close

หน้าแรก

menu
search

“ปลุกคนท้องถิ่น” ยืนหยัดสู้ระบบรัฐราชการรวมศูนย์ เชื่อปชช.พร้อมหนุนกระจายอำนาจฯ

schedule
share

แชร์

  นักวิชาการวงเสวนา “ยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นไทย” ปลุกคนท้องถิ่น ยืนหยัดสู้เพื่อการกระจายอำนาจ ลดวัฒนธรรมระบบราชการรวมศูนย์ เชื่อประชาชนยุคนี้พร้อมหนุนการเปลี่ยนแปลง 

  วันที่ 25 สิงหาคม 2563 พรรคเพื่อไทย จัดงานเสวนาในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นไทย ภายใต้วิกฤติเศรษฐกิจในปัจจุบัน” โดยมีวิทยากร ประกอบด้วย รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช , นายชาตรี ศรีสันต์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย , นายไชยยศ ไชยพฤกษ์ นายกเทศมนตรีตำบลอุ่มเม้า จังหวัดร้อยเอ็ด , นายพิพัฒน์ วรสิทธิดำรง นายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นประเทศไทย ปลัดเทศบาลตำบลสารภี จังหวัดเชียงใหม่ , นายกัมพล กลั่นเนียม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลตาหลวง จังหวัดราชบุรี และ นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล ส.ส.เลย พรรคเพื่อไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ 

  โดย นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยได้รับเสียงสะท้อนจากพี่น้องประชาชน ผ่าน ส.ส.ของพรรคว่าในขณะนี้ท้องถิ่นกำลังประสบปัญหาอย่างหนักในหลายๆด้าน โดยเฉพาะภาระทางด้านอำนาจหน้าที่ รวมทั้งงบประมาณที่ขาดหลายไป และที่สำคัญคือท้องถิ่นได้หยุดการพัฒนามานานหลายปี ภายใต้ภาวะที่บ้านเมืองกำลังประสบภาวะวิกฤติโควิด-19 และวิกฤติเศรษฐกิจอย่างหนักหนาสาหัส ซึ่งตอนนี้หลายองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเริ่มเอาเงินสะสมมาใช้เนื่องจากงบประมาณไม่เพียงพอ และรัฐบาลไม่มีทีท่าว่าจะหาเงินมาชดเชยรายได้ที่หายไปได้

  รศ.ดร.โภคิน พลกุล ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคด้านนโยบายและแผนงาน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ปัญหาเรื่องท้องถิ่นเป็นปัญหาที่ใหญ่มากสำหรับประเทศเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการรัฐประหาร และไม่มีการเลือกตั้งท้องถิ่นมาเป็นเวลาหลายปี ทำให้ทุกอย่างอึดอัดไปหมด ประชาชนอยากแสดงความคิดเห็น อยากเปลี่ยนแปลงอะไรในพื้นที่ตนเองก็เป็นไปได้ยาก มิหนำซ้ำยังมีการใช้อำนาจคณะรัฐประหารไปดองผู้บริหารท้องถิ่นจำนวนมาก โดยอ้างข้อหาต่างๆ ซึ่งเราก็ทราบดีว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกตามหลักกฎหมายทั้งสิ้น เมื่อ 20 ปีก่อน เรามองท้องถิ่น ก็จะมองรวมเป็นรัฐในส่วนกลาง เราถูกทำให้คิดว่า อะไรที่จะดีขึ้น ต้องตั้งกระทรวงขึ้นมา เช่น กีฬาจะดีขึ้น ต้องตั้งกระทรวงกีฬา นี่เป็นความติดที่ปลูกฝังมาตลอดว่า อะไรจะดีขึ้นต้องเกิดจากระบบราชการ ตนต่อสู้มาตลอดว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

  รศ.ดร.โภคิน กล่าวว่า ตนเองคิดเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมา 30 ปีแล้ว แต่ตอนนี้ยิ่งหนักกว่าเดิม ระบบราชการเป็นระบบที่คิดว่าทุกอย่างต้องมาจากผู้บริหาร โดยเฉพาะราชการส่วนกลาง เช่น ข้าราชการเรียกนายอำเภอว่า “นาย” หรือนายอำเภอเรียกผู้ว่าราชการว่า “นาย” ระบบแบบนี้ไปต่อไม่ได้ในยุคนี้ ซึ่งตนกลัวว่าความคิดแบบนี้จะไหลไปสู่ระบบราชการท้องถิ่น ดังนั้นสิ่งที่เราต้องปฏิรูปกันจริงจัง คือ เรื่องของวัฒนธรรมและความคิด โดยเฉพาะท้องถิ่นเองต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าเราสมาร์ทพอที่จะไม่เป็นแบบระบบรัฐราชการ เราต้องปลดปล่อยและให้อำนาจประชาชน แล้วทำให้เขาเข้มแข็ง

