รายงานข่าวจาก ผู้สื่อข่าวจังหวัดสุรินทร์ ได้นำเสนอ เรื่องราวการร้องเรียน นายไพรัช แก้วคำ อายุ 63 ปี อยู่บ้านเลขที่ 10 ม.1 บ้านหนองแวง ต.หนองแวง อ.ศรีณรงค์ จ.สุรินทร์ ซึ่งเป็นตัวแทนชาวบ้านในตำบลหนองแวง ให้ช่วยติดตามนำเสนอข่าว กรณี อบต.หนองแวง อ.ศรีณรงค์ จ.สุรินทร์ ได้รับการจัดสรรงบประมาณการก่อสร้างอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 3.2 ล้านบาท และมีการจัดซื้อจัดจ้างไปแล้ว โดย ส.เจริญทรัพย์การโยธา 1998 ซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท จังหวัดศรีสะเกษ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่บ้านโนนน้อย เลขที่ 56 ม. 8 ต.โคกหล่าม อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ เป็นผู้ได้งานในราคาเสนอ 2.2 ล้านบาท และมีการทำสัญญาก่อสร้างกับทาง อบต.หนองแวง ไปแล้วเมื่อวันที่ 27 มี.ค. 61 และสิ้นสุดสัญญาวัน 27 มี.ค.62 ซึ่งชาวบ้านตำบลหนองแวงต่างก็รอความหวังที่จะได้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหลังใหม่ เพื่อจะได้ย้ายเด็กๆทั้ง 2 ศูนย์เด็ก เข้ามาอยู่รวมกันซึ่งจะสะดวกในการรับส่งเด็กด้วย แต่จนถึงขณะนี้ชาวบ้านยังไม่เห็นแม้แต่เสาสักต้น และชาวบ้านกลัวจะเสียโอกาสที่จะได้ศูนย์เด็กเพราะใกล้จะสิ้นสุดสัญญาจ้างแล้ว
นายไพรัช แก้วคำ อายุ 63 ปี อยู่บ้านเลขที่ 10 ม.1 บ้านหนองแวง ต.หนองแวง อ.ศรีณรงค์ จ.สุรินทร์ ตัวแทนชาวบ้าน บอกว่าต้องการมาทวงถามว่างบประมาณการก่อสร้างอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.หนองแวงไปไหน ส่งกลับคืนหรือยัง ถ้ายังทำไมไม่ก่อสร้าง ที่ไม่สร้างเพราะติดอะไร ขอให้ทาง อบต.หนองแวง ตอบชาวบ้านด้วย เพราะมีการอนุมัติโครงการ จัดซื้อจัดจ้างและทำสัญญาไปแล้วเป็นปี ชาวบ้านก็ดีใจที่จะได้ศูนย์เด็กเล็กใหม่ หลังทราบว่าจะมีการก่อสร้างชาวบ้านก็ได้พากันมาช่วยเก็บกวาดกิ่งไม้ ที่มีการถอนออกให้พื้นที่วาง เพราะเมื่อก่อนตรงนี้เป็นป่าช้าเก่า ตอนนี้เรื่องก็เงียบหายไป เวลามีการประชุมหมู่บ้านมีการประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านทุกเดือน ชาวบ้านก็อยากจะถาม แต่นายกก็ไม่เข้าประชุมกับชาวบ้าน อบต.เข้ามาประชุมก็ไม่รู้เหตุผล ผู้ใหญ่บ้านก็ไม่รู้ไม่เห็นเพราะเป็นหน้าที่ของทาง อบต. จึงไม่มีใครให้คำตอบกับชาวบ้านได้ อย่างน้อยๆเข้าประชุมบอกกับชาวบ้านหน่อยว่างบฯ ที่ได้มาแล้วยังเหลืออยู่ ติดขัดตรงไหนก็ชี้แจ้งให้ชาวบ้านได้รับทราบ แต่นี่กลับเงียบ ชาวบ้านเลยให้ตนมาเป็นตัวแทนในการสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าเป็นอย่างไร เพื่อให้ได้มาซึ่งความถูกต้องโปร่งใส
“เราไม่ได้มาเพื่อแก้แค้นใครหรือทำร้ายใคร แต่งบฯตัวนี้เป็นของราชการ ถ้าทำถูกต้องเรายินดี แต่ถ้าไม่ถูกต้องตัวไหนจะแก้ไขก็ว่ามาให้มันถูกต้องตามนโยบายของหลวง ตนเป็นประชาชนไม่ค่อยจะรู้กฎหมายเท่าไหร่ เพราะการศึกษาน้อย แต่ถ้ามีโครงการศูนย์เด็กเล็กเข้ามาเราก็ดีใจ ไม่ใช่ดีใจแต่ตนเท่านั้นชาวบ้านดีใจกันทั้งตำบล 11 หมู่บ้าน จะสร้างก็รีบสร้างติดขัดตรงไหนก็ดำเนินการให้มันถูกต้อง มันจะเสียโอกาส และเด็กๆก็รออยู่ ถึงแม้ศูนย์เก่าจะดีอยู่แต่มันแออัด ถ้าเราเอาเด็กจากศูนย์ที่อยู่ใน อบต.มารวม และเราก็อยากให้เด็กมาอยู่รวมกันที่นี่ ก็อยากให้สร้างไวๆตามที่นโยบายที่ว่าจะสรรหาสิ่งถูกต้องมาให้หมู่บ้าน จะสรรหาสิ่งดีๆมาให้หมู่บ้าน”นายไพรัช กล่าว
ต่อมา นายวัชเรนทร์ เหมือนหมาย ปลัด อบต.หนองแวง ได้ออกมาชี้แจงว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาระหว่างผู้รับเหมากับทาง อบต.หนองแวง ที่เป็นคู่สัญญากัน ซึ่งมีข้อที่ไม่เห็นตรงกัน กำหนดเงื่อนไขในเรื่องของการปรับลดงานตั้งแต่ตอนแรก ซึ่งทาง อบต.ได้ทำหนังสือเพื่อขออนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์เพื่อขอเปลี่ยนแปลง แต่ทีนี้ทางผู้รับจ้างก็ไม่ยินยอม โดยผู้รับจ้างให้เอาราคา ซึ่งเป็นราคาที่เขาเสนอมาเอง การเปลี่ยนแปลงคือในเรื่องของการตอกเสาเข็ม ซึ่งตอนที่เราข้ออนุมัติทำโครงการเสนอขึ้นไปที่กรม คือศูนย์พัฒนาเด็กเล็กชนิดแบบตอกเสาเข็ม แต่ทีนี้ก่อนลงงานผู้รับจ้างก็ได้ใช้วิศวกรมาเทสทดสอบดิน ว่าดินสามารถที่จะลงเสาหรือตอกเสาเข็มได้ไหม แต่ว่าคำรับรองบอกว่ามันตอกตามแบบนั้นไม่ได้ ซึ่งเมื่อตอกไม่ได้เราก็เลยต้องทำหนังขออนุมัติเปลี่ยนแปลงแบบกับผู้ว่าฯ
