ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยที่ประชุมได้เห็นชอบ “ร่างประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเรื่อง หลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด พ.ศ. ….” เพื่อขับเคลื่อนกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัดฯ ดูแลประชาชนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยคณะอนุกรรมการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการสร้างหลักประกันสุขภาพของทุกภาคส่วน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นำเสนอความสำคัญ ของร่างประกาศฯนี้ว่า
เพื่อการสร้างการมีส่วนร่วมซึ่งเป็นหลักการสำคัญในการสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามมาตรา 47 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 โดย “กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัดฯ” เพื่อให้คนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ที่อยู่ในระยะที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพในเขตพื้นที่จังหวัด ได้รับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์และอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ เกิดการพัฒนาและเชื่อมโยงระบบบริการในครอบครัว ชุมชน และหน่วยบริการระดับเขตจังหวัด จนถึงปัจจุบันมี อบจ.ร่วมจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพฯ แล้วจำนวน 42 แห่ง
ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสปสช.กล่าวว่า สาระสำคัญที่ทำการปรับปรุงในร่างประกาศกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพฯ มี 5 ประเด็น คือ 1.นิยามกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน คือ คนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะกึ่งเฉียบพลัน และผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง 2.เพิ่มความชัดเจนกำหนด อบจ.เป็นผู้ดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุน 3.การใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ให้อยู่ภายใต้ความเห็นชอบของคณะกรรมการกองทุน 4.เพิ่มองค์ประกอบคณะกรรมการกองทุนเป็น 21 คน จาก 18 คน โดยเพิ่ม นพ.สสจ. ผู้แทนเครือข่ายภาคประชาชนเป็นกรรมการ เพิ่มผู้แทนเครือข่ายคนพิการเป็นกรรมการเป็น 3 คน จาก 1 คน และเจ้าหน้าที่ อบจ.ด้านงานคลังเป็นกรรมการ 5.กำหนดการจัดทำบัญชีและรายงานกองทุนฯ ตามรูปแบบที่ สปสช.กำหนด.
สำหรับ กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพฯ เป็นการดำเนินงานเพื่อดูแลให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพโดยร่วมกับ อบจ. โดยกระบวนการแก้ไขประกาศ สปสช.ได้ดำเนินการร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พร้อมเปิดเวทีรับฟังความเห็น อบจ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การปรับปรุงประกาศเป็นไปอย่างรอบคอบและรอบด้าน ผลที่จะเกิดขึ้นจากร่างประกาศกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพฯ ฉบับนี้ นอกจากทำให้การใช้จ่ายงบประมาณกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพฯ เกิดประสิทธิผลสูงสุดแล้ว ยังส่งผลให้กลุ่มเป้าหมายทั้งคนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะกึ่งเฉียบพลัน และผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงเข้าถึงบริการฟื้นฟูฯ ที่จำเป็นทั้งในหน่วยบริการและชุมชนได้มากขึ้น เป็นการดูแลคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