นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมการค้าต่างประเทศ ได้ยกร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ขยะเทศบาลเป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้าและห้ามนำผ่านราชอาณาจักร พ.ศ. … ตามมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการอนุสัญญาบาเซล เพื่อห้ามการนำเข้าและห้ามนำผ่านขยะเทศบาล ซึ่งได้แก่ ของเสียที่รวบรวมจากบ้านเรือน โรงแรม ภัตตาคาร โรงพยาบาล ร้านค้า สำนักงาน บนถนน บนทางเท้า ของเสียจากการก่อสร้าง รื้อถอน ของชำรุดหรือของทิ้งอื่น เป็นต้น แต่ไม่รวมถึงเศษกระดาษ เศษเหล็กและวัตถุหรือของอย่างเดียวกันที่คัดแยกออกจากของเสียดังกล่าวแล้ว และร่างประกาศดังกล่าวจะมีการนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ประมาณเดือนเมษายน 2562
“การออกมาตรการดังกล่าว นอกจากจะเป็นการให้ความร่วมมือกับนานาประเทศในการควบคุมการเคลื่อนย้ายของเสียอันตราย หรือของเสียที่อาจไม่ได้รับการจัดการอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามพันธกรณีอนุสัญญาบาเซลแล้ว ยังเป็นการสกัดกั้นไม่ให้มีการนำเข้าของเสียของอันตรายมาเป็นขยะในประเทศ ไทย และก่อปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสุขภาพอนามัยของประชาชน” อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ระบุ
ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า เฉพาะขยะมูลฝอยชุมชนภายในประเทศ มีปริมาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี โดยในปี 2560 มีปริมาณ 27.4 ล้านตัน หรือ 75,046 ตันต่อวัน เพิ่มขึ้น 1.26% จากปี 2559 รัฐบาลจึงกำหนดให้การบริหารจัดการขยะภายในประเทศเป็นนโยบายเร่งด่วน ซึ่งกรมฯ ได้เร่งดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ในการออกประกาศกระทรวงพาณิชย์รองรับ และได้เปิดให้ผู้ที่มีส่วนได้เสียร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ฉบับดังกล่าว
ผ่านเว็บไซต์ www.dft.go.th
โดยสามารถแสดงความคิดเห็นได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 27 ธันวาคม 2561
ปัจจุบัน ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาบาเซล ว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด ตั้งแต่ปี 2540 ซึ่งส่วนหนึ่งของอนุสัญญาฯ กำหนดให้ประเทศภาคีสมาชิกต้องดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการนำเข้าของเสียอันตรายหรือของเสียอื่น รวมถึงขยะมูลฝอยที่เก็บรวบรวมจากชุมชนที่ปะปนกันโดยไม่มีการคัดแยก หากมีเหตุที่เชื่อได้ว่าของเสียนั้นจะไม่ได้รับการจัดการอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
19 ธันวาคม 2561