  รศ.ดร.โภคิน กล่าวต่ออีกว่า ตนมีโอกาสได้พูดคุยกับนักเรียนไทยที่ไปเรียนต่างประเทศ เขาระบุว่า วันนี้ประเทศเราไปต่อไม่ได้อีกแล้ว ประเทศพังจากระบบรัฐราชการ ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ แล้วซ้ำเติมด้วยวิกฤติโควิด-19 อีก ถ้ายังเป็นแบบนี้อยู่ ประเทศล่มจมแน่นอน ซึ่งวันนี้เห็นแล้วว่าระบบรัฐราชการไม่ว่าในส่วนกลางหรือท้องถิ่นเป็นอุปสรรคต่อการทำมาหากินของประชาชนอย่างมาก เช่น การจะเปิดร้านอาหารเล็กๆ ต้องขอใบอนุญาตถึง 4-5 ใบ คิดวันนี้อีก 1 ปีจึงจะได้ทำเพราะต้องไปไล่ทำใบอนุญาตให้ครบทั้งหมด อย่างนี้ก็ไปไม่รอด เราพูดกันว่าตอนนี้ต้องเป็นประเทศ 4.0 คิดวันนี้ พรุ่งนี้ต้องทำ แต่ในความเป็นจริงวันพรุ่งนี้เราไม่มีทางได้ใบอนุญาตครบ แต่การเปิดนวดเปิดบ่อนไม่ต้องขอใบอนุญาต แค่จ่ายส่วยก็เปิดได้แล้ว ทำให้คนสุจริตทำมาหากินลำบาก มีแต่คนใช้เงินคือระบบรัฐราชการ คนหาเงินไม่เหลือแล้ว ทั้งนี้ รัฐบาลมีแต่กู้หนี้ ซื้อเรือดำน้ำก็เป็นการกู้เงิน กู้ไปลงทุนในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ในวันนี้ และเป็นภาระในวันหน้า ซึ่งใครจะเป็นคนหาเงินยังไม่รู้เลย กระทบไปถึงท้องถิ่นต่อไปหมด ดังนั้น เราต้องเปลี่ยนแปลงระบบรัฐราชการทั้งระบบ เราต้องให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และให้อิสระในการปกครองตนเอง ใช้อำนาจกำกับดูแลให้น้อยที่สุด 

  “อีกไม่กี่เดือนท้องถิ่นก็จะไม่มีเงินจ่ายข้าราชการแล้ว กู้มาแล้วกว่า 2 แสนล้าน แล้วท้องถิ่นจะเอาเงินมาจากที่ไหน เงินสะสมใช้ไปเดียวก็หมด แล้วต่อไปจะทำอย่างไร จะไปเก็บภาษีต่อชาวบ้านก็ไม่มีจ่าย ทุกอย่างเกี่ยวพันกันหมด ซึ่งตนก็ยังตอบไม่ได้ว่าจะต้องทำอย่างไรถึงจะดีที่สุด แต่อย่างน้อยที่สุด จะต้องปลดปล่อยท้องถิ่น อย่าคิดว่าเขาเป็นเด็ก และต้องร่วมกันรับฟังปัญหา” รศ.ดร.โภคิน กล่าว

  รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า ในปัจจุบันเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจผนวกกับวิกฤติโควิด-19 ซึ่งทำให้เกิดปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำมีอัตราที่สูงขึ้น เป็นความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบท ซึ่งท้องถิ่นต่างๆ ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ เพราะไม่มีระบบคุ้มครองทางสังคมสำหรับแรงงานนอกระบบกลุ่มนี้ ส่วนมาตรการของภาครัฐก็ยังคงเป็นแบบอนุรักษ์นิยม เราจึงได้เห็นว่าการแก้ไขปัญหาในเรื่องโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการฟื้นฟูเศรษฐกิจ การฟื้นฟูระบบสาธารณสุข รวมถึงการเยียวยาพี่น้องประชาชน ไม่สามารถเข้าถึงได้ เพราะทุกอย่างอยู่ภายใต้โครงสร้างกลไกรัฐที่มีลักษณะของการรวมศูนย์อำนาจ ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาขึ้น คนที่ได้รับผลกระทบคือคนในระดับพื้นที่ คนที่ต้องทำมาหากิน แต่คนที่มีอำนาจตัดสินใจในเชิงนโยบายไม่ได้อยู่ตรงนั้น สิ่งนี้คือปัญหาของโครงสร้างรัฐ ถ้าเราไม่กระจายอำนาจก็อาจจะนำไปสู่ทางตันได้

  นายชาตรี ศรีสันต์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ถ้าเราพัฒนาและกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นจะทำให้ลดภาระของส่วนกลาง เพราะท้องถิ่นสามารถจัดการปัญหากันเองได้ ซึ่งท้องถิ่นหลายแห่งก็ประสบความสำเร็จในเรื่องการกระจายอำนาจ มีการบริหารจัดการที่ดี และมีระบบการตรวจสอบคอร์รัปชันที่ดีกว่าส่วนกลาง ทั้งนี้ ท้องถิ่นมีข้อจำกัดคือต้องทำตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ถ้าทำในข้อที่ไม่ได้บัญญัติ ก็จะมีความผิดทางกฎหมาย ซึ่งในอนาคตควรมีการแก้กฎหมายให้ท้องถิ่นทำได้ทุกอย่าง ยกเว้นในเรื่องที่เป็นกิจกรรมของประเทศ เช่น การทหาร การออกพันธบัตร ฯลฯ

