การกลับมาในสมัยที่ 9 ของ “สมนึก ธนเดชากุล” ในฐานะนายกเทศมนตรีนครนนทบุรี หลังการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ “สมนึก” ผู้สมัครหมายเลข 1 ชนะไปด้วยคะแนนเสียง 55,029 คะแนน จากผู้มาใช้สิทธิ 73,858 คน ยิ่งตอกย้ำว่าเขาเป็นผู้ที่ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรียาวนานที่สุดในประเทศไทย และยาวนานที่สุดในโลก
“สมนึก” เป็นเพียงคนเดียวที่ไม่เคยถูกโค่นแชมป์ และอยู่ในตำแหน่งถึง 8 สมัยติดต่อกัน รวมระยะเวลาการเป็นนายกเทศมนตรีนครนนทบุรีเกือบ 40 ปี ปัจจุบันสมนึกในวัย 75 ปียังแข็งแรงกระฉับกระเฉง พร้อมทำหน้าที่ในสมัยที่ 9 รอเพียง กกต.รับรองผลอย่างเป็นทางการเท่านั้น
สำหรับประวัติ ด้านการศึกษา สมนึกจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม จ.นนทบุรี จบปริญญาตรี ศิลปศาสตร์บัณฑิต สาขาการจัดการทั่วไป มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ฯ และปริญญาตรี บริหารธุรกิจบัณฑิตกิตติมศักดิ์การจัดการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร และในปี 2545 จบปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตร์ มหาบัณฑิต (M.P.A.) สาขารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย และประกาศนียบัตรนักบริหารขั้นสูง หลักสูตรการบริหารงานภาครัฐและกฎหมายเอกชน ของสถาบันพระปกเกล้า
ด้านประวัติชีวิต “สมนึก” เกิดและโตที่เมืองนนทบุรี เขาเกิดเมื่อ 12 มิถุนายน 2488 ในครอบครัวชาวจีนแต้จิ๋วฐานะปานกลางที่อพยพถิ่นฐานมาอยู่เมืองไทย สมนึกเป็นลูกคนที่ 4 ในจำนวนพี่น้อง 8 คน อาศัยอยู่ในห้องแถว เซี่ยมฮุ้น แซ่ล้อ ผู้เป็นพ่อ เดิมมีอาชีพเป็นคนส่งน้ำแข็งในย่านตลาดศรีเมือง พบรักกับ ชุนเซี้ยม แซ่หลือ ผู้เป็นแม่ ซึ่งเดิมทำโรงก๋วยเตี๋ยวและเต้าหู้ หลังคบหาดูใจกันเกือบปี จึงตัดสินใจใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน และย้ายมาอยู่ที่นนทบุรี เปิดร้านขายกาแฟควบคู่กับขายของชำ
ชีวิตในวัยเด็กของสมนึกออกจะโลดโผนโจนทะยานเป็นอย่างยิ่ง ชอบชกมวยเป็นชีวิตจิตใจ ด้วยนิสัยดื้อรั้นประสาเด็กหนุ่มที่ชอบทำอะไรตามใจตัวเอง ขณะที่ผู้เป็นพ่อเป็นคนเข้มแข็งและเด็ดเดี่ยว ทำให้สมนึกและพ่อมีเรื่องขัดแย้งกัน จนเป็นเหตุให้พ่อไล่ออกจากบ้าน ต้องออกมาเรียนรู้ชีวิตตั้งแต่วัย 11 ขวบ
ด้วยความอยากเอาชนะพ่อทำให้สมนึกไม่คิดจะกลับบ้าน เขาออกไปอาศัยอยู่ที่บ้านสวนของเพื่อน พ่อเพื่อนซึ่งเป็นอธิบดีผู้พิพากษาซื้อเอาไว้ให้ลูกชายได้อยู่เรียนหนังสือ สมนึกเลี้ยงชีวิตด้วยการรับจ้างปีนต้นหมาก ต้นมะพร้าว รวมถึงการรับจ้างถีบสามล้อขนทุเรียนไปขายตลาด รวมกับเงินที่แม่แอบส่งให้ เขาจึงมีเงินได้เรียนหนังสือ และแบ่งส่วนหนึ่งไว้ซื้อตั๋วดูมวยกีฬาโปรดด้วย
หลังเรียนจบวิทยาลัยช่างก่อสร้างดุสิตในปี 2511 สมนึกไปทำงานเป็นหัวหน้างานติดตั้งเดินสายโทรศัพท์ที่กรมชลประทานราว 6 ปี แล้วจึงลาออกมาช่วยแม่ค้าขาย เนื่องจากช่วงนั้นเศรษฐกิจดี ขายของได้เงินดีกว่าเงินรับราชการ ต่อมาจึงถูกชักชวนให้เข้าสู่สนามการเมืองท้องถิ่น และในปี 2517 สมนึกได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองนนทบุรีเป็นสมัยแรก ในสังกัด กลุ่มพลังหนุ่ม
ที่มาของชื่อ “พลังหนุ่ม” เป็นเพราะเมื่อครั้งที่สมนึกจะลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลครั้งแรก “มวยศึกพลังหนุ่ม” กำลังดัง คนที่มีมวยอยู่ในหัวใจอย่างสมนึก รวมถึงพวกพ้องที่อยู่ในวงการมวยจึงเลือกชื่อ “พลังหนุ่ม” มาเป็นชื่อกลุ่มการเมือง
