close

หน้าแรก

menu
search

ประเดิมถ่ายโอน “รพ.สต.” สู่ “อบจ.” แห่งแรก

schedule
share

แชร์

          เมื่อวันที่ 14 ต.ค. ที่ผ่านมา นายอนุวัธ วงศ์วรรณ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ (อบจ.แพร่) เป็นประธานในการจัดเสวนา เพื่อเตรียมความพร้อมการถ่ายโอน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในจังหวัดแพร่ ให้มาอยู่ภายใต้การดูแลของ อบจ. ตามแผนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยมีคณะผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจาก รพ.สต. จำนวน119 แห่ง จำนวน 200 คน เข้าร่วมการเสวนา เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ตามแผนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชี้แจงแนวทางและทิศทางการดำเนินงานการถ่ายโอนภารกิจให้แก่บุคลากรผู้ปฏิบัติงานใน รพ.สต.

 

          หากดำเนินการสำเร็จ อบจ.แพร่ จะเป็น อบจ.นำร่องแห่งแรกในประเทศไทย ที่รับการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. จากกระทรวงสาธารณสุข มาสังกัด “บ้านใหม่” ที่ใหญ่กว่าเดิม

 

          โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือที่รู้จักในชื่อ รพ.สต. เป็นสถานพยาบาลประจำตำบล ที่อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุข แต่เดิมเรียกกันว่า “สุขศาลา” มีหน้าที่รักษาพยาบาล ดูแลงานควบคุมโรค งานส่งเสริมสุขภาพ เกี่ยวพันกับประชาชนในพื้นที่ตั้งแต่เกิดจนตาย ต่อมาในปี 2497 เปลี่ยนชื่อเรียกเป็น “สถานีอนามัย” หรือศูนย์สุขภาพชุมชน ก่อนจะได้รับการยกฐานะเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ตามนโยบาลของรัฐบาลในสมัย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2552

 

ประเดิมถ่ายโอน

 

          รพ.สต. เป็นหนึ่งในเป้าหมายของการกระจายอำนาจด้านสุขภาพ ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 โดยในรอบแรกจะถ่ายโอนให้กับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล และเมืองที่มีความพร้อมก่อน เดิมตั้งเป้าหมายให้การถ่ายโอนแล้วเสร็จในช่วงปี 2559

 

          แต่ทว่าจวบจนปัจจุบัน สามารถถ่ายโอนมายังท้องถิ่นได้เพียง 57 แห่ง จากจำนวน รพ.สต.ทั่วประเทศ 9,775 แห่ง

 

ประเดิมถ่ายโอน

 

          อุปสรรคสำคัญของการถ่ายโอน รพ.สต.ไปยัง อบต.และเทศบาล คือ การขาดศักยภาพทางการเงินและการจัดการ จึงนำมาสู่การถ่ายโอนภารกิจในระยะที่ 2 คือถ่ายโอนมายัง อบจ.

 

          ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ ผู้จัดการงานวิจัย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้เปรียบเทียบข้อดีและข้อจำกัดของการถ่ายโอน รพ.สต.ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ระหว่างการถ่ายโอนมายัง อบต.-เทศบาล และ อบจ. ว่า “ทางเลือกการถ่ายโอน รพ.สต. ไปให้ อบต.และเทศบาล ข้อเด่น คือ มีกฎหมายแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจรองรับ เกิดการบริการตอบสนองต่อประชาชนในพื้นที่ เกิดความคล่องตัวในการบริหาร ผู้นำท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญในการนำพาการพัฒนาระบบสุขภาพโดยอาศัยภาษีท้องถิ่นอุดหนุน การเข้าถึงบริการง่ายขึ้นและกระตุ้นให้เกิดการซื้อและจัดบริการพื้นที่ เกิดงานด้านสาธารณสุขเชิงรุก เช่น การเยี่ยมบ้านดีขึ้น เพราะเป็นการสร้างฐานเสียงและมีข้อมูลเชิงลึกในการดำเนินงานของนักการเมืองท้องถิ่น

 

ประเดิมถ่ายโอน รพ.สต. สู่ อบจ. แห่งแรก

 

          รพ.สต.ที่ถ่ายโอนมายังในระยะแรก พบว่า คุณภาพการบริการประชาชนใน รพ.สต. อยู่ในระดับเดิมหรือดีกว่าเล็กน้อย ผู้บริหาร อปท. พร้อมที่จะรับการถ่ายโอน บางแห่งยังมีข้อจำกัดด้านองค์ความรู้ในการจัดการ การเมืองท้องถิ่นมีอิทธิพลสูงต่อเจ้าหน้าที่ รพ.สต. อาจทำให้เกิดการรวมศูนย์อำนาจในระดับพื้นที่