  นายไชยยศ ไชยพฤกษ์ นายกเทศมนตรีตำบลอุ่มเม้า จังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า รัฐบาลไม่มีความจริงจังในการกระจายอำนาจและกระจายงบประมาณ เงินอุดหนุนที่เหมือนจะเพิ่มขึ้นทุกปี แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีอำนาจใช้จ่ายโดยอิสระ โครงการที่เขียนไว้ก็ไม่ได้ดำเนินการ เพราะรายได้ที่รัฐประเมินไว้ติดลบ เราวางยุทธศาสตร์ไว้สวยหรู แต่ไม่มีรายได้มาดำเนินการ ซึ่งมีหลายคนเสนอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเก็บภาษีเอง แต่รัฐบาลมีคำสั่งให้ลดภาษีแต่ก็ไม่มีงบประมาณอื่นมาทดแทน จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งหาเงินชดเชยงบประมาณที่ติดลบ เพื่อให้ท้องถิ่นมีงบประมาณในการบริหารจัดการและพัฒนาตนเอง

  นายพิพัฒน์ วรสิทธิดำรง นายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นประเทศไทย และปลัดเทศบาลตำบลสารภี จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัญหาที่สำคัญที่สุดในตอนนี้คือความไม่ไว้วางใจของส่วนกลางที่มีต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะการได้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ทำให้รัฐบาลมองท้องถิ่นผิดไปจากเดิม จากที่เคยมองท้องถิ่นว่าช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้ แต่รัฐบาลกลับมองท้องถิ่นว่าเป็นศัตรู ซึ่งประเด็นที่รัฐบาลไม่ไว้วางใจท้องถิ่น อาจเกิดจากข้อมูลที่ได้รับนั้นผิดพลาดจากคนที่ไม่อยากจะกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ทั้งๆ ที่อำนาจแต่เดิมนั้นก็เป็นของท้องถิ่นอยู่แล้ว

  นายกัมพล กลั่นเนียม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลตาหลวง จังหวัดราชบุรี กล่าวว่า วิกฤติเศรษฐกิจปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งถามว่าวันนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะทำอย่างไร ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นต้องแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นเรื่องของส่วนกลางที่จะต้องมีนโยบายอย่างไรให้กับท้องถิ่น และส่วนที่ 2 คือส่วนของท้องถิ่นเอง ที่ต้องมองว่าจะเตรียมความพร้อมและรับมือกับสถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างไรกับวิกฤติเศรษฐกิจ อีกทั้งปัญหาเรื่องของโรคระบาด และร่าง พ.ร.บ.ใหม่ที่เกี่ยวข้องกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจ และจะมีผลต่อรายได้ของท้องถิ่น

 

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

แจ้งข่าวดี! กรมการท่องเที่ยวจัดคอร์สเสริมพลังท้องถิ่น ด้านการท่องเที่ยวภาครัฐ

แจ้งข่าวดี! กรมการท่องเที่ยวจัดคอร์สเสริมพลังท้องถิ่น ด้านการท่องเที่ยวภาครัฐ

กรมการท่องเที่ยวจัดอบรมออนไลน์ ฟรี! เรื่อง “การเสริมพลั…

schedule
แซงทางโค้ง! ลุงชาญปาดบิ๊กแจ๊ส นั่งเก้าอี้นายก อบจ.ปทุมฯ

แซงทางโค้ง! ลุงชาญปาดบิ๊กแจ๊ส นั่งเก้าอี้นายก อบจ.ปทุมฯ

เมืองปทุมฯ ระอุ หลัง “ชาญ พวงเพ็ชร” ล้ม “บิ๊กแจ๊ส – พล.…

schedule
ทม.บึงยี่โถจัดใหญ่ “ลุงป้า ปู่ย่า หลานม่า The Festiwow” หนุนคุณค่าสูงวัยหัวใจสตรอง

ทม.บึงยี่โถจัดใหญ่ “ลุงป้า ปู่ย่า หลานม่า The Festiwow” หนุนคุณค่าสูงวัยหัวใจสตรอง

“ลุงป้า ปู่ย่า หลานม่า The Festiwow”ภายใต้โครงการบูรณาก…

schedule
บรรเทาวิกฤต “ขยะมูลฝอย” บทบาทสำคัญของท้องถิ่น

บรรเทาวิกฤต “ขยะมูลฝอย” บทบาทสำคัญของท้องถิ่น

ปี 66 ปริมาณขยะมูลฝอยในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นกว่าร้อยละ …

schedule

นิตยสารผู้นำท้องถิ่นออนไลน์ รวมข่าวสารอัพเดทของคนท้องถิ่น

ติดต่อเรา

อีเมล : [email protected]