สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทยจัดการประชุมและสัมมนาทางวิชาการครั้งที่ 1 ประจำปี 2566 ระหว่างวันที่ 21-23 มิถุนายน 2566 ณ อาคารชาเลนเจอร์ อาคาร 2 อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี โดยในวันที่ 22 มิถุนายน 2566 ได้มีพิธีเปิดการประชุมอย่างยิ่งใหญ่ มีผู้นำท้องถิ่นจากทั่วประเทศเข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนมาก ประกอบด้วย นายกเทศมนตรี ประธานสภาเทศบาล ปลัดเทศบาล จำนวนหลายพันคนเต็มพื้นที่อาคารชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 2
(นายกฤษฎา บุญราช)
ในช่วงพิธีเปิด ได้รับเกียรติจาก นายกฤษฎา บุญราช ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธี โดยมีนายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม นายสมชาย รังสิวัฒนศักดิ์ นายกเทศมนตรีเมืองสนั่นรักษ์ ในฐานะนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย กล่าวรายงานความเป็นมาและผลการทำงานของสมาคมฯ โดยมีนายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสุรพล เจริญภูมิ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น คณะผู้บริหารสมาคมฯ อดีตนายกสมาคมฯ สมาชิกสมาคมฯ และท่านผู้มีเกียรติเข้าร่วมในพิธีเปิดงานครั้งนี้
(นายสุธี ทองแย้ม)
นายสมชาย รังสิวัฒนศักดิ์ ในฐานะนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงความเป็นมาของสมาคมว่า สมาคมสันนิบาตแห่งประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2503 นับเป็นสมาคมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แห่งแรกของประเทศไทย โดยมีเทศบาลและกระทรวงมหาดไทย ในขณะนั้นได้มองเห็นปัญหาและอุปสรรคในการบริหารงานของเทศบาลว่าไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในการบริการประชาชน ตามที่กำหนดไว้ จำเป็นต้องมีองค์กรกลาง ที่เป็นส่วนรวมเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในการผลักดันให้กฎหมายหรือระเบียบไปในทิศทางที่เหมาะสม สามารถทำแล้วเกิดประโยชน์และความผาสุกแก่ประชาชน ซึ่งปัจจุบันสมาคมมีเทศบาลสมาชิกจำนวนทั้งสิ้น 2,386 แห่ง การประชุมและการสัมมนาทางวิชาการสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทยในครั้งนี้ สมาคมมีความมุ่งหวังให้ผู้เข้าร่วม ได้รับความรู้ความเข้าใจหลักและสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ในหมวดการปกครองส่วนท้องถิ่นและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเทศบาลโดยตรง การติดตามนโยบายการกระจายอำนาจหลังการเลือกตั้ง แนวทางการตรวจสอบการบริหารเทศบาลในปัจจุบัน การพัฒนารายได้ให้กับท้องถิ่นและการนำแนวพระราชดำริมาประยุกต์ใช้ เพื่อผู้เข้าร่วมประชุมได้แลกเปลี่ยน เรียนรู้ประสบการณ์ การหาแนวทางใหม่ๆ ในการพัฒนาท้องถิ่น แก้ปัญหาให้กับประชาชนในพื้นที่ ก่อให้เกิดความสามัคคีในหมู่เทศบาล สมาชิกของสมาคมฯ และการพัฒนาประเทศในภาพรวม
(นายสมชาย รังสิวัฒนศักดิ์)
สำหรับผลงานสมาคมที่ผ่านมาและสิ่งที่จะดำเนินการต่อไปในอนาคต ในส่วนการดำเนินงานที่ผ่านมาสมาคมสันนิบาตเทศบาลฯ สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดฯ และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลฯ ได้ร่วมกันลงนาม MOU ในการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดที่ 14 ซึ่งเกี่ยวข้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ทางสถาบันของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยท่านอาจารย์สมคิด เลิศไพฑูรย์ และ ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย อดีตเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า พร้อมทีมงานยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เน้นเรื่องการกระจายอำนาจ เรื่องความเป็นอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีมาตรการในการพัฒนารายได้ การบริหารงานบุคคลและการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน รวมถึงการกำกับดูแลเท่าที่จำเป็น ย้ายอำนาจมาไว้ที่ประชาชน รวมถึงการจัดตั้งท้องถิ่นเป็นรูปแบบพิเศษ สร้างความชัดเจนระหว่างส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น ตลอดจนสภาพบังคับการตรากฎหมายที่มีระยะเวลาที่แน่นอนในการที่จะมีผลบังคับใช้
ทางสมาคมฯ ได้ผลักดันให้มีการแก้ไขระเบียบคณะกรรมการชุมชน เดิมถูกกำหนดไว้ว่า เทศบาลใดที่ยังมีกำนันผู้ใหญ่บ้าน ไม่สามารถจัดตั้งชุมชนได้ สมาคมได้พยายามผลักดันให้ทุกๆ เทศบาลสามารถจัดตั้งคณะกรรมการชุมชนได้ ต้องยอมรับว่าคณะกรรมการชุมชนนั้น มีบทบาทสำคัญที่จะช่วยเหลืองานของเทศบาล รวมถึงกระทั่งการผลักดันให้มีค่าตอบแทนให้กับคณะกรรมการชุมชนที่จะมาช่วยงานของทางเทศบาลและก็ได้ผ่านสำเร็จเป็นที่เรียบร้อย
ในส่วนของเงินเดือน ค่าตอบแทน เงินประจำตำแหน่งของนายกเทศมนตรี รองนายก เลขาฯ ที่ปรึกษาฯ ตลอดจนสมาชิกสภาเทศบาล ทางสมาคมฯ ได้ผลักดันและทำหนังสือส่งไปยังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ทางกระทรวงมหาดไทย รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและนายกรัฐมนตรีเพื่อผลักดันให้ มีการปรับแก้เงินเดือน เงินประจำตำแหน่งและค่าตอบแทน ต้องยอมรับว่าในหมวดของเงินเดือน ค่าตอบแทน และเงินประจำตำแหน่งนั้นถูกประกาศใช้มาหลังสุดเมื่อปี 2554 ในส่วนของข้าราชการประจำมีการปรับแก้ไขเมื่อปี 2559 และในทางปฏิบัตินั้น ข้าราชการประจำหรือพนักงานเทศบาลนั้น ในทุกๆ ปีจะมีการปรับเพิ่มปีละไม่น้อยกว่า 6% แต่ในส่วนของผู้บริหารตลอดจนสมาชิกของท้องถิ่นนั้นได้หยุดชะงักมาเป็นระยะเวลา 12 ปี ในเรื่องนี้สมาคมฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจช่วยผลักดันแก้ไขปัญหาเรื่องนี้
สมาคมฯ ได้เสนอเรื่องไปยังกระทรวงมหาดไทยให้ยกเลิกคำสั่งที่ 8/2560 เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลตาม พ.ร.บ.การบริหารงานบุคลปี 2542 กำหนดให้ ท้องถิ่นสามารถจัดสอบแข่งขัน สอบคัดเลือก และการคัดเลือกด้วยท้องถิ่นเองได้ หลังจากที่มีคำสั่งที่ 8/2560 นี้ออกมาทำให้อำนาจในการคัดเลือกนั้นไปอยู่ที่ส่วนกลาง ทำให้ท้องถิ่นแต่ละท้องถิ่นนั้นขาดบุคลากรที่มีความเข้าใจในสภาพปัญหาของแต่ละพื้นที่ เกิดความล่าช้าในการที่จะได้บุคลากรนั้นมาทำงานให้กับแต่ละท้องถิ่น
ทางสมาคมฯ ได้ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้าจัดให้มีการอบรมหลักสูตรนายกเทศมนตรียุคใหม่จากรุ่น 6 -8 หลักสูตรการจัดฝึกอบรมให้กับปลัดเทศบาลจำนวน 3 รุ่น หลักสูตรประธานสภาเทศบาลอีกจำนวน 3 รุ่น ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันนั้น การเลือกตั้งใหญ่ของเทศบาลทั่วประเทศที่ผ่านมามีผู้บริหารใหม่ สมาชิกใหม่ ไม่น้อยกว่า 60% เข้ามาทำหน้าที่นายกเทศมนตรี และสมาชิกสภาเทศบาล ปัจจุบัน ระเบียบข้อบังคับต่างๆ กฎหมายต่างๆ หนังสือสั่งการต่างๆ นั้น ถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ในการฝึกอบรมทั้ง 3 รูปแบบนี้เป็นการเติมองค์ความรู้ให้กับนายกเทศมนตรี ให้กับปลัดเทศบาล ให้กับประธานสภาเทศบาล และก็ในการบริหารงานจริงนั้น ประกอบด้วย 3 ส่วน ต้องทำงานร่วมกันในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้กับพ่อแม่พี่น้องประชาชน
ในปี 2568 ที่จะถึงนี้ ด้านเทศบาลตำบลต้องยื่นของบอุดหนุนโดยตรงกับสำนักงบประมาณ จัดให้มีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่พนักงานของเทศบาลตำบล ไม่ว่าจะเป็นทางระบบ online และ onsite ตามภูมิภาคต่างๆ เพื่อให้พนักงานของเทศบาลตำบลมีความรู้ ความเข้าใจ ในการยื่นคำของบประมาณโดยตรงกับสำนักงบประมาณ
ทางสมาคมฯ ได้ร่วมกับทาง DGA (สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)) และ ARV (AI and Robotics Ventures ธุรกิจปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ เพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืน) เล็งเห็นถึงความสำคัญของระบบเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยการจัดให้มีการฝึกอบรมให้กับมวลสมาชิกในการลดขั้นตอนการทำงานของทางเทศบาลไม่ว่าจะเป็นระบบการขออนุญาตต่างๆ การรับเรื่องราวร้องทุกข์ ตลอดจนการพัฒนารายได้ให้ท้องถิ่นจัดเก็บภาษีได้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเดือนมกราคมที่ผ่านมามี พ.ร.บ. ปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์มีผลบังคับใช้ สมาคมฯ ได้จัดให้มีการอบรมกับมวลสมาชิกทั้งประเทศให้มีความเข้าใจใน พ.ร.บ. ฉบับนี้ซึ่งแต่ละหน่วยงานราชการต้องมี 1 ช่องทางที่จะให้พี่น้องประชาชนติดต่อสื่อสารเข้าถึงกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผ่านโดยใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างน้อย 1 ช่องทาง
ในช่วงที่ผ่านมานั้นสมาคมฯ ได้เป็นสมาชิกของ UCLG (United Cities and Local Government Asia Pacific) ซึ่งถือว่าเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจากนานาประเทศ สมาคมฯ ได้มีส่วนร่วมในการอบรมสัมมนาวิชาการทั้งประเทศเกาหลีและประเทศเนปาลเพื่อที่จะนำความรู้ความเข้าใจต่างๆ มาปรับใช้กับองค์กรของเทศบาลเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ต่อมา นายกฤษฎา บุญราช ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวว่า เทศบาลถือเป็นหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ที่มีความใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชน เนื่องจากมีเขตพื้นที่ความรับผิดชอบ เหมาะสมกับภารกิจและหน้าที่ ที่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ตรงตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่มากที่สุด ในห้วงระยะเวลาที่ผ่านมา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะเทศบาลหลายแห่งสามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามอำนาจหน้าที่และนโยบายของรัฐบาล เช่น ปัญหาสาธารณภัยและบริหารจัดการขยะ การร่วมมือกับส่วนราชการต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เนื่องจากตนเองเคยมีโอกาสทำงานใกล้ชิดกับหน่วยงานองค์การบริหารส่วนจังหวัด และเทศบาลมาก่อน โดยในปี 2566 สถาบันปิดทองฯ ได้เป็นหน่วยงานกลางในการประสานและซ่อมแซมแหล่งน้ำขนาดเล็กในเขตลุ่มน้ำมูล ให้แก่ส่วนราชการที่โอนมอบให้แก่เทศบาลและอบต. เพราะเทศบาลและอบต.