ต่อมาในปี 2521 “สมนึก” ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่ง “เทศมนตรี เทศบาลเมืองนนทบุรี” เป็นครั้งแรก และในปี 2527 – 2528 ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่ง “นายกเทศมนตรีเมืองนนทบุรี” เป็นสมัยแรก และในปี 2531-2538 ก็ยังคงทำหน้าที่หัวเรือใหญ่บริหารเมืองนนทบุรีเรื่อยมา ภายหลังเทศบาลเมืองนนทบุรียกฐานะขึ้นเป็นเทศบาลนครนนทบุรี ในปี 2538 สมนึกก็ยังคงได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ได้รับเลือกให้เป็นนายกเทศมนตรีนครนนทบุรีต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ ในปี 2545-2547 สมนึกได้รับเลือกเป็นตัวแทนนายกเทศมนตรีภาคกลาง ด้วยคะแนน 109 ต่อ 99 ได้ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย จุดนี้เองทำให้เขาเริ่มถูกจับจ้องจากนายกเทศมนตรีทั่วประเทศ และเป็นที่รู้จักมากขึ้น
การได้รับความไว้วางใจจากคนในพื้นที่เมืองนนทบุรีมาอย่างยาวนาน สะท้อนการทำงานของ “สมนึก” ที่ทำมาจากใจ ใช้ใจแลกใจกับคนในพื้นที่ ทั้งยังสามารถนำเมืองนนทบุรีผ่านปัญหาวิกฤติน้ำท่วมเมืองมาหลายครั้ง ด้วยการเริ่มต้นแก้ปัญหาด้วยตนเองก่อน ไม่รอความช่วยเหลือจากส่วนกลาง เพราะเชื่อว่าเงื่อนไขและขั้นตอนมากมาย จะทำให้การแก้ไขปัญหาให้ประชาชนล่าช้าไม่ทันการณ์ “สมนึก” จึงเป็นอีกคนสำคัญ ที่ช่วยผลักดันให้เกิดการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น
ในวิกฤตการณ์โควิดเมื่อต้นปี 2564 “สมนึก” เป็นผู้นำท้องถิ่นคนแรก ที่ออกมาประกาศพร้อมใช้งบเทศบาลนครนนทบุรี 260 ล้านบาท สนับสนุนการจัดซื้อวัคซีนจากรัฐบาล เพื่อกระจายฉีดให้กับประชาชนในพื้นที่เทศบาลเมืองนนทบุรี เพราะมองเห็นการจัดการที่ล่าช้าหากให้รัฐบาลจัดการเพียงฝ่ายเดียว ครั้งนั้นสมนึกขอเข้าพบปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อหารือถึงความเป็นไปได้ในการจัดการซื้อวัคซีนของท้องถิ่น ซึ่งภายหลายมีอีกหลายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกมาขานรับแนวคิดดังกล่าว
แนวคิดที่แปลกแตกต่างของ “สมนึก” ยังออกมาในรูปแบบของการจัดงานประเพณีด้วย สมนึกมักจัดกิจกรรมที่มีสีสัน และดึงดูดความสนใจของประชาชน รวมถึงนักข่าวอยู่เสมอ ทำให้ชื่อของเขาไม่เคยห่างหายไปจากสื่อมวลชน และข่าวที่ออกไปนั้นมักจะมีลักษณะในเชิงบวกต่อตัวเขาและคณะทำงาน
ครั้งหนึ่งเขาเคยจัดกิจกรรมควาย หมูป่า และคน แข่งว่ายข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา โดยฝ่ายคนดึงเอา “เขาทราย กาแล็กซี่” และ “โคเน่ ฟรานซิส” นักฟุตบอลชื่อดังชาวไอ วอรี โคสต์ มาร่วมสร้างสีสัน กระทั่งแข่งขันความเร็วรถสามล้อ หรือซาเล้งยกล้อ “สมนึก” ก็เคยจัดมาแล้ว รวมถึงการจัดประกวดของยาวที่สุดในโลก อย่าง “กลอง”
“สิ่งที่คิดต้องไม่ธรรมดา” นี่คือหลักคิดของสมนึก ที่สำคัญคือต้องมีการตีฆ้องร้องป่าวออกไปให้สาธารณชนได้รู้เห็น “การประชาสัมพันธ์” จึงเป็นอีกเรื่องที่เขาให้ความสำคัญ เพราะเชื่อว่า การทำงานใดๆ แม้จะมีผลงานมากมาย แต่ชาวบ้านไม่รับรู้ข้อมูลก็อาจจะเป็นจุดอ่อน ให้คู่แข่งทางการเมืองนำไปใช้โจมตียามหาเสียง
“ผมให้ความสำคัญกับการประชาสัมพันธ์เป็นพิเศษ เพราะส่วนหนึ่งผมไม่ปฏิเสธว่านี่คือหน้าตาของเทศบาลเรา แต่การประชาสัมพันธ์จะเป็นการประชาสัมพันธ์ในเชิงรุก ซึ่งในความหมายผมคือ การประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับเทศบาลในการพัฒนาท้องถิ่น…” สมนึกเคยให้สัมภาษณ์ไว้กับนิตยสารท้องถิ่น
ความ “เก่า” และ “เก๋า” ของ “สมนึก ธนเดชากุล” จึงไม่ใช่เรื่องที่ใครจะลอกเลียนแบบได้ ศิลปะในการบริหารเฉพาะตัว ทำให้ “หนุ่มใหญ่ใส่แว่นไว้หนวด” ยังคงครองใจชาวบ้านในพื้นที่มาอย่างยาวนานจวบจนปัจจุบัน ขอให้ยังคงรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ครองตำแหน่งนายกเทศมนตรีไปอีกหลายสมัย เพื่อรักษาแชมป์ “นายกเทศมนตรีนานที่สุดในโลก” ต่อไป