“ชัยชนะ เดชเดโช” รอง หน. ปชป. เตรียมทวงสัญญารัฐบาล หนุนเพิ่มงบประมาณ อปท. หลังรายได้สุทธิหยุดนิ่งอยู่ร้อยละ 29 นานกว่า 7 ปี
เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2567 ณ ห้องประชุม อาคารเสนีย์ ปราโมช ชั้น 3 พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นัดประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ในสังกัด โดยมีนายประมวล พงศ์ถาวราเดช สส.จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานในที่ประชุม ตลอดทั้งวันจะมีการเตรียมความพร้อมเพื่ออภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดย สส. มีการจัดเตรียมประเด็นในการอภิปราย เตรียมข้อมูล พร้อมอภิปรายเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการจัดงบประมาณและใช้งบประมาณแผ่นดินให้คุ้มค่าโปร่งใสและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศมากที่สุด
โดย นายชัยชนะ เดชเดโช สส. นครศรีธรรมราชและรองหัวหน้าพรรค ปชป. ได้กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในการอภิปรายร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ว่า ปชป. มีการเตรียมบุคคลและเนื้อหาที่อภิปรายร่างงบประมาณฯ ไว้แล้ว โดยจะชี้ให้เห็นว่า งบประมาณที่ใช้จ่ายเพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ตั้งแต่ประกาศหาเสียงเลือกตั้ง จนกระทั่งบรรจุในคำแถลงนโยบายรัฐบาลนั้น กลับขาดการให้ความสำคัญจากรัฐบาลในการใช้งบประมาณ เพื่อเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนนโยบายให้เกิดผลสัมฤทธิ์ จนกลายเป็นว่า สิ่งที่รัฐบาลหาเสียงไว้กับประชาชนนั้น เหมือนกับเป็นการตีเช็คเปล่า โดยหวังอาศัยชื่อเสียงเก่า ๆ เพื่อจะรักษาแบรนด์ของพรรคเพื่อไทยเอาไว้เป็นพรรคต้นตำรับด้านประชานิยม เช่น นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ปริญญาตรี 25,000 บาท ปรากฏไม่พบงบประมาณรายการใดที่ใช้ผลักดันการขึ้นค่าแรงงานของภาคเอกชน ซึ่งต่างจากท่าทีของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ระบุว่า ไม่มีความสุขเพราะค่าแรงขึ้นน้อยเกินไป
สำหรับงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น (อปท.) ตนอยากจะให้ประชาชนติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะถือว่าเป็นงบประมาณที่ใกล้ชิดกับประชาชน ทั้งนี้ สัดส่วนรายได้ อปท. ต่อรายได้สุทธิของรัฐบาลคงที่อยู่ที่ร้อยละ 29 มา 7 ปี ติดต่อกันแล้ว ซึ่งยังคงน้อยกว่าเป้าหมายตามพ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. พ.ศ. 2542 ที่ร้อยละ 35 ทำให้การจัดการบริการสาธารณะของ อปท. ยังไม่สามารถพัฒนาคุณภาพบริการสาธารณะได้ตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งไม่มีความชัดเจน การเพิ่มสัดส่วนงบประมาณให้ อปท. ตามกฎหมายกำหนด
ชัยชนะ กล่าวอีกว่า งบประมาณในส่วนของท้องถิ่นที่จะดำเนินการในการจัดทำบริการสาธารณะนั้น กลับกระจุกกับหน่วยงานส่วนกลางที่กำกับดูแล โดยปรากฏในงบประมาณว่าเป็นงบประมาณเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมและการใช้พลังงานทดแทน แต่เมื่อไปดูพบว่า มีบาง อปท. ใช้วิธีตั้งงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างเสาไฟฟ้าในราคาที่แพงเกินจริง จึงเกรงว่า อาจจะเป็นช่องทางในการทุจริตคอร์รัปชันหรือฮั้วกันระหว่างเจ้าหน้าที่ส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่น รวมทั้งมีการยักย้ายถ่ายเทงบประมาณ กลายเป็นงบประมาณเพื่อสนองความต้องการทางการเมือง ดังนั้น ตนและ ปชป. จะดำเนินการอภิปรายเพื่อให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณลงในท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นต่าง ๆ สามารถใช้งบประมาณเพื่อประโยชน์ของประชาชนได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย