เทศบาลนครสงขลา ปลูกพืชชนิดไม้กินผล 50 ต้น นำร่องสร้างสมดุลธรรมชาติบนเขา ภายใต้กิจกรรมปรับปรุงระบบนิเวศน์เพื่อสร้างแหล่งน้ำและอาหารสำหรับลิงบริเวณเขาน้อย ปรับพฤติกรรมหาอาหารของลิง บรรเทาความเดือดร้อนลิงรื้อค้นอาหารตามบ้านเรือนประชาชน
เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 เทศบาลนครสงขลา จัดกิจกรรมโครงการปรับปรุงระบบนิเวศน์เพื่อสร้างแหล่งน้ำและอาหารสำหรับลิง ณ บริเวณเขาน้อย อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา โดยมี นายวันชัย ปริญญาศิริ นายกเทศมนตรีนครสงขลา เป็นประธานเปิดกิจกรรม พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ สมาชิกสภาเทศบาล สมาชิกอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) พนักงานเทศบาล และเจ้าหน้าที่ร่วมกิจกรรมฯ ด้วยการปลูกพืชชนิดไม้กินผลเพื่อเป็นอาหารลิง จำนวน 50 ต้น ซึ่งเป็นการนำร่องเพื่อสร้างสมดุลให้กับธรรมชาติบนเขา ฟื้นฟูพื้นที่ถิ่นอาศัยให้มีความเหมาะสมเพื่อให้ลิงสามารถดำเนินชีวิตตามพฤติกรรมธรรมชาติได้ และจะช่วยบรรเทาปัญหาลดความเดือดร้อน เรื่องลิงลงมารื้อค้นอาหารตามบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ใกล้เคียง รวมถึงสร้างความเดือดร้อนให้กับแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ได้
นายวันชัย ปริญญาศิริ นายกเทศมนตรีนครสงขลา กล่าวว่า กิจกรรมในวันนี้ เป็น 1 ในแนวทางที่เทศบาลนครสงขลาจัดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาลิงลงมาสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว ด้วยการนำร่องปลูกพืชชนิดไม้กินผล เพื่อสร้างสมดุลให้กับธรรมชาติบนเขา ฟื้นฟูพื้นที่ถิ่นอาศัยให้มีความเหมาะสม และหลังจากนี้จะดำเนินการปลูกไม้กินใบ และพืชสมุนไพรที่ลิงจำเป็นต้องใช้ต่อไป สำหรับแนวทางอื่น ๆ ที่เทศบาลนครสงขลาได้ดำเนินการไปแล้ว คือ การปรับปรุงระบบนิเวศน์บนเขาน้อยซึ่งเป็นที่อาศัยหลักของลิง ด้วยการสร้างสระน้ำให้ลิง ซึ่งมีทั้งระบบกรองและการถ่ายเทน้ำ และมีการให้เจ้าหน้าที่ดูแลอย่างต่อเนื่อง การกำหนดพื้นที่ให้อาหารและน้ำกับลิง เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการและการดูแลความสะอาด รวมถึงการบริหารจัดการระบบกำจัดขยะในพื้นที่ชุมชน ด้วยการกำหนดเวลาทิ้งขยะ ซึ่งดำเนินการภายใต้ขอบข่ายอำนาจหน้าที่ของเทศบาลฯ
และอีกมาตรการสำคัญ คือ การควบคุมจำนวนประชากรลิง ด้วยการทำหมันอย่างเป็นระบบและตามหลักวิชาการ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือกับหน่วยงานที่ดูแลและรับผิดชอบโดยตรง อย่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากลิงเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 จึงอยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ของเทศบาลฯ ที่จะดำเนินการเพียงหน่วยงานเดียว จำเป็นต้องมีการบูรณาการความร่วมมือในการควบคุมประชากรลิง รวมถึงการสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์ซ้อนทับกับลิงให้เข้าใจถึงพฤติกรรมของลิง สาเหตุของปัญหา แนวทางแก้ไข และการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อจะได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป