สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้เศรษฐกิจทรุดหนักทั้งประเทศ ทุกหน่วยงานของรัฐรวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต้องดึงงบประมาณจากรายได้ส่วนอื่นๆ มาใช้ในการสู้กับการแพร่ระบาดของ COVID-19 รวมถึงการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างกว้างขวาง
ท้องถิ่นต้องใช้งบจำนวนมหาศาลในการจัดการสถานการณ์ให้ดีขึ้น ทั้งการจัดซื้ออุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ น้ำยาฆ่าเชื้อ เครื่องพ่นฆ่าเชื้อ คุรุภัณฑ์ทางการแพทย์ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในด้านความเป็นอยู่ทั้งการมอบเงินเยียวยาและถุงยังชีพ
สวนทางกับรายได้ที่จัดเก็บได้น้อยลง ตามรายงานของกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า รายได้ที่รัฐจัดเก็บให้จากการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 1 ใน 9 ส่วนที่กรมสรรพากรจัดเก็บให้ และรายได้จากการจัดสรรภาษีสรรพสามิต ที่ส่งให้ท้องถิ่นในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 ลดลงกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยส่งให้ อปท. 1.23 แสนล้านบาท เปรียบเทียบกับปี 2562 เคยส่งให้ 1.34 แสนล้านบาท
รายได้อีกทางหนึ่งของ อปท.ที่ยังไม่สามารถจัดเก็บได้ คือ รายได้จาก พ.ร.บ.ภาษีจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ที่เปลี่ยนกฎหมายฉบับใหม่ แทนการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่และภาษีโรงเรือนและที่ดินที่ถูกยกเลิกไป ก่อนที่จะเกิดวิกฤติ COVID-19
กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้เริ่มบังคับใช้เป็นกฎหมาย เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2562 โดยกำหนดวันเริ่มการจัดเก็บภาษีคือ ตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป แต่เนื่องจากการออกกฎหมายฉบับรองทั้ง 11 ฉบับที่ล่าช้า รวมถึงการให้เวลาดำเนินการแก่เจ้าหน้าที่ อปท. ที่ต้องเปลี่ยนฐานข้อมูลใหม่ทั้งหมด รวมทั้งต้องทำความเข้าใจกับระบบการจัดการที่เปลี่ยนแปลงไป กระทรวงมหาดไทยจึงประกาศขยายเวลาจัดเก็บภาษีเป็นเดือนสิงหาคม จากที่ควรจะเก็บได้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2563
ทว่าในสถานการณ์เศรษฐกิจที่ทรุดลงเช่นนี้ การเก็บภาษีที่ดินฯ ในช่วงเวลาที่กำหนดไว้ อาจจะเป็นการซ้ำเติมความยากลำบากของประชาชน นโยบายการเลื่อน ลด หรืองดเก็บภาษี จะถูกรัฐบาลนำออกมาใช้หรือไม่ และจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อการจัดสรรงบประมาณในระยะยาวของท้องถิ่น จะต้องจับตาดูกันต่อไป