 

          ส่วนทางเลือกในการถ่ายโอน รพ.สต. ไปให้ อบจ. จะเป็นทางเลือกในการแก้ปัญหากรณี อบต. และเทศบาล ขาดศักยภาพทางการเงินและการจัดการ เพราะ อบจ.มีภาระน้อยกว่าและมีสถานะการเงินที่ดีกว่า ซึ่งรูปแบบนี้ไม่ได้ห้ามหรือกีดกันการถ่ายโอน รพ.สต. แก่ อบต. และเทศบาลที่มีศักยภาพเพียงพอหรือไม่มีปัญหาทางการเงิน ทางเลือกนี้จึงเป็นเสมือนทางเลือกเสริมทางเลือกเดิมที่ สธ. ใช้ถ่ายโอนแก่ อบต. และเทศบาล

 

          ดังนั้น การดำเนินงานจึงสามารถทำได้เลยเพราะมีกฎหมายรองรับ ซึ่งมีข้อเด่นคือ อบจ. มีสถานะการเงินเข้มแข็ง ศักยภาพการบริหารจัดการที่มากกว่า อาจประสานงานกับส่วนกลางได้ง่าย บุคลากรใน รพ.สต. สามารถโยกย้ายกันได้ภายในจังหวัด แต่ข้อด้อยที่พบคือ การบริหารที่อยู่ระดับสูงกว่า อบต.และเทศบาล คือการใกล้ชิดประชาชนในพื้นที่จะน้อยลง การกำกับ รพ.สต. อาจทำได้ไม่ครอบคลุม บุคลากรที่มีไม่เพียงพอที่จะติดตามกำกับ และอาจสร้างกำแพงบริการที่ไม่เชื่อมต่อระหว่างจังหวัด เกิดการกีดกันการส่งต่อข้ามจังหวัด เป็นต้น”

 

          อบจ. จึงเปรียบเสมือนฐานที่มั่นสุดท้าย หลังจากที่ อบต.และเทศบาลอีกจำนวนมาก ยังขาดความพร้อมที่จะรองรับการกระจายอำนาจด้านการสาธารณสุข เพื่อดำเนินการตามแผนการกระจายอำนาจคืนสู่ท้องถิ่น หลังจากที่ยืดเยื้อกันมานานจนเกือบมองไม่เห็นปลายทางความสำเร็จ

 

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

แจ้งข่าวดี! กรมการท่องเที่ยวจัดคอร์สเสริมพลังท้องถิ่น ด้านการท่องเที่ยวภาครัฐ

แจ้งข่าวดี! กรมการท่องเที่ยวจัดคอร์สเสริมพลังท้องถิ่น ด้านการท่องเที่ยวภาครัฐ

กรมการท่องเที่ยวจัดอบรมออนไลน์ ฟรี! เรื่อง “การเสริมพลั…

schedule
แซงทางโค้ง! ลุงชาญปาดบิ๊กแจ๊ส นั่งเก้าอี้นายก อบจ.ปทุมฯ

แซงทางโค้ง! ลุงชาญปาดบิ๊กแจ๊ส นั่งเก้าอี้นายก อบจ.ปทุมฯ

เมืองปทุมฯ ระอุ หลัง “ชาญ พวงเพ็ชร” ล้ม “บิ๊กแจ๊ส – พล.…

schedule
ทม.บึงยี่โถจัดใหญ่ “ลุงป้า ปู่ย่า หลานม่า The Festiwow” หนุนคุณค่าสูงวัยหัวใจสตรอง

ทม.บึงยี่โถจัดใหญ่ “ลุงป้า ปู่ย่า หลานม่า The Festiwow” หนุนคุณค่าสูงวัยหัวใจสตรอง

“ลุงป้า ปู่ย่า หลานม่า The Festiwow”ภายใต้โครงการบูรณาก…

schedule
บรรเทาวิกฤต “ขยะมูลฝอย” บทบาทสำคัญของท้องถิ่น

บรรเทาวิกฤต “ขยะมูลฝอย” บทบาทสำคัญของท้องถิ่น

ปี 66 ปริมาณขยะมูลฝอยในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นกว่าร้อยละ …

schedule

นิตยสารผู้นำท้องถิ่นออนไลน์ รวมข่าวสารอัพเดทของคนท้องถิ่น

ติดต่อเรา

อีเมล : [email protected]