กรณี นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง มีหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 “ห้ามข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภทในจังหวัดระยอง ประกันตัวผู้ต้องหาคดีการพนันทุกกรณี” หนังสือดังกล่าวส่งถึง หัวหน้าส่วนราชการ ทุกส่วนราชการ หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ทุกแห่ง นายอำเภอ ทุกอำเภอ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง นายกเทศมนตรีนครระยอง นายกเทศมนตรีเมืองมาบตาพุด นายกเทศมนตรีเมืองบ้านฉาง โดยระบุเหตุผลว่า สาเหตุสำคัญของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดระยอง เกิดจากการติดต่อสัมผัสกันของผู้ที่ลักลอบเล่นการพนันประเภทต่างๆ ซึ่งยังคงมีการลักลอบเล่นพนันในพื้นที่อยู่อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อให้การปราบปรามจับกุมผู้ลักลอบเล่นพนันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงห้ามข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐทุกประเภท ให้ความช่วยเหลือและประกันตัวผู้ต้องหาคดีการพนันโดยเด็ดขาด หากฝ่าฝืนจะเนินการทางวินัยขั้นสูงสุดนั้น
นายบรรณ แก้วฉ่ำ นักวิชาการด้านกฎหมายการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แสดงความเห็นต่อหนังสือคำสั่งดังกล่าว ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า
”1. การกระทำโดยการออกหนังสือฉบับนี้เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้”
ประกอบวรรคท้ายที่บัญญัติว่า “คำขอประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาต้องได้รับการพิจารณาและจะเรียกหลักประกันจนเกินควรแก่กรณีมิได้ การไม่ให้ประกันต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ”
ตามหนังสือนี้ แม้จะเป็นผู้ต้องหาในข้อหาเล่นการพนัน มีกฎหมายรัฐธรรมนูญชัดว่าอย่าไปทำกับเขาเหมือนเขาผิด… แต่แม้จะไม่มีข้อสันนิษฐานตามกฎหมายรัฐธรรมนูญว่าให้ถือว่าบริสุทธิ์ โดยความจริง ก็อาจจะบริสุทธิจริงๆก็ได้ …หนังสือนี้ เป็นการปฏิบัติกับเขาเสมือนว่าเป็นผู้กระทำความผิดแล้ว ตัดโอกาสที่เขาจะหาหลักประกัน โดยเฉพาะการประกันด้วยตำแหน่ง ตามแนวนโยบายของศาลจะพิจารณาให้ในกรณีที่เป็นญาติ หรือมีความเกี่ยวข้องกับผู้ต้องหา เช่น ใช้ตำแหน่งลูกประกันพ่อ
กรณีนี้ ถ้าพ่อแม่ของข้าราชการที่ได้รับหนังสือนี้ ถูกใส่ความว่าเล่นการพนัน แล้วข้าราชการไปประกันพ่อแม่ตนเอง จะต้องถูกสอบสวนลงโทษวินัยขั้นสูงสุด เลยหรือครับ
2. ข้อวินัยของข้าราชการ จะต้องทำเป็นประกาศทั่วไป ไม่ใช่ จะมากำหนดด้วยวิธีทำหนังสือแบบนี้ แม้แต่การลงโทษขั้นใด ก็เป็นเรื่องผลพิจารณาของกระบวนการสอบสวน ไม่ใช่เรื่องที่จะกำหนดไว้ล่วงหน้าว่าจะต้องลงโทษวินัยขั้นสูงสุด หรือจะลงขั้นนั้นขั้นนี้
3. ข้าราชการของ อบจ.เทศบาล ไม่ได้เป็นข้าราชการในสังกัดของจังหวัด แม้ตัวผู้ว่าไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาของข้าราชการท้องถิ่น ..การทำหนังสือแบบนี้ เป็นการแสดงตนในบทบาทของผู้บังคับบัญชาของข้าราชการท้องถิ่น ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ผิดหลง…แม้ในเรื่องการที่จะสอบสวนวินัย ก็ไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจผู้ว่า ในการที่จะสอบสวนวินัยข้าราชการท้องถิ่น.. หรือสั่งห้ามข้าราชการท้องถิ่น กระทำการหรือไม่กระทำการในเรื่องใดๆ
ถ้าผู้ว่า ประสงค์จะมาบังคับบัญชาข้าราชการท้องถิ่น ถ้าเป็น อบจ.ไม่ทันแล้ว แต่เป็นเทศบาลยังทันครับ ให้ท่านลาออกจากตำแหน่งผู้ว่า มาลงสมัครเป็นนายกเทศมนตรี ท่านต้องได้เป็นนายกเทศมนตรีก่อนครับ จึงจะบังคับวินัย สั่งโน่นนี่ ข้าราชการท้องถิ่นได้”
โดยโพสต์ดังกล่าว ได้มีคนเข้ามาแสดงว่าคิดเห็นจำนวนมาก ทั้ง เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับหนังสือคำสั่งฉบับดังกล่าว