เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 ผู้ใช้เฟซบุ๊ก ราชวุฒิ วุฒิยาสาร ได้โพสต์คลิปภาพจากกล้องติดหมวกกันน็อก เป็นภาพบนถนนแห่งหนึ่งในจังหวัดบุรีรัมย์ ที่ชาวนานำข้าวเปลือกมาตากบนถนน กินพื้นที่กว่าครึ่งถนน เป็นระยะทางยาวหลายกิโลเมตร พร้อมข้อความ #ช่วงนี้พี่น้องเกษตรกรตากผลผลิต #ใช้รถระมัดระวัง #พี่น้องทำสัญญาณให้รถเห็นชัดเจนทั้งกลางวันและกลางคืนด้วยนะครับ ต่อมาคลิปถูกแชร์โดยเพจ Drama-addict ทำให้โซเชียลมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ และเรียกร้องให้หลายฝ่ายร่วมกันหาทางออก โดยเฉพาะหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับชาวนา ทั้งผู้นำชุมชน และหน่วยงานท้องถิ่น
ภายหลังจากเกิดอุบัติเหตุรถหลบกองข้าวที่ตากไว้บนถนน เป็นเหตุให้รถชนกัน 3 คัน และมีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บสาหัสอีก 1 ราย บนถนนสายบ้านพลจลก – สระวารี ตำบลมะค่า อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา วางมาตรการมิให้มีการตากข้าวบนถนน โดยให้ผู้นำชุมชนเลือกสถานที่ เช่น โรงเรียน ลานวัด หรือลานอเนกประสงค์ของชุมชน ใช้เป็นสถานที่ตากแทน ซึ่งหากชาวนายังฝ่าฝืน หากเกิดอุบัติเหตุขึ้น จะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น
ด้านนายเอกพงศ์ สุรพันธ์พิชิต หัวหน้างานบริการวิชาการด้านกฎหมาย สำนักกฎหมาย กรมทางหลวงชนบท ได้เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่า ผู้นำข้าวเปลือกมาวางกองเพื่อตากแดดบนทางจราจรโดยไม่ได้รับอนุญาต ยังมีความผิดทางอาญาด้วย โดยเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกพ.ศ.2522 มาตรา 114 วรรคหนึ่งมีโทษตามมาตรา 148 ระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท
พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2545 มาตรา 19 มีโทษตามมาตรา 57 ระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และ พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ. 2535 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง มีโทษตามมาตรา 72 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ในกรณีที่การกระทำครั้งเดียวกันนั้นเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 กำหนดหลักการไว้ให้ลงโทษตามกฎหมายที่มีอัตราโทษสูงสุดจึงต้องลงโทษตาม พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535
โดยมาตรา 38 วรรคหนึ่งแห่ง พ.ร.บ.ทางหลวงพ.ศ. 2535 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดติดตั้ง แขวนวาง หรือ กองสิ่งใดในเขตทางหลวงในลักษณะ ที่เป็นการกีดขวางหรืออาจเป็นอันตรายแก่ยานพาหนะ หรือในลักษณะที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางหลวงหรือความไม่สะดวกแก่งานทาง
เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้อำนวยการทางหลวงหรือ ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวงในการอนุญาต ผู้อำนวยการทางหลวง หรือ ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการทางหลวงจะกำหนดเงื่อนไขอย่างใดก็ได้”
ทว่าอีกหลายพื้นที่ ในหลายจังหวัด ยังพบว่ามีชาวนานำข้าวมาตากบนถนนอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้มีเสียงเรียกร้องให้ภาครัฐและท้องถิ่น ร่วมกันหามาตรการบังคับใช้อย่างจริงจัง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียขึ้นอีก ขณะเดียวกันก็ต้องหาทางออกให้กับชาวนาด้วย เพราะเข้าใจความจำเป็นในการประกอบอาชีพ
ด้านนักวิชาการ นพ.ธนะพงษ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน เสนอทางออกสำหรับเรื่องนี้ โดยให้ชุมชนจัดหาพื้นที่ส่วนกลางเพื่อมาตากข้าว เช่น ลานในวัด โรงเรียน หรือพื้นที่โล่งในชุมชน แต่กรณีจำเป็นต้องใช้พื้นที่ถนนก็ต้องเลือกเส้นทางที่สามารถปิดกั้นได้ชั่วคราว โดยทำสัญลักษณ์เตือน เช่น ป้ายเตือน กรวยสะท้อนแสง เพื่อให้รถลดความเร็วลง และหลีกเลี่ยงเส้นทางที่มีการตากข้าว