เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ที่ผ่านมา นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย และในฐานะหัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ส่งหนังสือแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด เรื่อง ภารกิจในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จากกรณีที่ได้นำเรื่องขอหารือของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) เกี่ยวกับการดำเนินภารกิจการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562
ซึ่งปรากฎว่าที่ประชุมมีมติกำหนดว่า การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดถือเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาความสงบเรียบร้อยอันเป็นอำนาจหน้าที่ของ อปท. ขณะที่การปราบปรามยาเสพติดไม่ถือเป็นอำนาจหน้าที่ของ อปท. นอกจากนี้ ยังแจกแจงขอบเขตของภารกิจในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดขององค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล ที่สามารถทำได้คือ 1) การจัดทำสื่อ และการจัดกิจกรรมรณรงค์ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ สร้างจิตสำนึกให้แก่ประชาชน 2) การทำกิจกรรมหรือการจัดอบรมเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด 3) การจัดกิจกรรมในการบำบัด รักษา ฟื้นฟูสมรรถภาพ ติดตาม ดูแลผู้เสพยาเสพติด ผู้ติดยาเสพติด รวมถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมอาชีพให้ผู้ผ่านการบำบัด รักษา ฟื้นฟู 4) การจัดหาชุดตรวจหาสารเสพติดและอุปกรณ์เพื่อนำไปใช้ ตรวจกลุ่มเป้าหมาย เพื่อบำบัด รักษา ฟื้นฟู หรือติดตามผู้ผ่านการบำบัดรักษาพื้นฟู
ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวเกิดขึ้นจาก สำนักงาน ป.ป.ส. ได้รับแจ้งจาก ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด จ. นนทบุรี (ศอ.ปส.จ.นบ.) ว่า สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบงบประมาณรายจ่ายด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของศูนย์ปฏิบัติการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557 แล้วระบุว่า การใช้เงินอุดหนุนของเทศบาลนครปากเกร็ด ในการจัดซื้อชุดตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะพร้อมอุปกรณ์ จำนวน 852,500 บาท จากองค์การเภสัชกรรม เพื่อใช้สำหรับตรวจหรือทดสอบหาสารเสพติด เป็นการเบิกจ่ายที่ขัดต่อกฎหมาย ไม่ถูกต้องตามหลักการบริหารงานปกครอง และแจ้งให้เรียกเงินคืนจากผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งคืนคลัง
ภายหลัง ศอ.ปส.จ.นบ. ได้ดำเนินการหารือไปยังกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) ซึ่งขณะนั้น สถ. แจ้งว่า หากการดำเนินการเป็นไปเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ก็เป็นภารกิจที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ อปท. ดังนั้น อปท. จึงสามารถตั้งงบประมาณอุดหนุนให้กับอำเภอเพื่อจัดซื้อชุดตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะของผู้ต้องสงสัยได้ แต่สำนักตรวจสอบพิเศษภาค 3 ยังมีความเห็นต่างอยู่ ทำให้สำนักงาน ป.ป.ส. ในฐานะหน่วยงานกลาง และเจ้าภาพในการบูรณาการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ต้องเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมเพื่อหาข้อยุติเรื่องดังกล่าว