ที่ประชุมคณะอนุกรรมการด้านการเงิน การคลังฯ สรุปสัดส่วนรายได้ท้องถิ่นปี 65 พร้อมเห็นชอบจัดงบบรรจุ จนท.สาธารณสุขอปท. ที่ปฏิบัติงานในช่วงโควิดกรณีพิเศษ
เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 นายไพรัตน์ เพชรราช ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และงบประมาณ เทศบาลนครแหลมฉบัง ได้โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว Phairat Phatchrat ถึงผลการประชุมคณะอนุกรรมการด้านการเงิน การคลัง และงบประมาณ ครั้งที่ 2/2564 ระบุว่า …ได้รับมอบหมายจากท่านอดีตนายกฯ บุญเลิศ น้อมศิลป์ อดีตนายกเทศมนตรีตำบลแหลมฉบัง ในฐานะคณะอนุกรรมการด้านการเงิน การคลัง และงบประมาณ ก.ก.ถ. ให้เข้าร่วมประชุมคณะอนุกรรมการฯ ครั้งที่ 2/2564 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์แอพพลิเคชั่นเว็บซูม (Application Zoom) โดยมีท่าน ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานอนุกรรมการฯ ทำหน้าที่ประธานการประชุม ระเบียบวาระการประชุมที่สำคัญมีดังนี้
- ที่ประชุมรับทราบ เรื่อง
1.1 สัดส่วนรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
– คณะรัฐมนตรีมีมติในคราวประชุมเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2564 กำหนดสัดส่วนรายได้ของ อปท. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ต่อรายได้สุทธิของรัฐบาล จำนวน 2,400,000 ล้านบาท ในอัตราร้อยละ 29.58 เป็นจำนวน 709,866.98 ล้านบาท ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ ประกอบด้วย
(1) รายได้ท้องถิ่นจัดเก็บเอง จำนวน 75,095 ล้านบาท
(2) รายได้ที่รัฐบาลจัดเก็บให้ จำนวน 224,185 ล้านบาท
(3) รายได้ที่รัฐบาลแบ่งให้ จำนวน 111,000 ล้านบาท
(4) เงินอุดหนุน 299,586.95 ล้านบาท
1.2 งบประมาณเงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (รวมทั้งสิ้น 299,586.95 ล้านบาท)
– เงินอุดหนุนของ อปท.
(1) กทม. จำนวน 21,982.0831 ล้านบาท
(2) เมืองพัทยา จำนวน 1,690.7761 ล้านบาท
(3) อบจ. จำนวน 15,225.7590 ล้านบาท
(4) ทน. จำนวน 13,648.5450 ล้านบาท
(5) ทม. จำนวน 25,757.8875 ล้านบาท
(6) สถ. (ทต. และ อบต.) จำนวน 217,907.8379 ล้านบาท
– เงินอุดหนุนที่ตั้งไว้ที่หน่วยงานอื่น
(1) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เงินอุดหนุนเพื่อเป็นแรงจูงใจในการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการท้องถิ่น จำนวน 147.00 ล้านบาท
(2) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เงินอุดหนุนโครงการตามแผนปฏิบัติการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัด จำนวน 579.7385 ล้านบาท
– กองทุนประชารัฐสวัสดิการ สำหรับเป็นเงินเบี้ยคนพิการจากคนละ 800 บาทต่อคน เป็นคนละ 1,000 บาท ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563 เป็นเงิน 2,647.3560 ล้านบาท
- ที่ประชุมให้ความเห็นชอบ เรื่อง
2.1 การของบประมาณบรรจุบุคลากรด้านสาธารณสุขสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ปฏิบัติงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019
– เพื่อให้การแก้ปัญหาปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 เป็นไปด้วยความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจกับบุคลากรด้านสาธารณสุขในสังกัด อปท. ที่ปฏิบัติงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 โดยให้บรรจุข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นฯ เป็นกรณีที่มีเหตุพิเศษโดยไม่ต้องสอบแข่งขัน
– ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ขอใช้งบประมาณงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ทั้งสิ้น 231,479,960 บาท สำหรับเป็นค่าเงินเดือน เงินสวัสดิการ และสิทธิประโยชน์ข้าราชการสังกัด อปท. ของบุคลากรด้านสาธารณสุขในสังกัด อปท. ที่ปฏิบัติงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 จำนวน 1,326 คน
– ที่ประชุมได้ตั้งข้อสังเกตในประเด็นต่างๆ และมีมติให้ฝ่ายเลขาฯ สรุปความเห็นจากที่ประชุมเสนอ ก.ก.ถ. พิจารณาต่อไป
2.2 การกำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไปตามอำนาจหน้าที่และภารกิจถ่ายโอน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่ตั้งไว้ที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
– แนวทางการจัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไปตามอำนาจหน้าที่และภารกิจถ่ายโอน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของ ทต. และ อบต. ซึ่งตั้งไว้ที่ สถ. โดย ร้อยละ 30 แบ่งเท่ากัน ร้อยละ 15 ตามจำนวนประชากร ร้อยละ 15 ตามจำนวนพื้นที่ และร้อยละ 40 ผกผันตามรายได้ กรณี อปท. ใดได้รับการจัดสรรน้อยกว่าปีที่ผ่านมาให้ได้รับการจัดสรรเท่ากับปีที่ผ่านมา
– ที่ประชุมเห็นชอบกับร่างประกาศ ก.ก.ถ. เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไปตามอำนาจหน้าที่และภารกิจถ่ายโอน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
2.3 การกำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ. 2564 การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (e-Service)
– ฝ่ายเลขาฯ เสนอแนวทางและหลักเกณฑ์จัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (e-Service) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยใช้เกณฑ์ประชากรเนื่องจากเป็นภาษีประเภทใหม่ ในระยะแรกการจัดเก็บภาษีดังกล่าวยังมีมูลค่าไม่มากนัก (เบื้องต้นกรมสรรพากรประมาณการรายได้ส่วนนี้ไว้ที่ 5,000 ล้านบาทต่อปี)
– ที่ประชุมมีมติให้กรมสรรพากรกับกรมบัญชีกลาง (GFMIS) ไปหารือกำหนดแนวทางการรับการส่งรายการเงินดังกล่าว โดยมอบให้ฝ่ายเลขาฯ เป็นเจ้าภาพในการหารือ
– ส่วนแนวทางในการจัดสรร (เอามารวมเป็นยอดเดียวกับภาษีมูลค่าเพิ่มจากศุลกากรและสรรพสามิต เนื่องจากมีลักษณะภาษีที่ใกล้เคียงกัน) หลักเกณฑ์การจัดสรรให้เป็นไปตามภาษีมูลค่าเพิ่ม (1 ใน 9) และมีการจัดสรรเหมือนที่เคยจัดสรรมาในอดีต
2.4 การกำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรภาษีให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
– การจัดสรรภาษีประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ใช้หลักเกณฑ์เดียวกับปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นที่ยอมรับร่วมกันของ อปท. จะทำให้ อปท. มีรายได้ในการจัดบริการสาธารณะให้แก่ประชาชนในพื้นที่ (โดยใช้หลักเกณฑ์นี้อีก 1 – 2 ปี ก่อนจะมีการยกเครื่องใหม่)
– มอบฝ่ายเลขาฯ รับข้อสังเกตจากที่ประชุมไปศึกษาวิจัยหรือตั้งเป็นคณะทำงานไปศึกษาอย่างจริงจัง เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสม โดยให้เสนอ ก.ก.ถ. พิจารณาต่อไป