วันที่ 27 ตุลาคม 2563 ที่อาคารสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล ในการประชุมคณะอนุกรรมการด้านการเงิน การคลัง และงบประมาณ คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ครั้งที่ 2/2563 โดยมี ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานอนุกรรมการฯ เป็นประธานการประชุม ผลการประชุมมีสาระสำคัญคือ
ที่ประชุมรับทราบ เรื่อง
1.1 การถอดรายการเงินอุดหนุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ออกจากรายการเงินอุดหนุนที่จัดสรรให้เป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ให้กระทรวงสาธารณสุขเสนอตั้งงบประมาณรายการดังกล่าว ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป)
1.2 การกำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรภาษีให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 (อยู่ระหว่างการจัดทำประกาศ ก.ก.ถ. เพื่อเสนอรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ลงนามในประกาศ และส่งให้ สลค. ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ต่อไป)
1.3 การกำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไปตามอำนาจหน้าที่และภารกิจถ่ายโอน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 44,714.1490 ล้านบาท ที่ตั้งไว้ที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (จัดสรรตามสัดส่วนที่เทศบาล และ อบต. ได้รับการจัดสรรในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563)
1.4 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นขอความเห็นชอบจัดตั้งงบประมาณเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (เงินอุดหนุนรายการดังกล่าวเป็นเงินอุดหนุนเฉพาะกิจอาจมีความซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น โดยให้ สงป. รับไปพิจารณาต่อไป)
1.5 การกำหนดแนวทางการจัดทำงบประมาณและปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (ตามแนวทางการจัดทำงบประมาณและปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่ สงป. ได้นำเสนอ โดยมีข้อเสนอจากผู้แทนสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เกี่ยวกับการตั้งคำของบประมาณของ อปท. จากแผนพัฒนาจังหวัดและแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด และ Smart City ซึ่งจะได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาทบทวนแนวทางเพื่อความเหมาะสมต่อไป)
ที่ประชุมให้ความเห็นชอบ เรื่อง
2.1 แนวทางการจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
1) เงินอุดหนุนฯ แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ เงินอุดหนุนทั่วไป และเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ โดยจะต้องมีสัดส่วนเงินอุดหนุนทั่วไปมากกว่าเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ
2) การจัดสรรเงินอุดหนุนแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 กทม. กลุ่มที่ 2 เมืองพัทยา และกลุ่มที่ 3 อบจ. เทศบาล และ อบต. โดยแต่ละกลุ่มให้ได้การจัดสรรเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ในสัดส่วนที่เท่ากัน
3) การจัดทำคำขอตั้งงบประมาณ โดยที่ กทม. เมืองพัทยา ทน. และ ทม. ให้เสนอคำตั้งคำขอตั้งงบประมาณไปยัง สงป. กรณี ทต. และ อบต. ให้เสนอขอตั้งงบประมาณผ่านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย (รายละเอียดแนวทางการจัดสรรรายได้ให้แก่ อปท. จะได้นำเสนอ ก.ก.ถ. พิจารณาต่อไป)
ฯลฯ
2.2 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นขอเพิ่มรายการเงินอุดหนุนสถานีขนส่งผู้โดยสารประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
1) อบจ.ฉะเชิงเทรา ขอให้ สถ. พิจารณาเพิ่มเงินอุดหนุนรายการสถานีขนส่งผู้โดยสารสำหรับการบริหารจัดการสถานีขนส่งผู้โดยสารอำเภอพนมสารคาม ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป
2) ที่ประชุมมอบส่วนแผนฯ สกถ. ไปศึกษาข้อมูลสถานีขนส่งผู้โดยสารที่ อปท. รับการถ่ายโอนที่ดำเนินการขาดทุน เพื่อนำเสนอในภาพรวมอีกครั้ง
2.3 เทศบาลนครนครราชสีมาขอรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการจัดหาน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปาที่โรงกรองน้ำบ้านมะขามเฒ่า (คณะอนุกรรมการฯ เห็นว่า รายละเอียดของโครงการและแหล่งงบประมาณยังไม่ชัดเจน จึงยังไม่พิจารณา)
2.4 หลักเกณฑ์และแนวทางการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 (คณะอนุกรรมการฯ มีมติให้ไปตั้งคณะทำงานขึ้นมาเร่งพิจารณาในเรื่องนี้โดยเฉพาะเพื่อความเหมาะสมเป็นธรรมของ อปท.)
2.5 การจัดสรรอุดหนุนทั่วไปตามอำนาจหน้าที่และภารกิจถ่ายโอนประเภทเบี้ยต่างๆ อาหารกลางวัน และอาหารเสริม (นม) (ประกอบด้วย เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยยังชีพคนพิการ เบี้ยยังชีพผู้ป่วยเอดส์ อาหารกลางวัน และอาหารเสริม (นม) ซึ่งเป็นภารกิจถ่ายโอนจึงเห็นว่าควรคงรายการไว้ในสัดส่วนของ อปท. แต่การเพิ่มขึ้นของอัตราประเภทต่างๆ ตามนโยบายของรัฐบาล ไม่ควรเป็นข้ออ้างให้ส่วนกลางไปลดเงินอุดหนุนในส่วนอื่นลง ซึ่งจะได้นำเสนอ ก.ก.ถ. พิจารณาต่อไป)
(ภาพจาก FB-Phairat Phatchrat)