อภิสิทธิ์ เน้น “กระจายอำนาจทางรอดประเทศ” ระบุ>> ประชาธิปัตย์ คือ พรรคการเมืองที่ให้ความสำคัญกับกระจายอำนาจ อาจจะกล่าวได้ว่าการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่น มักเป็นแนวนโยบายที่ทุกพรรคการเมืองมักอ้างถึงเสมอในช่วงก่อนการเลือกตั้ง หากแต่ว่าในทางปฏิบัติแล้ว ในหลายๆ ปีที่ผ่านมา แนวทาง การกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่น มักไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติที่แท้จริง เป็นแค่นโยบายขายฝัน!!!
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่กำลังใกล้เลือกตั้ง ปี่กลองการเมืองสนามใหญ่เริ่มเข้มข้น นโยบายกระจายอำนาจเริ่มกลับมาเป็นที่พูดถึงกันอีกครั้ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดการเสวนา รับฟังความเห็น “รัฐบาลหน้า ท้องถิ่นไทย” โดยกล่าวว่า “…การกระจายอำนาจไม่ใช่เรื่องของเทคนิค แต่ต้องอิงเรื่องอุดมการณ์ หลักคิด ความเชื่อ หากใครพยายามผลักดันกระจายอำนาจ แต่ไม่มีสิ่งเหล่านี้ก็ไม่สามารถทำการกระจายอำนาจเดินหน้าได้เลย ยกตัวอย่าง 4 ปีที่ผ่านมามีการอ้างว่าจะมีการปฏิรูปประเทศทุกด้าน
บางช่วงพูดไปถึง 20 กว่าด้าน แต่ไม่มีความเชื่อในสิ่งเหล่านี้ สิ่งที่เขียนในยุทธศาสตร์จึงไม่สอดคล้องกับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น กระจายอำนาจมีความหมายมากกว่า องค์กร อบจ.. อบต.. หรือเทศบาล ถึงจะมีความตั้งใจดี มีการสนับสนุนให้มีชุมชนท่องเที่ยว นวัตวิถี หรือมีเมืองรอง หากชุมชนไม่มีอำนาจบริหารจัดการทรัพยากรของตนเองสุดท้ายก็ไม่สามารถใช้ศักยภาพนั้นได้เต็มที่ หวังแต่การจัดการจากส่วนกลางสิ่งเหล่านี้จะไม่มีวันเกิดขึ้น แต่จะเกิดความเหลื่อมล้ำสูง สุดท้ายจะนำไปสู่ความแตกแยก และขัดแย้งจนกลายเป็นเหยื่อสร้างความขัดแย้งทางการเมืองขึ้นได้…”
ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ชูนโยบายกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมาตั้งแต่ก่อตั้งพรรค ก่อนที่จะมีกฎหมายท้องถิ่นต่างๆ มากมาย แต่ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า การกระจายอำนาจกลับถดถอย โดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณที่เคยกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญร้อยละ 35 กลับถูกตัดทิ้งในที่สุด สมัยรัฐบาลตนพยายามผลักดันให้เดินหน้าให้ได้ แต่โชคไม่ดีเป็นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ เลยไม่สามารถขยับสัดส่วนงบประมาณท้องถิ่นเพิ่มได้มากนัก
ทั้งยังมีความพยายามวาดภาพว่านักการเมืองท้องถิ่นเป็นผู้ร้าย ทุจริตมาก ต้องยอมรับว่ามีบางส่วนจริง แต่ให้ร้ายท้องถิ่นมากเกินไป ทำให้ท้องถิ่นอ่อนแอ มีการพยายามหยิบมาเป็นข้ออ้างไม่กระจายอำนาจหรือทำให้อ่อนแอลง แต่ไม่ได้แก้ปัญหาที่ตรงจุด ช่วงต้นที่มีการรัฐประหารมีการใช้มาตรา 44 แก้ปัญหาการกระจายอำนาจเยอะมากภายใต้กระแสเกิดการทุจริต สุดท้ายก็รวบอำนาจมาไว้ส่วนกลาง ทำให้การบริหารในท้องถิ่นเสียหาย
ความพยายามแก้ปัญหาส่วนกลางอย่างเดียว ที่ไม่สามารถตอบโจทย์สังคมได้ ปรากฏการณ์หว่านเงินลงไปแสนล้าน แต่ปรากฏว่าโครงสร้างที่ขาดการกระจายอำนาจไม่ได้หมุนอยู่ในชุมชน แต่เงินถูกดูดกลับมาศูนย์กลางของผู้ที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ ถ้าท้องถิ่นไม่มีอำนาจมาจัดการตนเอง และยังไม่สามารถตอบโจทย์เศรษฐกิจชุมชนได้ สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่ความรู้สึกแปลกแยก ความเหลื่อมล้ำสูง อาจเกิดความขัดแย้งทางการเมืองขึ้นมา การกระจายอำนาจท้องถิ่นจะเป็นส่วนหนึ่ง ที่ทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็ง
เราต้องใช้หัวใจปลดล็อกเรื่องอำนาจก่อน และกฎหมายท้องถิ่นควรเขียนว่า ไม่ให้ทำอะไร แต่ที่เหลือต้องทำได้หมด เช่น การป้องกันประเทศ การจัดทำงบประมาณ และสร้างกระบวนการยุติธรรมของตัวเอง โดยงานด้านพัฒนาสามารถให้ท้องถิ่นทำได้ทุกด้าน โดยไม่ต้องรอนโยบายจากส่วนกลาง เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ และการแก้ปัญหา ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และปัญหาเศรษฐกิจของประชาชนมาก แต่ไม่มองว่าโครงสร้างมันขาดการกระจายอำนาจ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำสูงกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้ มาตรการความพยายามแก้ปัญหาส่วนกลางอย่างเดียวไม่สามารถตอบโจทย์เศรษฐกิจชุมชนพื้นที่ของแห่งได้ ปรากฏการณ์ที่มีการหว่านเงินลงไปเป็นแสนล้าน แต่ด้วยโครงสร้างที่ขาดการกระจายอำนาจทำให้ไม่หมุนเวียนในชุมชน และถูกดูดกลับเข้ามาสู่คนที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจในศูนย์กลางเหมือนเดิม
นโยบายการกระจายอำนาจของพรรคประชาธิปัตย์ น่าจะตอบโจทย์ในการรื้อระบบท้องถิ่นให้ยกระดับขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง มากกว่านโยบายของพรรคอื่นๆ ที่ได้ยินจากการประชันวิสัยทัศน์บนเวทีเสวนาต่างๆ ยืนยันว่า ตนและพรรคประชาธิปัตย์มีความพร้อม ทั้งในแง่ประเด็น และข้อกฎหมาย และยังมีเจตจำนงที่แน่วแน่ที่จะทำให้สำเร็จ ซึ่งแม้จะมีแรงต่อต้านจากพื้นที่ก็ตาม เพราะถือเป็นทางรอดของประเทศ…..
13 ธันวาคม 2561