สำหรับส่วนของการเปลี่ยนแปลงแบบนั้น คือเราทำแบบไปแล้วเราก็ต้องขอความเห็นชอบจากคู่สัญญาเมื่อเราเปลี่ยนแปลงแบบ เพราะมันต้องมีการปรับลดราคาค่างานลง ทีนี้ก็เลยมีความเห็นที่ไม่ตรงกัน ซึ่งทางผู้รับจ้างเขาก็บอกว่าต้องเป็นราคาที่เขาเสนอมา ไม่ใช่ราคากลาง เราก็ได้ปรึกษาทั้งในส่วนของจังหวัด เคยโทรปรึกษาอาจารย์อยู่ ปปช.ที่เคยบรรยาย ก็บอกว่าจะไปลดตามผู้รับจ้างไม่ได้ ส่วนงบฯที่ได้มาเป็นงบฯอุดหนุนเฉพาะกิจ รับจัดสรรมา 3 ล้านกว่าบาท แต่ว่ามีการเสนอราคาต่อสู้กันมาได้คนทำงานประมาณ 2.2 ล้านบาทประมาณนี้ ส่วนการตัดงบฯในส่วนเสาเข็มออกตรงนี้จำไม่ได้ว่าเท่าไหร่ แต่ที่มีความต่างกันก็คือว่า ราคาที่เราคำนวนเสาเข็มที่ลดลง เราก็ยึดตามราคากลาง ซึ่งก็เป็นแบบเดียวกันกับ อบต.อื่นๆที่ลดกัน คือ อบต.ที่อื่นเราเอามาดูตัวอย่างหมด ไม่ว่าจะเป็น อบต.น้ำเขียว อ.รัตนบุรี ก็เอาเปรียบเทียบเอามาดูหมด
ซึ่งทางผู้รับจ้างซึ่งเขาอยู่จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งก็ไม่เคยรู้จักเขาก็ไม่ยินยอม เขาก็อ้างว่าจะต้องเอาราคาที่เขาเป็นคนเสนอมาต้องตัดตามราคาเขา ซึ่งราคาเงินก็จะต่างกัน ซึ่งตนจำไม่ได้ว่าเท่าไหร่ ก็คือต่ำกว่าราคากลาง ส่วนการแก้ปัญหาเราก็ได้ทำหนังสือแจ้งไปเพื่อที่จะยังยืนยันให้เขาลงงาน แล้วก็เอาตามแบบเดิม คือแบบตอกเสาเข็มถ้าตอกได้เท่าไหร่เราก็เอาเท่านั้น ถึงจะบอกว่าโดยหลักแล้ว 20 เมตรไม่ได้ ได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น เหมือนแบบที่ทำการ อบต.หนองแวง ซึ่งระยะห่างจากนี่ไปประมาณ 100 เมตร ก็เคยตอกเสาเข็มเหมือนกัน ตอกอยู่ที่ประมาณ 5-6 เมตร ก็ต้องตามนั้นไป เมื่อตอกได้เท่าไหนก็ตัดรายการตามที่ทำไม่ได้หรือตอกไม่ได้ตามแบบ
อย่างไรก็ตามตอนนี้ก็เร่งรัดกันเพื่อที่จะให้ดำเนินการให้ทันในช่วงของกำหนดระยะเวลาสัญญา กรณีถ้าครบสัญญาก็จะต้องเสียค่าปรับ สมมุติว่าไม่ได้ทำหรือไม่ได้ดำเนินการ ถ้าสมมุติว่ายังไม่ได้แจ้งทิ้งงานหรือยังไม่ได้ยกเลิกสัญญากัน ก็อยากฝากถึงประชาวบ้านว่า ทาง อบต.พยายามเร่งรัดในเรื่องเหล่านี้มาโดยตลอด แต่ว่าในส่วนของผู้รับจ้างเท่าที่สัมผัสมา เป็นผู้รับจ้างจากต่างถิ่นจากจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งก็พูดตรงๆเขาก็ค่อนข้างจะหัวหมอตั้งแต่ต้นเลย เขาก็บอกเขาไม่ยอมเขาจะใช้สิทธิ์ทางศาลอย่างเดียว แต่ก็ไม่เห็นใช้สิทธิ์ทางศาลสักที แต่กลับไปใช้วิธีการไปที่ศูนย์ดำรงธรรมอะไรแทน ไปหาพบคนในท้องถิ่นจังหวัดสุรินทร์แทน ตนก็บอกว่าถ้าคิดว่ามันถูกต้องก็ใช้สิทธิ์ไปเลย ร้องกันให้มันรู้กันไป อย่ามายื้อกันทำให้ประชาชนเดือดร้อน ทั้งนี้ทาง อบต.ก็ได้ส่งหนังสือเตือนลงงานไปแล้ว 2 ครั้ง กับทางผู้รับจ้าง