มหาดไทยออกประกาศ เปิดช่องให้ท้องถิ่นจัดการขยะ หวังสร้างรายได้ใหม่จากการขายคาร์บอนเครดิต และลดโลกร้อน
เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2565 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทยเปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทย ได้ออกประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจัดการมูลฝอย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 26 ต.ค. 65 เป็นต้นไป เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการรองรับการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกอันเนื่องมาจากการจัดการมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยสาระสำคัญของประกาศฉบับนี้ มีสาระสำคัญ ได้แก่ การกำหนดขั้นตอนการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งขั้นตอนการขอรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดหรือกักเก็บได้และบันทึกทะเบียนระบบคาร์บอนเครดิต และขั้นตอนการขายคาร์บอนเครดิต โดยดำเนินการตามระเบียบที่คณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกกำหนด ซึ่งโครงการที่สามารถขอรับรองอาจเป็นโครงการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการเองหรือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอาจดำเนินการแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการรักษาความสะอาดและการรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง
สำหรับงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการขอรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดหรือกักเก็บได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถดำเนินการได้ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยวิธีการงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และระเบียบที่เกี่ยวข้อง และเมื่อโครงการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) แล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะได้รับคาร์บอนเครดิตตามปริมาณที่สามารถลดหรือกักเก็บได้จริง โดยเปิดบัญชีรองรับคาร์บอนเครดิตกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ก่อนทำการซื้อขายคาร์บอนเครดิต
ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในขั้นตอนต่อมา คือ ขั้นตอนการขายคาร์บอนเครดิต องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจประกาศหรือประชาสัมพันธ์เชิญชวนผู้ที่สนใจตรวจสอบข้อมูลผ่านระบบบันทึกคาร์บอนเครดิตขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และตกลงซื้อขายกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยในการขายคาร์บอนเครดิตนั้น ให้นำหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดเกี่ยวกับการซื้อโดยวิธีเฉพาะเจาะจงตามกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงความเหมาะสมของราคาและระยะเวลาที่ผูกพันตามสัญญา โดยต้องไม่ก่อให้เกิดภาระผูกพันเกินสมควร และเงินที่ได้รับจากการขายคาร์บอนเครดิตถือเป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สามารถนำไปใช้ดำเนินการได้ตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง
ก่อนหน้านี้ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ทำโครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อน ภายใต้แผนปฏิบัติการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” เพื่อบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต อย่างเป็นระบบ โดยได้ทำการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดหรือกักเก็บได้เพื่อเป็นโครงการนำร่องสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศเรียบร้อยแล้ว ยกเว้นกรุงเทพมหานคร
ปัจจุบันมีครัวเรือนที่จัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนแล้ว 2,716,651 ครัวเรือน คิดเป็นจำนวนประชากร 9,175,452 คน ทำให้มีปริมาณขยะเปียกที่คัดแยกใส่ถังขยะเปียกลดโลกร้อน 843,958.07 ตัน/ปี คิดเป็นปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สามารถลดได้ 122,711.50 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า/ปี
โดยมีจังหวัดที่ทำถังขยะเปียกครบถ้วน 100% จำนวน 2 จังหวัด คือ จังหวัดลำพูน และจังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดที่ทำถังขยะเปียก ร้อยละ 80 – 99.99 จำนวน 3 จังหวัด คือ จังหวัดอำนาจเจริญ สมุทรสาคร และจังหวัดเลย และจังหวัดที่ทำถังขยะเปียก ร้อยละ 50 – 79.99 จำนวน 5 จังหวัด คือ จังหวัดบุรีรัมย์ ชัยนาท ยโสธร สกลนคร และจังหวัดลพบุรี โดยได้เน้นย้ำให้ทุกจังหวัดจัดทำถังขยะเปียกให้ครบถ้วนทุกครัวเรือน ภายในวันที่ 30 พ.ย. 2565 นี้
“กระทรวงมหาดไทยได้กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อเตรียมรับการทวนสอบภายใต้โครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประเทศไทย (Internal Audit) ให้แก่จังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้วยการขับเคลื่อนผ่านกลไกคณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยในแต่ละระดับ และในระดับอำเภอ ให้มีการแต่งตั้งทีมปฏิบัติการเตรียมความพร้อมสำหรับการทวนสอบระดับอำเภอ โดยมีปลัดอำเภอประจำตำบลเป็นหัวหน้าทีมปฏิบัติการ” ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าว