สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยเตือน การฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อลงบนตัวคน-สถานที่ไม่ช่วยลดความเสี่ยงติดเชื้อโควิด หวั่นสิ้นเปลืองและทำเชื้อฟุ้งกระจายกว่าเดิม
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้หลายหน่วยงานพยายามหาวิธีการเพื่อลดการแพร่ระบาดให้ได้มากที่สุด ทั้งการรณรงค์หยุดอยู่บ้านเพื่อหยุดเชื้อ สวมหน้ากากอนามัย การล้างมือ การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) การทำความสะอาดและฉีดพ่นฆ่าเชื้อในแหล่งชุมชน
ทว่าเนื่องจากเป็นโรคที่เกิดจากเชื้ออุบัติใหม่ องค์ความรู้ด้านการจัดการกับเชื้อ COVID-19 จึงมีอยู่อย่างจำกัด และมีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปตามสถานการณ์
ล่าสุด สมาคม โรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง การฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อลงบนตัวบุคคลหรือสถานที่ เพื่อทำลายเชื้อ SARS-CoV-2 เชื้อที่เป็นสาเหตุของ COVID-19 โดยเล็งเห็นว่าประชาชนยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ว่าการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อลงบนร่างกายของบุคคลเองก็ดี หรือการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อลงบนถนนหรือสถานที่สาธารณะต่างๆ ว่าจะช่วยทำลายเชื้อหรือลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ทางสมาคมจึงได้ทำหนังสือชี้แจงมาดังนี้
- การฉีดพ่นทําลายเชื้อบนร่างกายของบุคคล ไม่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยต่อการติดเชื้อ เนื่องจากหากบุคคลมีเชื้อไวรัสอยู่ เชื้อจะอยู่ที่ทางเดินหายใจ ซึ่งการพ่นยาฆ่าเชื้อในลักษณะดังกล่าว จะไม่สามารถทําลายเชื้อได้ นอกจากนี้ ยาฆ่าเชื้อยังอาจจะเป็น อันตรายต่อคนได้ จึงไม่ควรทําโดยเด็ดขาด การป้องกันการแพร่เชื้อที่ถูกต้อง คือการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล การใช้หน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง และการรักษาความสะอาดของมือ
- ไม่มีความจําเป็นที่จะต้องฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อหรืออบฆ่าเชื้อด้วยสารเคมีต่างๆ บนถนน สถานที่สาธารณะ หรืออาคาร บ้านเรือนใด ๆ ไม่ว่าในสถานที่นั้นจะมีผู้ป่วยโรคนี้หรือไม่ การปฏิบัติดังกล่าว เป็นการสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ เพราะไม่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแต่ประการใด นอกจากนี้ หากในบริเวณนั้นมีเสมหะหรือสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจของผู้ป่วยที่ยังไม่แห้ง การฉีดพ่นน้ำยา อาจทําให้เชื้อฟุ้งกระจายขึ้นมา เป็นอันตรายได้
หากจะทำความสะอาดในกรณีที่มีผู้พักอาศัยหรือผู้ใช้บริการป่วยเป็นโรคนี้ แนะนำให้เช็ดถูด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้