้องมี ค่าสอนพิเศษหรือค่าสอนเกินภาระงานสอนในสถานศึกษา
ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่กำหนดรายจ่ายของสถานศึกษาให้ครอบคลุมทุกมิติเท่านั้น แต่ในสถานศึกษาที่มีการจัดการศึกษาลักษณะพิเศษ เช่น โรงเรียนกีฬา ซึ่งมีลักษณะเป็นโรงเรียนกินนอน ก็จะให้มีอำนาจในการเบิกจ่ายเงินเพิ่มเติมเพื่อดูแลนักเรียนในสังกัดด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้ปกครองเกิดความไว้วางใจที่จะส่งลูกหลานเข้ามาศึกษาเล่าเรียน เช่น ค่าเครื่องแต่งกายและอุปกรณ์สำหรับผู้เรียนในการฝึกกีฬา ฝึกงาน ฝึกปฏิบัติการหรือการแข่งขัน ค่าวัสดุหรือครุภัณฑ์ที่จำเป็นสำหรับการจัดที่พักอาศัยให้แก่ผู้เรียนในสถานศึกษา ค่าอุบัติเหตุผู้เรียน ทั้งในระหว่างฝึกกีฬา และในระหว่างการแข่งขัน ไปจนถึงค่าใช้จ่ายเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักเรียนในโรงเรียนกีฬา เช่น ค่าจ้างเหมาบริการซักรีด ค่าอาหารประจำวัน ค่าอาหารเสริมเฉพาะในกรณีที่มีความจำเป็น อธิบดี สถ. กล่าวเพิ่มเติม ด้านการบริหารรายได้ รายจ่าย และการพัสดุของสถานศึกษา ว่า มีการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบเพื่อทำให้การเบิกจ่ายคล่องตัวขึ้น และสามารถแก้ไขปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นในโรงเรียนได้ทันท่วงที เช่น กรณีท่อประปาแตก เสาธงเป็นสนิม ชักโครกพัง ซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่ได้ระบุลงในแผนปฏิบัติการประจำปี โดยระเบียบใหม่นี้ ก็กำหนดให้สามารถใช้จ่ายจากเงินรายได้สะสมได้แล้วด้วย
ทั้งนี้ระเบียบใหม่ยังกำหนดให้ผู้บริหารท้องถิ่นอาจมอบอำนาจเป็นหนังสือให้หัวหน้าสถานศึกษา มีอำนาจในการอนุมัติการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมตามแผนปฏิบัติการประจำปีงบประมาณที่มีวงเงินไม่เกินห้าแสนบาท และในกรณีที่ต้องอนุมัติการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่ไม่ได้กำหนดในแผนปฏิบัติการประจำปีงบประมาณ ก็ให้สามารถทำได้ เฉพาะที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้เรียน โดยมีวงเงินไม่เกินห้าหมื่นบาท และเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ครูในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั่วประเทศ ระเบียบใหม่ก็ได้กำหนดให้ผู้บริหารท้องถิ่นมอบหมายหัวหน้าหน่วยงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น ผอ.กองการศึกษา ผอ.กองคลัง เป็น หัวหน้าหน่วยงานคลังของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และมอบหมายข้าราชการ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเจ้าหน้าที่การเงินของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงินของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ซึ่งจะเป็นการอำนวยความสะดวก ลดภาระทางเอกสารให้ครูในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสามารถใช้เวลา เตรียมการเรียนการสอน จัดการศึกษาและดูแลเด็กเล็กได้เต็มที่
“ในระเบียบใหม่นี้ ถือเป็นระเบียบที่ก้าวหน้า และจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการจัดการศึกษาท้องถิ่น เพราะจะทำให้ โรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถเบิกจ่าย ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการจัดการศึกษาได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ไม่ต้องถูกท้วงติงจาก หน่วยงานตรวจสอบ ทั้งยังมุ่งหวังจะทำให้การเบิกจ่ายเงินเป็นไปอย่างคล่องตัว ด้วยการกำหนดให้ ผู้บริหารท้องถิ่น สามารถมอบอำนาจให้หัวหน้าสถานศึกษา อนุมัติการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมของสถานศึกษา ไปจนถึงมุ่งหวังจะลดภาระงานเอกสารของครูในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั่วประเทศ ให้มีเวลาในการจัดการศึกษาให้เด็กได้เต็มที่ ก็ขอให้ผู้เกี่ยวข้องได้เร่งศึกษาระเบียบใหม่ เพื่อที่ท้องถิ่นไทยจะได้เป็นที่พึ่งของประชาชนในพื้นที่ ช่วยพัฒนาเด็กไทยให้มีคุณภาพต่อไป”