close

หน้าแรก

menu
search

นายกฯ ไม่ห้ามจัด “ปีใหม่” ด้านศบค.เสนอจำกัดคนร้อยละ 50 ต่อพื้นที่

schedule
share

แชร์

  วันที่ 16 ธันวาคม 2563 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (ศบค.) จะมีการประชุมพิจารณาการกำหนดมาตรการจัดกิจกรรมช่วงเทศกาลปีใหม่ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งหากต้องการให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด คือต้องงดการจัดงานไปเลย แต่สถานการณ์ปัจจุบันยังคงควบคุมได้ ก็สามารถจัดงานได้ แต่ต้องเน้นขอความร่วมมือกันในการดูแลความปลอดภัยของประชาชน

  พลเอก ประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนได้มอบนโยบายไปและสั่งการเบื้องต้นไปแล้วว่า ต้องมีระบบตรวจคัดกรองและลงทะเบียนติดตามตัวผู้ร่วมงานอย่างเข้มงวด การจัดงานควรกำหนดพื้นที่การจัดงานเป็นโซนๆ ไป และไม่ควรให้เกิดการรวมตัวกันของประชาชนจำนวนมาก รวมทั้งขอความร่วมมือผู้จัดงานให้กำหนดพื้นที่และปริมาณคนโดยแบ่งเป็นกลุ่มย่อย เพื่อลดความแออัด

  ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีการสวดมนต์ข้ามปีว่า การจัดสวดมนต์ข้ามปีในวัดต่างๆ สามารถทำได้ เนื่องจากเป็นการรวมตัวกันของคนกลุ่มน้อย 500-1,000 คน สามารถเว้นระยะห่างและใส่หน้ากากป้องกันได้ ไม่เหมือนกับกรณีการจัดคอนเสิร์ตที่เขาใหญ่ ที่เป็นการรวมตัวของคนกว่า 50,000 คน รวมถึงเป็นการส่งเสียง ร้องตะโกน เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด สำหรับรายละเอียดมาตรการการป้องกันต้องรอ ศบค.หารือกันอีกครั้งหนึ่ง

  ล่าสุดวันนี้ (17 ธันวาคม) ในที่ประชุม ศบค. นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอมาตรการในเทศกาลช่วงปีใหม่ 2564 ในหลายรูปแบบ เช่น การจำกัดจำนวนผู้ชม ผู้ร่วมกิจกรรมร้อยละ 50 ของพื้นที่ เพื่อป้องกันการแออัด โดยยืนยันว่า ภาครัฐยังสนับสนุนให้มีการจัดเทศกาลรื่นเริงในช่วงเทศกาลปีใหม่ แต่ผู้จัดงานและผู้ร่วมงานต้องปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ยังเสนอให้กำหนดพื้นที่ต่อจำนวนผู้ชมให้ไม่น้อยกว่า 1 ตารางเมตร/คน จัดเก้าอี้นั่งให้ห่างกัน จัดแบ่งพื้นที่สำหรับผู้เข้าร่วมชมการแสดงเป็นกลุ่มย่อย โดยมีแผงเหล็กกั้นเป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมจัดกลุ่มผู้ที่มาด้วยกันให้อยู่ด้วยกัน และเว้นระยะห่างจากคนกลุ่มอื่น

  ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในส่วนมาตรการที่ทาง ศบค. ได้รายงานนั้นเป็นแนวทางภาคปฏิบัติที่มีการกำหนดไว้อยู่เดิมแล้ว โดยยืนยันว่าสามารถจัดงานได้แต่ผู้จัดงานจะต้องเสนอมาตรการในการควบคุมและป้องกันโรค ให้แก่ผู้มีอำนาจพิจารณาเพื่ออนุมัติการจัดงาน เช่น นายอำเภอ หรือผู้ว่าราชการจังหวัด 

  นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการจำกัดจำนวนคนร้อยละ 50 ของพื้นที่เป็นแนวทางเพื่อลดความแออัด อย่างไรก็ตามแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน มาตรการที่ใช้จะมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมตามพื้นที่ได้ แต่จะมีอยู่ 5 ข้อกำหนดหลัก คือ 1.ป้องกันการแออัด 2.ผู้เข้าร่วมงานทุกคนจะต้องสวมหน้ากากอนามัย 3.ผู้จัดงานเตรียมจุดบริการล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ 4.มีการลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่นไทยชนะ และ 5.ต้องมีการเสนอมาตรการป้องกันให้กับหน่วยงานของมหาดไทย และจะต้องมีผู้กำกับดูแลตามแนวทางที่ได้เสนอไป

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

3 ท้องถิ่นสุดเจ๋ง ผุดไอเดียกระทงรักษ์โลก

3 ท้องถิ่นสุดเจ๋ง ผุดไอเดียกระทงรักษ์โลก

กทม. – สุโขทัย – พิจิตร ผุดไอเดียกระทงดิจิทัลคลองโอ่งอ่…

schedule
มท. ไฟเขียว! ให้อบต. กู้เงินทำกิจการสาธารณะได้

มท. ไฟเขียว! ให้อบต. กู้เงินทำกิจการสาธารณะได้

มท.1 ลงนามระเบียบ มท. ว่าด้วยทุนส่งเสริมกิจการ อบต. ให้…

schedule
“ปากเกร็ด” หนุน Soft Power จัดงานลอยกระทงสุดยิ่งใหญ่ ปี 66

“ปากเกร็ด” หนุน Soft Power จัดงานลอยกระทงสุดยิ่งใหญ่ ปี 66

ปากเกร็ด จัดแถลงข่าวประเพณีลอยกระทง ประจำปี 2566 ชวนแต่…

schedule
ประชุมใหญ่เทศบาลทั่วประเทศ ชี้ปัญหาท้องถิ่น รอรัฐบาลใหม่

ประชุมใหญ่เทศบาลทั่วประเทศ ชี้ปัญหาท้องถิ่น รอรัฐบาลใหม่

สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทยจัดการประชุมและสัมมนาทา…

schedule

นิตยสารผู้นำท้องถิ่นออนไลน์ รวมข่าวสารอัพเดทของคนท้องถิ่น

ติดต่อเรา

อีเมล : [email protected]