ไม่สามารถรับโอนงานที่ยังไม่เรียบร้อยมาได้ ดังนั้น จึงขอถือโอกาสนี้ ฝากข้อคิดเห็นและข้อพิจารณาไว้ให้ที่ประชุม สัมมนาสันนิบาตได้ช่วยกันขบคิดว่า จะทำอย่างไรให้เทศบาล มีความเป็นอิสระอย่างพอเพียง หรือเหมาะสม กับการเป็นหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น ที่สามารถทำงานเพื่อประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขอเน้นคำว่าอิสระอย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ ซึ่งในการที่จะทำให้เทศบาลมีอิสระอย่างเพียงพอได้นั้น เราน่าจะกลับมาทบทวนว่าภารกิจหรือหน้าที่ ซึ่งเทศบาลรับผิดชอบอยู่ในปัจจุบันเหมาะสมกับความพร้อมในการจัดเก็บภาษีหรือรายได้ของเทศบาลแต่ละแห่งอย่างเพียงพอหรือไม่ กระผมเห็นว่าถ้าเทศบาลจะได้กำหนดอำนาจหน้าที่และภารกิจให้เหมาะสมกับศักยภาพในการจัดเก็บรายได้ หรือภาษีท้องถิ่นได้เพียงพอต่อการทำหน้าที่ของเทศบาล โดยไม่ต้องอาศัยเงินงบประมาณอุดหนุนจากรัฐบาลหรือราชการส่วนกลางแล้ว รวมถึงการถ่ายโอนงานต่างๆ ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ชัดเจนกว่าปัจจุบัน จึงน่าจะทำให้เทศบาลมีอิสระในการทำงานที่คล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยรัฐบาลหรือข้าราชการส่วนกลางก็ไม่ต้องออกกฎหรือระเบียบมากำกับดูแลการทำงานของเทศบาล จนขาดความเป็นอิสระมากเกินไป จนทำให้เกิดปัญหาว่า รัฐบาลไม่ยอมกระจายอำนาจให้ประชาชนจัดการตนเอง ซึ่งเป็นประเด็นถกเถียงในปัจจุบัน ดังนั้นในกำหนดการภารกิจของเทศบาลแต่ละแห่งจึงไม่ควรกำหนดให้เหมือนกันทุกเทศบาลควรกำหนดภารกิจและหน้าที่ตามอัธยาศัยตามศักยภาพในการหารายได้ หรือการจัดเก็บภาษีท้องถิ่นของเทศบาลไม่ควรตัดเสื้อโหลมาบังคับให้ทุกเทศบาลใส่เหมือนกัน
สำหรับการจัดประชุมในครั้งนี้ มีการเสวนาและบรรยายให้ความรู้ อาทิ การรับฟังความคิดเห็นการตอบคำถามในเรื่อง การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดย ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ ผู้ทรงคุณวุฒิในทางศิลปวิทยา สาขานิติศาสตร์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การอภิปราย เรื่องการติดตามนโยบายการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นของพรรคการเมืองหลังการเลือกตั้ง หัวข้อ “ท้องถิ่นมั่งคั่ง ประเทศมั่งคง” โดยมีผู้แทนจากพรรคการเมืองต่างๆ เข้าร่วมอภิปราย การบรรยาย เรื่อง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินกับการบริหารงานเทศบาลในปัจจุบัน โดย นายมณเฑียร เจริญผล รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน การบรรยาย เรื่อง บพท. กับการสนับสนุนเพื่อพัฒนาเทศบาล โดย รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท) ดร.นนท์ อัครประเสริฐกุล ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส ฝ่ายส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และรองศาสตราจารย์ ดร.วีรศักดิ์ เครือเทพ รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและยกระดับขีดความสามารถในการจัดการภาครัฐและท้องถิ่น บพท. การบรรยาย เรื่อง แนวทางการจัดทำคำของบประมาณของเทศบาลตำบลในการเป็นหน่วยงานรับงบประมาณตรง ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยนายสารสิน ศิริถาพร ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ สำนักงบประมาณ การบรรยาย เรื่อง การยกระดับท้องถิ่นไทยด้วยข้อมูล เทคโนโลยี และระบบปัญญาประดิษฐ์ โดยนายวีรวัฒน์ รัตนวราหะ ผู้ร่วมจัดตั้ง บริษัท เบดร็อค อนาไลติกส์ จำกัด และการบรรยาย เรื่องคาร์บอนด์เครดิตกับการพัฒนารายได้ให้กับท้องถิ่นอย่างไร โดยนางสาวพฤฒิภา โรจน์กิตติคุณ ผู้อำนวยการสำนักรับรองคาร์บอนเครดิต องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)