วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ส่งหนังสือด่วนที่สุด ที่ มท.0804.5/ว 0924 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ระบุว่า เพื่อให้การแก้ไขสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ขอให้จังหวัดกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้ดำเนินการป้องกันและแก้ไขให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 มาตรา 25 กำหนดให้การกระทำใดๆ ที่เป็นเหตุให้เกิด กลิ่น แสง รังสี เสียง ความร้อนสิ่งมีพิษ ความสั่นสะเทือน ฝุ่นละออง เขม่า เถ้า หรือกรณีอื่นใดอันทำให้เสื่อมหรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง หรือ ผู้ที่ต้องประสบเหตุดังกล่าว ถือเป็นเหตุรำคาญ โดยถือว่าการเผาตอซังข้าว หรือพืชไร่ และการเผาป่าที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก เขม่า เถ้า เป็นการ “ก่อเหตุรำคาญ” เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจและหน้าที่ในการจัดการตามกฎหมายดังกล่าว
เบื้องต้นเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจออกหนังสือคำสั่งให้ระงับเหตุ และหากผู้ก่อเหตุไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสองหมื่นห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งให้ อปท.ประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ หากพบว่ามีการจุดไฟเผาเป็นบริเวณกว้าง จนทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ พ.ศ. 2561