ต้นปี 2563 กทม.ตั้งเป้าวางแผนงานจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ ที่จะเริ่มเก็บได้ในเดือนสิงหาคม 2563 อย่างรัดกุม เพื่อชดเชยรายได้ที่จะสูญเสียจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยตั้งเป้ารายได้จากส่วนนี้ไว้ 14,000 ล้านบาท
แต่ทว่า การใช้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นปีแรก ทำให้เกิดความอลหม่านไม่น้อย ในขั้นตอนการดำเนินงาน ทั้งความไม่พร้อมของเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินงาน และช่องโหว่ทางกฎหมายบางส่วนที่ยังต้องได้รับการแก้ไข กอรปกับเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ประชาชนเดือดร้อนกันถ้วนหน้า ทำให้กทม.ต้องปรับลดเป้าลงเหลือเพียง 5,000 ล้านบาท ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อรัฐบาลประกาศใช้พ.ร.ก. ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท 90 % ตามนโยบายช่วยลดผลกระทบของประชาชนจากสถานการณ์โควิด-19 ของรัฐบาล ทำให้คาดว่าจะจัดเก็บได้เพียง 500 ล้านบาท ลดลงไปกว่า 13,500 บาท
รายได้ของกทม.ในปี 2563 หลุดเป้าไปมาก จากเดิมที่คาดการณ์รายได้ทั้งจากที่จัดเก็บเอง และรัฐจัดเก็บให้ทั้งหมด 83,000 ล้านบาท ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้คาดการณ์ว่าการจัดเก็บรายได้ของ กทม.นั้นอาจจะลดลงถึงร้อยละ 18.07 จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 83,000 ล้านบาท เหลือเพียง 68,000 ล้านบาท สูญรายได้กว่า 15,000 ล้านบาท ทั้งจากรายได้ที่รัฐบาลจัดเก็บให้ตามคาดการณ์เดิม 62,500 ล้านบาท และรายได้ที่คาดว่าจะจัดเก็บเอง 20,500 ล้านบาท
ในส่วนของรายได้ที่ กทม. จัดเก็บเองตามคาดการณ์เดิม 20,500 ล้านบาท ประกอบด้วย ภาษีป้าย, ภาษีอากรการฆ่าสัตว์, ภาษีบำรุงกรุงเทพมหานครสำหรับน้ำมันฯ, ภาษีการพนัน, ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง, ค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาต ค่าปรับและค่าบริการ, รายได้จากทรัพย์สิน, รายได้จากการสาธารณูปโภค การพาณิชย์ฯ และรายได้เบ็ดเตล็ด รายได้ก้อนใหญ่ที่คาดว่าจะเก็บได้จากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 14,000 ล้านบาท สามารถเก็บได้จริงจนถึงวันที่ 1 สิงหาคม จำนวน 1,000 ล้านบาท ปัจจุบัน กทม.ขยายเวลาเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไปจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม ตามมติคณะรัฐมนตรีที่ให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถขยายเวลาจัดเก็บภาษีได้ตามความเหมาะสม แม้จะขยายเวลาแล้วคาดว่ารายได้จากส่วนนี้ของ กทม.จะเก็บได้ราว 1,200 บาท อย่างไรก็ตาม นับว่ายังสูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 700 ล้านบาท
นอกจากนี้ รายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมขยะ ที่มีอัตราเพิ่มขึ้นจาก 40 บาท เป็น 80 บาท ถูกเลื่อนออกไปเนื่องจากความไม่พร้อมของข้อกฎหมาย จากเดิมที่จะเก็บได้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ถูกเลื่อนไป 1 ตุลาคม 2563 ยิ่งสร้างความปั่นป่วนให้กับคลังรายได้ของกทม.มากขึ้น
ก่อนหน้านี้ กทม.ได้ปรับลดงบประมาณรายจ่ายของทุกหน่วยงานลงร้อยละ 10 ภาพรวมลดรายจ่ายไปได้แล้ว 13,540 ล้านบาท ส่วนที่ยังเหลืออีกกว่า 1,500 ล้านบาท ให้ปรับลดค่าตอบแทนใช้สอยและวัสดุลงอีกร้อยละ 10 โดยไม่ให้กระทบต่อค่าตอบแทนของบุคลากรจำนวน 29,500 ล้านบาทในปี 2563
ผลกระทบจากทุกทิศทุกทาง ทำให้ กทม.ปรับเป้างบประมาณในปี 2564 ลงจาก 85,000 ล้านบาท เหลือ 75,500 ล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ หากรัฐบาลไม่มีนโยบายลดหย่อนออกมาเพิ่มเติม กทม.จะเดินหน้าจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอย่างเต็มอัตรา