“STRONG Program” โครงการพัฒนาผู้สูงวัย เทศบาลเมืองบึงยี่โถ ชนะรางวัล “Grand Prize” จากโครงการ Healthy Aging Prize for ASEAN Innovation รัฐบาลญี่ปุ่น
เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 ที่สถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย นายนะชิดะ คะสุยะ เอกอัครราชทูตวิสามัญ ผู้มีอำนาจเต็มแห่งญี่ปุ่น ประจำราชอาณาจักรไทย เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล Healthy Aging Prize for ASEAN Innovation ประจำปี 2564 ซึ่งเทศบาลเมืองบึงยี่โถ จ.ปทุมธานี ได้รับรางวัล Grand Prize ในสาขา Community-based initiatives หรือ สาขาความริเริ่มจากชุมชน ในหัวข้อ “STRONG Program”
โดยมี นายรังสรรค์ นันทกาวงศ์ นายกเทศมนตรีเมืองบึงยี่โถ เป็นผู้แทนรับมอบ พร้อมด้วย นายมานพ เกิดแดง ปลัดเทศบาลเมืองบึงยี่โถ นางขวัญใจ แจ่มทิม ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม นางสาวฐิตินันท์ นาคผู้ แพทย์ประจำศูนย์สันทนาการและฟื้นฟูผู้สูงอายุบึงยี่โถ นางสาววิภาวี วิจิตรสาร นักจิตวิทยาคลินิกประจำศูนย์สันทนาการและฟื้นฟูผู้สูงอายุบึงยี่โถ และนายวรา สวนรัตน์ หัวหน้าฝ่ายบริหารงานทั่วไป เข้าร่วมในพิธีรับรางวัลด้วย
รางวัล Healthy Aging Prize for ASEAN Innovation (HAPI) ริเริ่มมาจาก สถาบันวิจัยเศรษฐกิจสำหรับอาเซียนและเอเชียตะวันออก (ERIA) และศูนย์การแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศแห่งประเทศญี่ปุ่น (JCIE) ซึ่งดำเนินการภายใต้การอุปถัมภ์ของรัฐบาลญี่ปุ่นเรื่องสุขภาพและความอยู่ดีมีสุขแห่งเอเชีย (AHWIN) มีวัตถุประสงค์เพื่อยกย่องความสำเร็จในการดำเนินงานพัฒนาการดูแลผู้สูงอายุ และการมีอายุยืนอย่างมีสุขภาพดี โดยในปีนี้พิจารณาจากการดำเนินการณ์ภายใต้สถานการณ์ความท้าทายของการระบาดของโควิด-19
สำหรับรางวัล Grand Prize เป็นรางวัลใหญ่ที่สุด คัดเลือกจากนับร้อยโครงการจากหลายประเทศในอาเซียน หลังการคัดเลือกอย่างเข้มข้นโดยคณะกรรมการระดับนานาชาติ มี 4 องค์กรได้รับรางวัลดังกล่าว โดยแบ่งเป็น 3 สาขา ได้แก่ เทคโนโลยีและนวัตกรรม , สาขาความคิดริเริ่มจากชุมชน และสาขาการสนับสนุนการพึ่งพาตนเอง ซึ่งเทศบาลเมืองบึงยี่โถ และกรุงเทพมหานคร เป็น 2 องค์กรที่ได้รับรางวัล Grand Prize ในสาขาความคิดริเริ่มจากชุมชน
“STRONG Program” เป็นความร่วมมือกันระหว่าง เทศบาลเมืองบึงยี่โถ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเทศบาลเมืองยูกาวะระ ประเทศญี่ปุ่น ใช้แนวทางการดูแลสุขภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้สูงวัยในระดับพื้นฐานชุมชน สำรวจความต้องการของผู้สูงอายุในพื้นที่ เพื่อออกแบบกิจกรรม และโครงการที่ตอบโจทย์ความต้องการโดยตรง เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยอาศัยการเรียนรู้แบบจำลองในการดูแลผู้สูงอายุ ของเทศบาลเมืองยูกาวะระ และการร่วมมือด้านองค์ความรู้กับคณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อสร้างวงจรการให้บริการแบบบูรณาการ ยกระดับความเป็นอยู่ของผู้สูงวัยในชุมชน