รายงานของ Ocean Conservancy องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรแห่งหนึ่งระบุว่า ในปี 2559 ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 5 ของประเทศที่ทิ้งขยะลงมหาสมุทรมากที่สุดในโลก และข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้รายงานว่า มีขยะอย่างน้อย 5 หมื่นตันต่อปีถูกทิ้งลงทะเล แหล่งที่มาของขยะทะเล คือ ขยะจากกิจกรรมบนฝั่ง เช่น จากชุมชน จากแหล่งท่องเที่ยวชายหาด จากท่าเรือ และจากแหล่งทิ้งขยะบนฝั่ง รวมทั้ง ขยะจากกิจกรรมในทะเล เช่น การประมง การท่องเที่ยวทางทะเล การขนส่งทางทะเล ส่วนหนึ่งจะลอยเข้าฝั่งกลายเป็นขยะปะปนในหาดทราย และอีกส่วนจะจมลงใต้ทะเล
รัฐบาลใช้งบกว่า 1.3 หมื่นล้านต่อปีในการกำจัดขยะทั่วประเทศ และผลักดันวิกฤติขยะให้เป็นวาระแห่งชาติ พร้อมใช้แนวคิด 3R คือ Reduce Reuse และ Recycle โดยจัดทำ Roadmap จัดการขยะมูลฝอยของประเทศ พ.ศ. 2559 – 2564 เพื่อเป็นกรอบและทิศทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะ วางโครงสร้างให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนร่วมกันจัดการปัญหา มาตรการดังกล่าวต้องใช้ระยะเวลาในการจัดการ ระหว่างรอ…การกำจัดขยะจำนวนมหาศาลที่ครัวเรือนผลิตออกมา จึงเป็นปัญหาของหน่วยงานท้องถิ่นผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง
ล่าสุด เทศบาลนครระยอง ถูกกล่าวถึงกันอย่างแพร่หลายในสื่อโซเชียลมีเดีย หลังจากเฟสบุ๊ก Auttachai Pluemwutthiwat ได้เผยแพร่ ภาพขยะจำนวนมากในถุงตาข่าย ที่ฝ่ายช่างสุขาภิบาล เทศบาลนครระยอง นำมาทดสอบติดตั้งบริเวณปลายท่อระบายน้ำ เพื่อดักจับขยะ ก่อนที่จะไหลลงสู่แม่น้ำสายหลัก และลงทะเลในที่สุด
นายวรวิทย์ นายกเทศมนตรีเมืองระยอง เป็นผู้นำแนวคิดดังกล่าวมาจากข่าวในโซเชียลมีเดียของเทศบาลในรัฐเวสต์เทิร์นออสเตรเลีย ที่มีการติดตั้งถุงตาข่ายดักขยะที่ปากท่อระบายน้ำตามถนนในชุมชน โดยในระยะเวลา 4 เดือน เทศบาลของออสเตรเลียสามารถดักจับขยะที่มาจากในครัวเรือนได้จำนวนมาก ก่อนจะไหลลงทะเล
(ภาพการดักจับขยะของประเทศออสเตรเลีย)
จากแนวคิดดังกล่าว ฝ่ายกองช่างเทศบาลนครระยองได้ออกแบบ โดยซื้ออวนดักปลาทะเลขนาดใหญ่มาเย็บปลาย แล้วติดส่วนหัวหุ้มไว้บริเวณปากท่อระบายน้ำ ขยะที่ไหลมากับน้ำจะติดอยู่บริเวณตาข่าย เมื่อขยะเต็มก็เปิดปลายอวนเพื่อเอาขยะออกได้อย่างง่ายดาย ในหนึ่งวันสามารถดักจับขยะได้ 2-3 ตัน มีทั้ง ใบไม้ กิ่งไม้ ถุงพลาสติก ขวดน้ำ กล่องนม และขยะมูลฝอยอื่นๆ ซึ่งใช้งบประมาณการติดตั้งตาข่ายจุดละไม่เกิน 3,000 บาท
น่าชื่นชมที่ “คนท้องถิ่น” ช่วยกันพัฒนาหาแนวคิดใหม่ๆ ในการจัดการปัญหาขยะ นอกเหนือนโยบายหลักของรัฐบาล เพื่อร่วมกันแก้วิกฤติขยะแบบเฉพาะหน้า หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มองเห็นความสำเร็จตรงนี้ และช่วยกันผลักกันให้วิธีดังกล่าว เป็นหนึ่งใน “โมเดล” การแก้ปัญหาขยะล้นทะเล รวมถึงส่งเสริมและพัฒนาต่อยอดวิธีการนี้ ให้แพร่หลายในทุกพื้นที่ ร่วมกับการสร้างจิตสำนึกที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม ไม่นานประเทศไทยอาจจะถูกลดระดับจากหนึ่งใน 5 ของประเทศที่ทิ้งขยะลงมหาสมุทรมากที่สุดในโลกก็เป็นได้