วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ตอบกระทู้ถามของนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา เรื่องการออกกฎหมายลำดับรอง ตาม พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 และความชัดเจนเกี่ยวกับการจัดประเภทที่อยู่อาศัยที่ยังมีปัญหาในทางปฏิบัติ
พลเอก อนุพงษ์ ชี้แจงว่า เดิมการเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินจะใช้วิจารณญาณในการเก็บ ทำให้เกิดการประพฤติมิชอบ ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ ด้านภาษีบำรุงท้องที่ใช้อัตราการประเมินเมื่อปี 2520 ซึ่งเป็นอัตราเก่าที่ไม่สามารถนำมาเทียบกับในปัจจุบันได้ จากเดิมท้องถิ่นเป็นผู้ประเมิน ก็เปลี่ยนเป็นของทางราชการเป็นผู้ตรวจสอบทั้งหมด จึงเป็นธรรมดาที่จะเป็นเรื่องยากในการปฏิบัติในปีแรกจากปฏิบัติกว่า 7,500 องค์การบริหารส่วนตำบล แต่ยืนยันว่ากฎหมายใหม่รองรับและมีวิธีแก้ไขแล้วทั้งนั้น เหลือเพียงให้ อปท.สำรวจและแจ้งต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายถึงเดือนมีนาคม โดยเดือนพฤษภาคมท้องถิ่นจะประกาศราคาประเมิน และแจ้งเจ้าของที่ดินเดือนมิถุนายน หากพบว่ามีการประเมินเกินกว่าเป็นความจริง เจ้าของที่ดินสามารถทักท้วงและฟ้องศาลได้ โดยระหว่างส่งฟ้องศาลสามารถขอทุเลาได้
ด้านข้อกล่าวหาที่ว่าเป็นกฎหมายเอื้อประโยชน์ให้นายทุนนั้น รมว.มหาดไทยกล่าวว่า “หลักการของกฎหมายต้องการให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยไม่ต้องมีภาระทางภาษี โดยเฉพาะการยกเว้นที่ดินเกษตรกร 3 ปีแรก และเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำ ด้านภาษีที่อยู่อาศัยเริ่มต้นเก็บที่มูลค่า 50 ล้านบาทขึ้นไป เจตนาเพื่อเก็บภาษีคนรวย และยังมีกฎหมายอีกหลายตัวที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ยืนยันว่าไม่สามารถใช้หลักเกณฑ์เดิมได้อีก ดังนั้นจึงต้องเร่งดำเนินการให้ทันตามกรอบเวลา และจะเริ่มเก็บในเดือนสิงหาคม 2563 และจะมีการปรับอัตราการจัดเก็บภาษีใหม่อีกครั้งในอีก 2 ปีข้างหน้า (ปี 2565)